top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนSathit Jittanupat

Which numbers will you tell ?



ดูรูปแล้วผมบอกกับตัวเองว่า “ทีม” ที่เห็นมันก็ประมาณนี้แหละ..


จอโน้ตบุ๊คเบื้องหน้าแสดงดาต้าเบสที่ลงบัญชี เป็นการทดสอบระบบล็อตแรก 30 กิจการที่ทำคู่ขนานกับสำนักงานบัญชี ในทางเทคนิคมีรายละเอียดและกระบวนการเบื้องหลังที่ถูกตีความใหม่และปรับเปลี่ยนมากมาย ตลอดเวลาหลายเดือนที่ผมรู้สึกว่าเป็นโอกาสสำคัญได้พิสูจน์สิ่งที่เคยคิดฝันไว้จริง ๆ

จากเดือนแรกที่สับสนอลหม่าน แล้วค่อยดีขึ้นในเดือนต่อมา เดือนนี้ตัวเลขสถิติที่เฝ้าดูอยู่ยืนยันให้เห็นว่าทำได้ เป็นชัยชนะเล็ก ๆ เมื่อผ่านเป้าหมายด่านแรกได้

ก่อนที่จะมุ่งสู่ด่านต่อไป ผมคิดว่ามีเรื่องที่ควรกระทำก่อน คือ การพาผู้ร่วมทางที่รับรู้อยู่ห่าง ๆ ตั้งแต่ยังไม่เห็นอะไรที่จับต้องได้ มาเป็นพยานรับรู้ความคืบหน้านี้

ดูเหมือนไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมาก มีเรื่องราวมากมายที่สามารถหยิบยกมาเล่า แต่การที่เพิ่งได้ร่วมงานกับทีมแปลกแต่ยอดเยี่ยม ทุกคนแตกต่าง มีพื้นฐาน ประสบการณ์และทักษะไม่เหมือนกัน แล้วช่วยกันพาผ่านด่านนี้มาได้ หลายครั้งที่คำศัพท์ทางเทคนิคที่คิดว่าเป็นคำสามัญ กลับเป็นอะไรที่ยากจะเข้าใจสำหรับคนที่มาจากต่างสาย ทำให้ตระหนัก จนมีคำถามในใจ "เรื่องที่เราอยากเล่า" กับ "เรื่องที่เขาอยากฟัง" เหมือนกันหรือไม่ ?

คำตอบในใจบอกว่า “ไม่เหมือน” หากจะเลือกเล่าเรื่องให้เขาฟัง ก็จะนำสู่คำถามต่อไปว่า แล้วเรื่องอย่างไหน ที่เขาฟังเข้าใจ ?


ถึงคุณจะสตรีมมิ่งได้ระดับ 4K แต่ถ้าอีกฝั่งไม่สามารถรับได้ ก็ไม่มีประโยชน์

ย้อนไปก่อนหน้านั้น ผมพยายามออกแบบโมเดลข้อมูลใหม่ เพื่อส่งมอบให้ผู้ร่วมงานที่ทำ Dashboard ความยากอยู่ที่ฝั่ง Dashboard เองก็ไม่ได้มีภาพชัดเจนว่าจะนำเสนอเรื่องอะไรบ้าง ต้องดูว่าข้อมูลที่ได้รับมามีแง่มุมไหนเอามาใช้ได้บ้าง สรุปสั้น ๆ ว่าลองส่งมาให้ดูก่อน ต่างฝ่ายต่างมีภาพเบลอ ๆ กันทั้งคู่

มิติของข้อมูลที่ผมใช้ดูความคืบหน้าของงาน มีทั้งตัวเลขรายวัน รายชั่วโมง แยกตามผู้ใช้ หรือแยกตามชุดข้อมูล แต่นั่นเป็นรายละเอียดยิบย่อย สำหรับใช้เจาะลึกในระดับ operation จึงเริ่มจากตั้งคำถามว่า “สำหรับคนออกแบบ Dashboard ตัวเลขแบบไหนที่ใช้เล่าเรื่องได้ ?” ผมเพิ่งได้ยินเรื่อง โอมากาเสะ การทานอาหารที่ให้เชฟเป็นผู้ตัดสินใจ ในความเข้าใจของผม นอกจากสามารถพลิกแพลงการปรุงอาหารแล้ว เชฟจะต้องมีทักษะอ่านคนได้ และเล่าเรื่องเป็น ทำให้ผู้ทานรับรู้ถึงคุณค่าของการตัดสินใจของเชฟ

ทำข้อมูลโมเดลข้อมูลเวอร์ชั่นแรกออกมา เป็นโอมากาเสะเช่นกัน แม้จะตามใจคนทำ แต่ก็ต้องเป็นการคัดสรรโดยคิดถึงผู้นำไปใช้ เริ่มจากพยายามคาดเดาว่า Dashboard จะออกมาแบบไหนได้บ้าง หลังจากโมเดลออกมาได้แล้ว จึงเพิ่มเติมเรื่องเล่าที่มาที่ไปของตัวเลขแต่ละมิติ บอกเหตุผลที่เลือกเก็บตัวเลขเหล่านั้นมาให้

นอกจากที่มาของตัวเลขแต่ละตัว ผมจึงเล่าเพื่อสื่อสารให้เข้าใจเจตนา


 

เราไม่อาจตั้งชื่อหรือชี้ให้คนเห็นดาวทุกดวงบนท้องฟ้า วิธีที่ให้คนมองเห็นภาพอย่างที่เราตั้งใจ คือ ชี้ให้เห็นดาวดวงสำคัญที่สว่างที่สุด ลากเส้นความสัมพันธ์ระหว่างดาวสำคัญเหล่านั้นให้กลายเป็นกลุ่มดาว เมื่อทุกคนมองท้องฟ้า ก็จะเห็นกลุ่มดาวสำคัญที่เป็นจุดสังเกต กับดาวอื่นที่เหลือ

เมื่อต้องการเล่าเรื่อง จำนวนรถสีขาวที่วิ่งผ่านสี่แยก การออกแบบที่ประหยัดสามารถใช้ sensor นับรถเพียงแค่ 2 ตัว คือ นับรถทั้งหมด กับ นับเฉพาะรถสีขาว ซึ่งเพียงพอที่จะเล่า มิติที่เปรียบเทียบตัวเลขระหว่าง รถสีขาว กับ รถสีอื่นที่เหลือ

ในอนาคตอาจพบว่า นับรถสีขาวอย่างเดียวไม่เพียงพอ อยากรู้จำนวนรถสีแดงด้วย ก็สามารถเพิ่ม sensor นับรถสีแดง ก็จะกลายเป็นสถิติ รถสีขาว, รถสีแดง และรถสีอื่นที่เหลือ (ได้จาก จำนวนรถทั้งหมด ลบด้วย รถสีขาว กับ รถสีแดง)

ถ้าถามว่าอะไรเป็นจุดตัดสินใจว่า ควรจะนับมิติไหนบ้าง พื้นฐานเลยคือ ดาวดวงที่สว่างเห็นชัด อะไรที่เป็น majority มีจำนวนมากกว่าจนสังเกตเห็นได้ ต่อมาเมื่อเราเข้าใจระบบ ก็จะดูว่าอะไรบ้างที่เป็น impact มีผลกระทบหากเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าไม่ค่อยเกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดขึ้นมีผลกระทบสูง ก็ต้องเฝ้าดูแยกมันออกมาจากพวกอื่น ๆ ที่เหลือ สุดท้ายก็คือ ตัวเลขอะไรที่ผู้ใช้สนใจ และไม่สามารถถอดหาจากมิติของตัวนับที่มีอยู่แล้วได้ ก็ต้องเพิ่มตัวนับ

 

ผมคิดถึงคำพูดประโยคหนึ่ง “ความเร็วการเดินทัพวัดกันที่คนสุดท้าย” ในทีมที่ต้องพึ่งพาคนทักษะต่างกัน จะพัฒนาไปได้เร็วเท่าที่คนในทีมจะเข้าใจเรื่องราวตรงกัน

“อาหารที่ถูกปาก”, “ตัวเลขที่อยากใช้”, “เรื่องที่อยากฟัง” ล้วนต้องอาศัยการอ่านคน เริ่มด้วยทัศนะย้ายจากตัวเองไปคิดคำนึงถึงผู้อื่น ไม่ว่าผลลัพธ์ที่ออกมาผิดถูกอย่างไร แต่เมื่อตระหนักแล้วว่า ต้องพยายามทำความเข้าใจผู้อื่น ทุกครั้งก็จะเป็นการสะสมความเข้าใจ ที่นับวันจะทำให้เข้าใกล้เป้าหมายยิ่งขึ้น

ดู 1 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page