top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนSathit Jittanupat

When continuous change becomes the new normal


บุคคลากรไอทีผู้หนึ่งเคยตั้งข้อสังเกตว่า "ความสำคัญของงานดูแลให้เป็นปกติมักจะไม่ถูกสังเกตเห็น จนกระทั่งเกิดความผิดปกติ"


อาจไม่ใช่แค่งานไอที แต่ในทุกแวดวงจะมีความรับผิดชอบอำนวยความปกติที่ถูกละเลย


ในช่วงปีโรคระบาดโควิด เราได้มีประสบการณ์ตรงกับการล่มสลายของการดำเนินชีวิตปกติ ความผิดปกติทำให้สังเกตเห็นคุณค่าของผู้คนและองค์ประกอบรอบตัวที่เป็นส่วนหนึ่งของความปกติ


ขยะจากครัวเรือนมากมายตกค้างไม่ถูกจัดเก็บ ทำให้รู้สึกขอบคุณผู้เก็บขยะที่ไม่เคยหยุดพักในช่วงเวลาที่ผ่านมา พืชผักอาหารสดไม่สามารถลำเลียงจากแห่งผลิตได้เหมือนเดิม ทำให้ตระหนักถึงผู้ขนส่งสินค้าที่อยู่เบื้องหลังความปกติ


บทความในเว็บไซต์ของผู้พัฒนาโปรแกรมระบบธุรกิจรายหนึ่ง เปรียบเทียบระหว่างซอฟต์แวร์ที่ซื้อสิทธิ์มาติดตั้งใช้งาน (on-premises license) กับเช่าใช้ (cloud subscription) ข้อดี-ข้อเสียที่ถูกหยิบยกให้ผู้ประกอบการพิจารณาคือ ค่าใช้จ่ายตอนเริ่มต้น (upfront costs) กับค่าใช้จ่ายดูแลให้ระบบใช้งานได้ต่อไป (ongoing costs)


การดูแลให้ระบบใช้งานได้ต่อไป เป็นความปกติที่มักถูกมองข้าม หรือประเมินความสำคัญต่ำกว่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และที่ประเมินยากกว่าคือ ความเสียหายที่เกิดจากความล้าหลัง จนกระทั่งกลายเป็นเสียโอกาส หรือสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน


ความเป็นเจ้าของ

นิยามของความเป็นเจ้าของตั้งแต่หลายศตวรรษก่อน เมื่อมนุษย์เริ่มทำเกษตรและเก็บสะสม แบ่งแยกผลผลิตที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงตนเองกับของผู้อื่น สร้างกลไกการครอบครองและมาตรวัดความมั่งคั่ง


ก่อนศตวรรษที่ 20 นิยามของความเป็นเจ้าของนั้นชัดเจนตรงไปตรงมา หมายถึงอะไรที่คุณครอบครองและใช้ประโยชน์ เมื่อต้องการโอนสิทธิการครอบครองก็ต้องทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินระหว่างกัน 


ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ในยุคแรกมักถูกมองว่าเป็นทรัพย์สินที่ครอบครองได้ เพราะอายุการใช้งานที่ยาวนานนับสิบปี โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลง


หยิบยืมอนาคต

ทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง เช่น บ้านหรือที่ดิน การตกลงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายโดยแลกเปลี่ยนด้วยมูลค่าปัจจุบันเกิดขึ้นได้ยากขึ้น เมื่อเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม มนุษย์เชื่อมั่นตัวเองมากขึ้นควบคุมผลผลิตได้มากขึ้น ลดความเสี่ยงที่พึ่งพาธรรมชาติในยุคสังคมเกษตร 


เป็นยุคสมัยที่เรามองอนาคตเป็นเส้นตรง เชื่อว่าสามารถทำนายได้ ระบบการเงินมีมิติเวลาเพิ่มเข้ามา การกู้ยืม และสินเชื่อจึงเกิดขึ้น การทำงานในภาคอุตสาหกรรมเป็นความมั่นคงจนสามารถหยิบยืมดอกผลจากหยาดเหงื่อแรงกายในอนาคตเพื่อครอบครองทรัพย์สินมูลค่าสูงก่อนได้


แนวคิดการออกแบบระบบในยุคอุตสาหกรรม อาศัยความได้เปรียบจากการผลิตปริมาณมาก หยิบยืมกำลังซื้อในอนาคต เกิดจากความเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงในอนาคตเป็นเส้นตรง (linear) สามารถทำนายและวางแผนล่วงหน้าได้เช่นกัน


โลกที่เชื่อมโยง

ประสิทธิภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม สะท้อนให้เห็นด้วยคุณภาพสินค้าที่ดีขึ้นขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง เมื่อกำลังผลิตล้นเกินทำให้จำเป็นต้องขยายตลาดไปสู่พรมแดนใหม่ ผลักดันการค้าเสรีที่เชื่อมโยงโลกทั้งโลกเข้าด้วยกัน


ในด้าน demand คือการขยายตลาดมีผู้ซื้อมากขึ้น ในด้าน supply คือการขยายกำลังการผลิตไปภูมิภาคที่ต้นทุนต่ำกว่า ผลกระทบของการเชื่อมโยงถึงกัน ทำให้เกิดระบบ supply chain ที่ซับซ้อน มีตัวแปรที่พึ่งพิงต่อกันมากขึ้น ขณะเดียวกันก่อให้เกิดความเสี่ยงของเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่กระทบถึงกันได้ง่ายขึ้น 


วิกฤติของประเทศหนึ่งย่อมส่งต่อแรงกระเพิ่มกระทบไปทั่วโลก


VUCA world

ก่อนหน้านั้นเราคิดว่าอนาคตเปลี่ยนแปลงเป็นเส้นตรงจนสามารถทำนายได้ อาจเป็นเส้นความชันที่เพิ่งไต่ระดับในช่วงเริ่มต้น จนกระทั่งโลกเชื่อมโยงกันมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงจึงถูกขยายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย


กฎของมัวร์ (Moore's law) บอกว่า ปริมาณของทรานซิสเตอร์บนวงจรรวม โดยจะเพิ่มเป็นเท่าตัวประมาณทุก ๆ สองปี


VUCA เป็นคำย่อที่มาจากคำ 4 คำ คือ 


  • V-Volatility ความผันผวน

  • U-Uncertainty ความไม่แน่นอน 

  • C-Complexity ความซับซ้อน 

  • A-Ambiguity ความคลุมเครือ


โลกที่อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงกับสกุลเงินสำคัญอื่นซึ่งต่างก็ปรับเปลี่ยนเพื่อให้เศรษฐกิจของตัวเองอยู่รอด อัตราดอกเบี้ยทำให้เกิดแรงผลักหรือดึงดูดเงินสกุลหนึ่งย้ายไปเป็นอีกสกุลหนึ่ง มีผลทำให้อัตราแลกเปลี่ยนไม่คงที่ หากเป็นเช่นนั้นเราจะมีนิยามของ "ความปกติ" เป็นอย่างไร ย่อมไม่ใช่ความปกติตอนที่ใช้ค่าเงินอ้างอิงกับทองคำเหมือนกันทุกสกุลเงิน การพยายามฝืนทรงตัวนิ่งบนเรือที่โคลง ผลลัพธ์เป็นเช่นวิกฤติต้มยำกุ้งที่ประเทศไทยพยายามคงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ขณะที่โลกข้างนอกเปลี่ยนแปลง


แม้แต่งานในยุคนี้ก็ไม่มั่นคงเหมือนเดิมแล้ว การใช้เงินจากอนาคตด้วยการเป็นหนี้ สำหรับคนส่วนใหญ่กลายเป็นหลุมลึกที่ไม่วันปีนกลับขึ้นมาได้


ในภาคธุรกิจผู้บริหารมีความมั่นใจเพียงใด ที่จะคาดเดาอนาคตจนกำหนดเป้าหมายล่วงหน้ายาวนานระดับปีได้เหมือนสมัยก่อน


ความปกติ

จากมุมมองของคนทำระบบไอที เราจำเป็นต้องตั้งคำถามว่า "ความปกติคืออะไร?" เช่นเดียวกัน 


ถ้าความเชื่อว่า "ปกติ" หมายถึงทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ใช้งานได้เหมือนเดิมไปเรื่อยๆ เหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อน ขณะที่โลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็ว อาจทำให้ต้องใช้พลังงานมหาศาลเพื่อหยัดยืนต้านกระแส


นิยามของความปกติไม่ตรงกัน ทำให้นโนบายการดูแลความปกติผิดเพี้ยนไปด้วย 


ถ้าเชื่อว่า "เหมือนเดิมคือความปกติ" ก็จะลงทุนแบบซ่อมบำรุง ใช้ไม่ได้ก็แก้ไขให้ใช้ได้เหมือนเดิมด้วยวิธีเดิม


ถ้าเชื่อว่า "เปลี่ยนแปลงคือความปกติ" ก็จะลงทุนแบบพัฒนาปรับปรุงไปเรื่อยๆ ค้นหาวิธีใหม่ไม่จบสิ้น 


ความล้าสมัยเป็นความเสี่ยงหรือไม่?


เรามีทั้งผู้ที่เชื่อว่าระบบที่ดี เหมือนต้นไม้ใหญ่ต้องพยายามออกแบบให้แข็งแกร่งยืนหยัดผ่านวันเวลาไม่มีวันล่มสลาย และผู้ที่เชื่อว่าระบบที่ดีเหมือนหญ้าแพรกมีโอกาสล่มได้แต่ไม่ตายต้องฟื้นกลับมาใช้งานได้เร็วที่สุด


สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างที่ในโลกการทำงานของผู้ใช้ที่ทำงานตามปกติ โดยเฉพาะยุคสมัยของอินเตอร์เน็ต เบื้องหลังคือ การอัพเดทแพทช์ต่างๆ เพื่ออุดช่องโหว่ความปลอดภัยตลอดเวลา 


บางครั้งก็ง่าย บางครั้งก็ยาก การอัพเดทเวอร์ชั่นของระบบปฏิบัติการ, ดาต้าเบส, ภาษาโปรแกรมที่ใช้รวมไปถึงเฟรมเวิร์กและแพคเกจที่ประกอบอยู่ในโปรแกรมแต่ละครั้ง หากเวอร์ชั่นใหม่เกิดไม่เข้ากันกับโค้ดที่เคยใช้ได้ มีราคาที่คนไอทีต้องแบกรับเสมอ


ความเสี่ยงขององค์กรส่วนใหญ่อาจอยู่ที่ไม่เคยให้นโยบายชัดเจนว่าจะเลือกความปกติแบบไหน กี่ชั่วโมงหรือกี่วันเป็นความเสียหายที่ยอมรับได้หากระบบล่มจนไม่สามารถผลิต หรือขายสินค้า หรือจัดส่งสินค้า หรือจะฝากโชคชะตาไว้กับดุลยพินิจของผู้ดูแลระบบ


ถ้าดวงอาทิตย์ไม่ส่องแสงจะเกิดอะไรขึ้น?


คนแบบไหนที่ตั้งคำถามกับ 1% ของความเป็นไปได้ อกหัก, เพ้อฝัน, มองโลกแง่ร้าย หรือคิดถึง black swan


แทมโบรา หรือ ตัมโบรา (Tambora) คือ ภูเขาไฟที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ประเทศอินโดนีเซีย และเคยเกิดเป็นภูเขาไฟระเบิดแบบ Super Volcano ส่งเสียงแรงระเบิดไปไกลว่า 850 กิโลเมตร ความรุนแรงเท่ากับระเบิดนิวเคลียร์ 6,000 ลูก โดยเถ้าถ่านกระจายขึ้นบนท้องฟ้าครอบคลุมหลายร้อยกิโลเมตร ส่งผลให้สภาพอากาศโลกมีการเปลี่ยนแปลงจากเขม่าการระเบิดที่ปกคลุมท้องฟ้าจนมืดฟ้ามัวดิน ปิดกั้นแสงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลก ราว 20% ทำให้อุณหภูมิของโลก ลดลงถึง 3 องศา จนปีต่อมา คือ ค.ศ. 1816 กลายเป็น "ปีที่ไร้ฤดูร้อน" ในแถบยุโรปและอเมริกาเหนือ (https://www.thairath.co.th/scoop/flashback/2291546)

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Commentaires


Post: Blog2_Post
bottom of page