top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนSathit Jittanupat

What is "Resource Planning" for?

อัปเดตเมื่อ 3 ธ.ค. 2566



ทักษะที่ทำให้เราหาเงินล้าน อาจทำให้เราหาเงินได้ 10 ล้าน …แต่มันคนละทักษะกับการหาเงินให้ได้ 100 ล้าน’ …หาเงินล้านถึงสิบล้านใช้ เวลาและตัวเรา …ส่วนหาเงินหลักร้อยล้าน ต้องเริ่มใช้มากกว่าตัวเรา คือ ต้องใช้ สินทรัพย์แทน #ภาววิทย์กลิ่นประทุม

สเตตัสเก่าของคุณภาววิทย์ที่ผมบันทึกเก็บไว้ ตอนนั้นเป็นความรู้สึกเห็นพ้องตามความหมายอย่างที่มันเป็น


มาวันนี้ผมคิดถึงแก่นของความหมายในอีกมุมมองหนึ่ง เชื่อมโยงกับเรื่องราวที่ประสบกับตัวเอง ถ้าไม่ใช่เพียงความมั่งคั่งส่วนตัว สินทรัพย์อาจหมายถึงทรัพยากร (resource) ที่องค์กรมี โดยเฉพาะคนและข้อมูล

 

งานโปรแกรม ERP ที่ผมดูแล ทำให้ได้เห็นสไตล์การทำงานของกิจการต่าง ๆ ได้เรียนรู้ศิลปะการบริหารที่ไม่มีในตำรา มีโอกาสได้เก็บเกี่ยววิธีคิดของผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการ บุคคลระดับบริหาร ไปจนถึงมุมมองของบุคคลระดับหัวหน้าและผู้จัดการ


เปรียบเทียบเหมือนการทำทีมฟุตบอล แข่งกันเองในโรงเรียน ระดับตำบล จังหวัด ไปจนถึงลีกอาชีพ วิธีคิดและวิธีการเพื่อบรรลุเป้าหมายย่อมแตกต่างกัน


อะไรคือข้อแตกต่างระหว่างกิจการขนาดเล็กกับใหญ่ หลายครั้งที่เราคุยกันเองระหว่างการออกแบบระบบ เป็นข้อสังเกตลอย ๆ ที่ไม่ได้คิดหาเหตุผลมารองรับจริงจัง รู้สึกว่ากิจการบางแห่งยังเติบโตได้อีก ขณะที่บางแห่งไม่น่าจะเติบโตไกลกว่านี้มาก แรก ๆ เหมือนกับวิจารณ์กันไปเรื่อยเปื่อย แต่มีสิ่งหนึ่งที่พอชี้วัดได้ ..วิธีที่ผู้คนในกิจการนั้น ๆ ใช้โปรแกรม


ทักษะของการดำเนินกิจการให้เติบโตถึง 10 ล้าน อาจใช้ความสามารถของตัวเองเป็นหลัก แรงงาน เวลา ความรู้ความชำนาญ แต่เพื่อทำให้เป็นกิจการ 100 ล้าน ต้องพึ่งพาทรัพยากรจากผู้อื่น เปลี่ยนจากทำเองรู้เองเป็นบริหารจัดการ ระบบที่ออกแบบให้คนอื่นช่วยทำได้สำคัญกว่าเทคนิคสุดยอดที่ทำเป็นอยู่เพียงคนเดียว


ERP ย่อมาจาก Enterprise Resource Planning วัตถุประสงค์เพื่อช่วยวางแผนจัดการทรัพยากรในองค์กร ที่ผ่านมาในมุมมองของคนทำโปรแกรมกลับไม่เคยกระจ่างว่าเป็นอย่างไรกันแน่ เพราะสัดส่วนที่มากกว่าของกิจการที่ใช้โปรแกรมนี้ เป็นกลุ่มที่ใช้ควบคุมมากกว่าวางแผน จนทำให้หลงไปให้คุณค่ากับการออกแบบกระบวนการทำงาน เพราะเป็นสิ่งที่วัดผลได้ง่ายกว่า


ขณะที่ Resource Planning จริง ๆ แล้วสิ่งที่เป็น output จากโปรแกรมอาจเป็นเพียงตัวช่วย ผลสำเร็จอยู่ที่ผู้ตัดสินใจ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่เงื่อนไขทั้งสองไม่พอดีกัน บางครั้งผู้บริหารที่มีความสามารถ แต่ความรู้ความเข้าใจของทีมพัฒนาไม่เท่าทัน ก็ไม่สามารถออกแบบหรือนำเสนอออกมาอย่างที่คาดหวัง ในทางกลับกันบางครั้งโปรแกรมจะเตรียมออกแบบมาแล้ว แต่ไม่สามารถนำเสนอให้ผู้บริหารเห็นประโยชน์ของมัน


โปรแกรมส่วนใหญ่ในกิจการ จึงเป็นการใช้ประโยชน์ในระดับพื้นฐาน ควบคุมกระบวนการทำงานที่ซ้ำซากไม่ให้ผิดพลาด คุณค่าอยู่ที่ช่วยงานประจำของผู้จัดการและพนักงาน ไม่สามารถส่งมอบนัยยะสำคัญไปถึงผู้นำ


 

"ซีล" คือ ชิ้นส่วนปิดผนึกป้องกันการรั่วซึมในส่วนข้อต่อของกลไกเคลื่อนไหวต่าง ๆ เช่น ลูกสูบ สำหรับผู้ที่ไม่ชำนาญจะเห็นว่าซีลดูเหมือนกันหมด ขนาดก็ใกล้เคียงกัน เพราะว่าเป็นชิ้นส่วนที่ต้องมีความแม่นยำสูงระดับมิลลิเมตร หากคลาดเคลื่อนก็ไม่สามารถใช้ปิดผนึกกันรั่วซึม การหยิบสินค้าจากสต็อคจึงต้องอาศัยความชำนาญ ปัญหาส่วนหนึ่งของผู้จำหน่ายซีลเกิดจากหยิบสินค้าผิดพลาด


ผู้จัดการที่ดูแลได้เล่าถึงปัญหาดังกล่าว มีรายงานสรุปตัวเลขความผิดพลาดที่ลูกค้าแจ้งเข้ามา หาทางออกแบบระบบหยิบสินค้าให้ผิดพลาดน้อยลง โดยใช้ QR code ตรวจสอบสินค้าว่าตรงกับ order ที่สั่งหยิบหรือไม่


หลังจากออกแบบและทดสอบมาสักพักหนึ่ง หัวหน้าทีมของเรา ได้มีโอกาสนำเสนอและปรึกษาเพื่อขอแนวทางจากผู้บริหาร ไม่แน่ใจความคุ้มค่าในการเปลี่ยนไปใช้ระบบใหม่ เพราะมีขั้นตอนทำป้าย QR code ติดที่สินค้าเพิ่มเข้ามา ขณะที่ความผิดพลาดลดลงได้เพียงเล็กน้อย


ผู้บริหารกลับถามว่า "ระบบนี้พร้อมเอาไปเซ็ตใช้กับสาขาอื่นหรือไม่" เมื่อฟังคำบอกเล่าเพิ่มเติม จึงเข้าใจเจตนาในอีกมุมมอง ระบบที่ลดการพึ่งพาความชำนาญของผู้หยิบสินค้า จะเป็นอย่างไรหากพนักงานคนใหม่ใช้เวลาไม่นานก็สามารถหยิบสินค้าได้ไม่ต่างกับคนที่ทำมาสิบปี ส่วนเรื่องควบคุมอัตราความผิดพลาดเป็นงานที่ผู้จัดการต้องดูแลอยู่แล้ว


ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัวเอง ผมนึกถึงตอนที่ออกแบบโปรแกรมนี้ ไม่ได้คิดแค่ทำให้ผู้ใช้รายแรก แต่คิดว่าหากมีผู้ใช้รายที่สอง สาม สี่ เมื่อมีคำขอปรับโปรแกรมให้เข้ากับระบบงาน หรือรายงานต่าง ๆ ที่ร้องขอมา ทำยังไงให้ทีมที่ดูแลลูกค้าสามารถทำส่วนนี้ได้เลย โดยไม่ต้องเก็บข้อมูลกลับมาอธิบายให้แก้โปรแกรมอีก ยิ่งเวลาผ่านไปเจอผู้ใช้โปรแกรมจำนวนมาก ไม่ว่าจะมีงานปรับโปรแกรมให้ใช้กับธุรกิจประเภทต่าง ๆ มากแค่ไหน ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาโปรแกรมเมอร์เลย


 


Ray Dalio บอกว่า "orchestrate rather than do"


ผมรู้สึกเชื่อมโยงกับคำที่คุณภาววิทย์บอกว่า หาเงินหลักร้อยล้าน ต้องเริ่มใช้มากกว่าตัวเรา คือ ต้องใช้ สินทรัพย์แทน


ทำธุรกิจหลักร้อยล้าน ก็ต้องใช้ resource ที่ไม่ใช่แค่ตัวเรา นั่นเป็นเหตุผลของการรู้จักใช้เครื่องมือช่วยอย่างโปรแกรม ERP แบบจริงจัง ที่ไม่ใช่แค่เปิดบิล ปิดงบ ควบคุมกระบวนการทำงานประจำวัน แต่เป็นการใช้ประโยชน์ในแง่กลยุทธ บางทีอาจต้องคิดเผื่อถึงวันที่ทุกอย่างล้นเกินกว่าสองมือของเราจะทำไหว รายละเอียดมากมายเกินกว่าที่จะรับรู้และตัดสินใจด้วยตัวคนเดียว


Resource Planning ในความหมายที่ไกลกว่านั้น ขึ้นอยู่กับทัศนะที่หลากหลาย แม้กระทั่งตัวผมเองคำตอบเมื่อสิบปีที่แล้วกับตอนนี้ก็ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับเจ้าของกิจการมีเป้าหมายอย่างไร ขึ้นอยู่กับผู้พัฒนาระบบสามารถเข้าใจบทบาทของผู้คนในองค์กร แล้วสร้างขึ้นมาได้ตามนโยบายหรือไม่ บางทีโอกาสพิสูจน์คุณค่าในระดับสูงสุดของมัน ขึ้นอยู่ว่าเงื่อนไขทั้งหลายได้มาเจอกันพอดีหรือไม่ ผู้บริหารที่เข้าใจว่า 100 ล้านควรเล่นเกมอย่างไร ผู้พัฒนาระบบที่สามารถคิดตามทัน หากจังหวะทางธุรกิจมาสอดรับพอดีในเวลาที่พร้อม การข้ามไปสู่ลีกใหม่ของธุรกิจย่อมเป็นความท้าทาย


ดู 2 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page