กรมสรรพากรมีบริการ TIN Service (https://www.rd.go.th/42533.html) ให้โปรแกรมภายนอกสามารถส่งคำสั่งขอค้นข้อมูลผู้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูลผู้ประกอบการได้
การประยุกต์ใช้ประโยชน์ตรงนี้มีได้หลากหลาย ธุรกิจค้าปลีกอย่างซูเปอร์มาร์เก็ตที่ต้องออกใบกำกับภาษีฉบับเต็มเมื่อลูกค้าร้องขอ ไม่จำเป็นต้องให้พนักงานบันทึกชื่อที่อยู่เก็บไว้ในระบบฐานข้อมูล เพียงใช้เลขผู้เสียภาษี ไปดึงชื่อที่อยู่ที่จดทะเบียนจาก TIN Service มาใช้ เราสามารถออกแบบบริการออกใบกำกับภาษีที่ลดขั้นตอน แค่ใส่เลขที่ใบกำกับภาษีฉบับย่อ และเลขผู้เสียภาษีของตนเอง โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลชื่อที่อยู่
ในงานบัญชีสามารถใช้ตรวจใบกำกับภาษีซื้อ ว่าออกโดยผู้ประกอบการที่จดทะเบียนถูกต้องหรือไม่ ซึ่งบางครั้งฝ่ายบัญชีอาจพบเจอใบกำกับภาษีแปลก ๆ จากพนักงานเอามาเบิกเงินสดย่อย
นี่คือดาต้าเบสผู้ประกอบการในประเทศไทยที่ใหญ่ที่สุดและเชื่อถือได้ อย่างน้อยที่สุดในแง่ UX/UI การป้อนข้อมูลในโปรแกรม สามารถนำมาใช้ autofill ให้โปรแกรมแนะนำชื่อที่อยู่มาใส่ให้อัตโนมัติ ก็ช่วยอำนวยความสะดวกและลดความผิดพลาดจากป้อนข้อมูลทั้งหมดเอง
งานบันทึกบัญชีจากบิลต่าง ๆ โดยเฉพาะบิลค่าใช้จ่าย โปรแกรมทั่วไปจะออกแบบให้เก็บข้อมูลของผู้ขายไว้ในระบบของตนเองเพื่อดึงมาใช้ หากโปรแกรมสามารถหยิบยืมข้อมูลจากสรรพากรมาใช้ได้ก็จะลดขั้นตอนส่วนนี้ไปได้
งานของสำนักงานบัญชีที่ต้องดูแลกิจการจำนวนมาก ก็สามารถออกแบบให้ใช้ประโยชน์ได้ในลักษณะเดียวกัน จากใบกำกับภาษีหนึ่งใบ การป้อนข้อมูลที่น้อยที่สุดเพื่อให้ได้เป็นข้อมูลภาษีซื้อ ได้แก่ วันที่, เลขที่ของใบกำกับภาษี, เลขผู้เสียภาษี และ จำนวนเงินสุทธิ
โดยไม่ต้องเสียเวลาป้อนชื่อ เลขผู้เสียภาษีใช้หาชื่อผู้ประกอบการมาใส่ให้อัตโนมัติ แถมยังได้ตรวจสอบตามเงื่อนไขภาษีซื้อ จะต้องเป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ประกอบการจดทะเบียน ดังนั้นหากไม่สามารถหาชื่อเจอ จึงมีโอกาสที่เป็นใบกำกับภาษีที่มีปัญหา
การบันทึกภาษีขายของสำนักงานบัญชี ก็เป็นงานอีกส่วนหนึ่ง ที่การป้อนข้อมูลเฉพาะเลขผู้เสียภาษี โดยไม่ต้องสะกดชื่อผู้ประกอบการที่เป็นตัวอักษร ช่วยเพิ่มความเร็วและความถูกต้องได้มาก การขึ้นต้นกิจการใหม่ก็สามารถบันทึกรายการด้วยเลขผู้เสียภาษีได้ทันที โดยไม่ต้องสร้างข้อมูลลูกค้าก่อน
แต่ TIN Service ก็มีข้อจำกัด เนื่องจากเป็นบริการ Open API ใคร ๆ ก็สามารถเขียนโปรแกรมเรียกใช้บริการนี้ได้ ไม่มีรับประกัน (SLA) ว่าทำงานได้เสถียรในระดับไหน กลายเป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ วันดีคืนดีมีโปรแกรมอื่นเรียกใช้เยอะ ๆ อาจจะช้า หรือหยุดทำงานได้ หากการออกแบบโปรแกรมจำเป็นต้องพึ่งพาความสามารถนี้ ในทางเทคนิคไม่ควรออกแบบให้ต่อตรงเรียกถามข้อมูลตลอดเวลา ทีม Mekhin ที่ดูแล Mongo Lab API อยู่แล้วจึงทำ VAT Lab API ออกมาเพื่อเป็นบริการเสริม
ตัวของ VAT Lab เองทำเป็น REST API ไม่เหมือนกับการติดต่อ TIN Service ที่เป็น WSDL นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เสมือน cache จำข้อมูลที่เคยถามเอาไว้ หากภายหลังมีการถามเลขผู้เสียภาษีเลขเดิม ก็จะเอาข้อมูลจาก cache มาตอบ โดยไม่ต้องติดต่อกับสรรพากรอีก ดังนั้นเมื่อใช้งานนานวันเข้าก็มีข้อมูลสะสมใน cache มากขึ้นเรื่อย ๆ ความจำเป็นที่จะต้องติดต่อตรงกับ TIN Service ก็จะลดลงไป
ปัจจุบัน VAT Lab API ยังอยู่ในระยะทดสอบใช้ในวงจำกัด นำไปประยุกต์ใช้กับงาน 3 ด้านที่สำคัญ ได้แก่งานตรวจรายงานภาษีซื้อ งานเปิดบิลออกใบกำกับภาษี และล่าสุดงานบันทึกภาษีซื้อและขายของสำนักงานบัญชี
ตัวอย่าง Tax ID assistant นอกจากใช้ตรวจสอบเลขผู้เสียภาษีแล้ว เพิ่มเติมด้วยการแยกฟิลด์ให้ตรงกับโปรแกรมบัญชี สามารถ copy & paste เอาไปป้อนใส่ช่องอินพุทต่าง ๆ ของโปรแกรมได้อีกด้วย สามารถทดลองใช้ตาม url ด้านล่างนี้
Tax ID assistant (https://storage.googleapis.com/npd3-cdn/vatlab/test-vatapi.html)
ข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่งอยู่ที่ TIN Service เองมีข้อมูลเฉพาะผู้ประกอบการที่จดทะเบียน ยังมีอีกจำนวนมากที่ไม่อยู่ในระบบ VAT และต้องติดต่อค้าขายด้วย ปัญหาที่พบเจอบ่อยครั้ง อยู่ที่งานบิลลิ่งโดยเฉพาะกิจการค้าปลีก เมื่อต้องเปิดบิลให้กับบุคคลธรรมดา รวมทั้งนิติบุคคลบางแห่ง เช่น หน่วยงานราชการ หรือ กิจการที่เป็นธุรกิจเฉพาะ จึงไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ ดังนั้นฐานข้อมูลมาสเตอร์ที่ใช้ภายในยังคงมีความสำคัญอยู่ จนกว่า VAT Lab สามารถให้บริการครอบคลุมข้อมูลได้กว้างขวางกว่านี้
ในอนาคตการพัฒนาต่อยอดให้กลาย API ฐานข้อมูลกลางให้บริการชื่อที่อยู่ สำหรับงานบิลลิ่ง โดยใช้เลขผู้เสียภาษี สามารถทำได้โดยการเพิ่มแหล่งข้อมูลชั้นที่สองนอกเหนือจากสรรพากร ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมมาเอง เช่น กรณีหน่วยงานราชการ ฯลฯ
โปรแกรมบัญชี หรือ ERP ที่เป็น Cloud จะมีฐานข้อมูลลูกค้าเก็บชื่อที่อยู่ของตนเองอยู่แล้ว หากมี API ที่เชื่อมโยงกันได้ผ่าน VAT Lab ก็จะสามารถตรวจสอบข้อมูลลูกค้าใหม่ที่ไม่อยู่ในระบบได้สะดวกรวดเร็ว นอกจากถามข้อมูลไปใช้แล้ว อาจตั้ง service node ช่วยตอบข้อมูลที่ตัวเองมีได้ด้วย จะกลายเป็นคอมมูนิตี้ที่ช่วยแบ่งปันข้อมูลให้กับ VAT Lab เมื่อหาจากสรรพากรไม่พบ ก็จะส่งเลขผู้เสียภาษีไปถามจาก node ของ ERP เหล่านั้นว่ามีใครรู้จักหรือเคยเปิดบิลให้เลขผู้เสียภาษีนี้บ้าง ถึงตอนนั้นอาจต้องมีกลไกการ vote หรือ validate คำตอบที่รวบรวมได้เพื่อประเมินความแม่นยำ กลายเป็นชื่อที่อยู่ที่ใช้อ้างอิงได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย
ความคิดเห็น