ภาษีมูลค่าเพิ่มและการปัดเศษ
ผู้ใช้โปรแกรมสอบถามถึงการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มว่ามีหลักการอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการขายสินค้าราคารวมภาษี เมื่อใช้เขียนสูตรคำนวณถอดมูลค่าภาษีออกมา บางครั้งได้ตัวเลขมูลค่าสินค้าไม่ตรงกับโปรแกรม
ตัวอย่างที่ส่งมา สมมติรายการให้มีราคา 200 บาทเท่ากันหมด แต่โปรแกรมคำนวณแยกมูลค่าสินค้า และ VAT ออกมา แล้วพบว่าบรรทัดสุดท้ายไม่เท่ากับบรรทัดอื่น
สินค้า A | 200 — มูลค่าสินค้า 186.92 + VAT 13.08
สินค้า B | 200 — มูลค่าสินค้า 186.92 + VAT 13.08
สินค้า C | 200 — มูลค่าสินค้า 186.92 + VAT 13.08
สินค้า D | 200 — มูลค่าสินค้า 186.90 + VAT 13.10
คำสั่งกรมสรรพากร ป.86/2542 หลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษี ระบุเอาไว้ว่า ให้พิจารณาหลังจุดทศนิยมตัวที่สาม ถ้าคำนวณภาษีแล้วมีค่าไม่ถึง 5 ให้ปัดทิ้ง เช่น 6.542 ปัดทิ้งเป็น 6.54 แต่ถ้าคำนวณแล้วมีค่าตั้งแต่ 5 ขึ้นไปให้ปัดขึ้น เช่น 11.775 ปัดขึ้นเป็น 11.78
ดังนั้นการคำนวณมูลค่าภาษีที่ถูกต้องตามตัวอย่างข้างบน ควรได้เท่ากับ 200 x 7 / 107 = 13.084 ปัดทิ้งแล้วได้ 13.08 เหมือนกับ 3 บรรทัดแรก
ลองนึกถึงการจัดทำใบกำกับภาษีเพื่อขายสินค้า 4 รายการ ในความเป็นจริงไม่มีใครแยกคำนวณทีละรายการ แต่จะรวมยอดสุทธิเป็น 800 บาท แล้วค่อยคำนวณมูลค่าภาษี 800 x 7 / 107 = 52.336 ปัดขึ้นเป็น 52.34
แต่การคำนวณภาษีทีละรายการก่อน แล้วรวมทีหลังได้เท่ากับ 52.32 ต่างกัน 0.02
ทั้งสองวิธีใช้สูตร 7/107 และปัดเศษเหมือนกัน สามารถแสดงวิธีคำนวณได้จริง ดังนั้นจึงไม่สามารถตัดสินว่าวิธีใดไม่ถูกต้อง ขึ้นอยู่ว่าจะเลือกใช้วิธีไหน เหตุผลคืออะไร
วิเคราะห์จากเจตนารมณ์ของประกาศฯ ย้อนไปเมื่อปี 2542 ตอนนั้นการเปิดใบกำกับภาษีด้วยคอมพิวเตอร์ยังไม่แพร่หลาย ยังมีผู้ประกอบการที่ต้องเขียนแล้วกดเครื่องคิดเลขคำนวณ การคิดภาษีทีละบรรทัดแล้วเอามารวมทีหลังจึงยากเกินไปในทางปฏิบัติ
จากมุมมองของรายงานภาษีขาย ที่ให้แสดงมูลค่าสินค้าและภาษีที่เป็นยอดรวม ไม่ต้องแจกแจงรายการสินค้า แสดงว่าการตรวจสอบตัวเลขสนใจที่มูลค่ารวมมากกว่า ผลลัพธ์ของการคิดภาษีทีละบรรทัด มีโอกาสถูกตีความว่าเป็นเลขผิดปกติ
สมมติถ้าเอาตัวอย่างข้างต้น ไปถามนักบัญชี ผู้สอบบัญชี คนในกรมสรรพากร หรือทดสอบกับโปรแกรมหลากหลายที่ใช้กันอยู่ คำตอบที่ได้ ช่วยยืนยันเสียงส่วนใหญ่
โปรแกรมนี้ใช้วิธีคำนวณจากยอดรวม นอกจากเหตุผลข้างต้นแล้ว ตัวเลขนี้สามารถเช็คด้วยการเอาเครื่องคิดเลขมาทวน 800 x 7 / 107 มีผลให้งานตรวจสอบ (audit) ทำได้ง่ายกว่าด้วย
แต่การถอดภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อหามูลค่าสินค้าทีละบรรทัด ยังมีความจำเป็นสำหรับการลงบัญชีแยกประเภท ตัวเลขความคลาดเคลื่อนดังกล่าวจึงนำมาสู่ปัญหาของการยันยอดมูลค่าภาษีตามใบกำกับภาษี และพิสูจน์ยอดกับรายงานภาษีขาย
ทีนี้เราลองเปลี่ยนคำว่า มูลค่าสินค้า เป็น Cr รายได้ เพื่อดูว่ารายการสินค้าลงบัญชีอย่างไร สมมติว่าสินค้าแต่ละตัวบันทึกรายได้ต่างรหัสกัน
สินค้า A | 200 — Cr รายได้ A 186.92 + VAT 13.08
สินค้า B | 200 — Cr รายได้ B 186.92 + VAT 13.08
สินค้า C | 200 — Cr รายได้ C 186.92 + VAT 13.08
สินค้า D | 200 — Cr รายได้ D 186.92(adj -0.02) + VAT 13.08 (adj +0.02)
การปรับปรุงในบรรทัดสุดท้าย เพื่อทำให้ยอดที่สรุปในบัญชีแยกประเภท ตรงกับยอดที่คำนวณในใบกำกับภาษี และรายงานภาษีขายนั่นเอง
วิธีคำนวณภาษีและการปัดเศษไม่ได้ผิดพลาด แต่ต้องรับมือกับความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้น เป็นการออกแบบเฉพาะของโปรแกรม และไม่ได้หมายความว่ามีเพียงวิธีเดียวที่ถูกต้อง
เมื่อใดที่มีการปัดเศษเมื่อนั้นย่อมมีโอกาสเกิดความคลาดเคลื่อน การปัดก่อนรวมหรือรวมก่อนปัดอาจได้ผลลัพธ์ไม่ตรงกัน ไม่ควรยึดมั่นความถูกต้องเฉพาะจากมุมใดมุมหนึ่ง พิจารณาบริบทการใช้งานจากแง่มุมอื่นประกอบ แล้วหาทางประนีประนอมที่นำไปสู่แนวทางที่เหมาะสม
Apr, 2022
Sathit J.
บทความถัดไป VAT and another rounding
Comments