top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนSathit Jittanupat

VAT and another rounding



ภาษีและการปัดเศษอีกกรณี


เรื่องนี้ยังไม่มีใครถาม แต่อยากเอามาเล่าต่อจากการปัดเศษและคำนวณภาษีครั้งก่อน ยังมีกรณีพิเศษที่จำเป็นต้องออกใบกำกับภาษีโดยไม่ควรคำนวณปัดเศษที่ยอดรวม


เมื่อหลายปีที่แล้ว มีกิจการแห่งหนึ่งได้รับใบกำกับภาษีที่ปัดเศษไม่ตรงกับการคำนวณจากโปรแกรม และไม่ใช่ใบกำกับภาษีของกรมศุลกากร ที่ได้รับการยกเว้นให้ปัดเศษสตางค์ทิ้ง (กค 0811/6268) แต่เป็นกรณีที่จ่ายค่าโทรศัพท์รวมกว่า 20 เลขหมาย แล้วได้รับใบกำกับภาษีที่สรุปมาใบเดียว จนทำให้มูลค่าภาษีเพี้ยนไปมาก



ลองดูตัวอย่าง ใบกำกับภาษีค่าโทรศัพท์ตามภาพ มีการรวบจ่ายค่าบริการที่ค้างอยู่ 2 เดือน รวมเป็นเงิน 525.38 บาท หากเราเอาไปคำนวณภาษีตามสูตร 7/107 จะได้ตัวเลข 34.370 ขณะที่ใบกำกับภาษีจริงเป็น 34.38 คลาดเคลื่อนอยู่ 0.01


ทำไมเวลาจ่ายค่าโทรศัพท์หลายยอดพร้อมกัน ได้ใบกำกับภาษีรวมมาใบเดียวแล้วมูลค่าภาษีจึงเพี้ยน ?


เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น สมมติตัวอย่างโดยใช้ตัวเลขเหมือนกับบทความที่แล้ว บริษัท ก ให้บริการลูกค้าทุกเดือน และเมื่อครบเดือนที่ 4 ลูกค้าชำระเงินทั้งหมดจึงออกใบกำกับภาษีมีรายละเอียด 4 รายการ ดังนี้

1.ค่าบริการ 01/65 | 200 
2.ค่าบริการ 02/65 | 200 
3.ค่าบริการ 03/65 | 200 
4.ค่าบริการ 04/65 | 200

คำนวณภาษี 7/107 จากยอด 200 ของแต่ละเดือนจะได้ 13.08 และรวมสุทธิได้เท่ากับ 52.32 บาท

แต่ถ้าเอามูลค่ารวม 800 บาทมาคำนวณจะได้ 53.34 ต่างกันอยู่ 0.02 บาท


ข้อแตกต่างของกรณีนี้ อยู่ที่ "ใบกำกับภาษีค่าบริการ" ตามปกติจะออกเมื่อได้รับชำระค่าบริการ ไม่เหมือน "ใบกำกับภาษีค่าสินค้า" ที่ต้องออกทันทีเมื่อส่งมอบสินค้า ระบบเอกสารของค่าบริการ จะมีใบแจ้งหนี้ที่ไม่ใช่ใบกำกับภาษีส่งให้ลูกค้าก่อนเสมอ


ถ้ายอดในบรรทัดรายการไม่ใช่ค่าสินค้าหรือบริการโดยตรง แต่มาจากใบแจ้งหนี้ โปรแกรมต้องคำนวณภาษีและปัดเศษแยกแต่ละบรรทัดก่อนแล้วเอามารวมทีหลัง


เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ เพราะ มูลค่าภาษีจะต้องยึดตามใบแจ้งหนี้แต่ละใบที่ออกไปแล้ว


เช่นเดียวกับกรณีของบิลค่าบริการโทรศัพท์ ที่แจ้งหนี้ไปแล้วทุกเดือน แต่พอไปรวบชำระในคราวเดียวทีหลัง ก็ต้องรวมยอดให้ตรงกับใบแจ้งหนี้เหล่านั้น



สำหรับคำอธิบายแบบยาว เกี่ยวพันไปถึงหลักบัญชีแยกประเภท เมื่อมีการออกใบแจ้งหนี้ ได้ลงบัญชีรับรู้รายได้ค่าบริการและภาษีรอเรียกเก็บไปแล้ว เมื่อมีการรับชำระและออกใบกำกับภาษี จะเป็นการล้างบัญชีลูกหนี้ และเปลี่ยนยอดของภาษีรอเรียกเก็บ ให้กลายเป็นภาษีขาย ดังนั้นมูลค่าภาษีในใบกำกับภาษีต้องตรงกับตัวเลขภาษีรอเรียกเก็บที่ลงบัญชีจากใบแจ้งหนี้


ข้อเสียของการออกใบกำกับภาษีลักษณะนี้ หากเกิดยอดภาษีเพี้ยน จะตรวจทานความถูกต้องในการคำนวณภาษียาก


หากกิจการไม่ได้มีจำนวนธุรกรรมลักษณะนี้มากมาย และไม่อยากยุ่งยากชี้แจงเมื่อโดนทักท้วงเรื่องยอดภาษีไม่ตรง ควรหลีกเลี่ยงการจัดทำใบกำกับภาษีค่าบริการลักษณะนี้ โดยใช้วิธีออกใบกำกับภาษีแยกทีละใบตามจำนวนใบแจ้งหนี้แทนก็ได้


การคำนวณภาษีและปัดเศษมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับการออกแบบระบบเอกสารของแต่ละกิจการ วิธีที่ถูกต้องอาจมีมากกว่าหนึ่งวิธี การเลือกว่าควรทำอย่างไรอยู่ที่ผู้วางระบบพิจารณาตามความเหมาะสมของธุรกิจ


Apr, 2022

Sathit J.


ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page