มีเรื่องเล่าจากน้องในทีม เกี่ยวกับ Supply Chain ของธุรกิจประเภทหนึ่ง ที่น่าใช้เป็นโจทย์สนุกๆ ท้าทายไอเดียของนักวางระบบ
บริษัทฯ เป็นผู้จัดหาปลาฮามาจิ (Hamachi) และอาหารทะเลหลายอย่างจากต่างประเทศ เพื่อนำส่งให้ลูกค้าที่เป็นร้านอาหารหรือภัตตาคาร เงื่อนไขที่น่าสนใจอยู่ตรงที่วิธีการสั่งซื้อของลูกค้า
บางแห่งจะสั่งซื้อโดยระบุจำนวนชิ้น ที่ต้องการ พร้อมกับขนาดคร่าวๆ เช่น ชิ้นละประมาณ 1 กิโลกรัม ซึ่งน้ำหนักอาจขาดหรือเกินได้บ้าง แต่ต้องได้จำนวนชิ้นตามนั้น
บางแห่งจะสั่งเป็นน้ำหนักรวม โดยไม่เคร่งครัดกับจำนวนชิ้น แต่ต้องได้น้ำหนักรวมตามนั้น
ลูกค้าต่างก็มีเหตุผลเลือกวิธีการสั่งที่เหมาะสม หากเราไม่สามารถบังคับให้ทุกรายเปลี่ยนไปสั่งวิธีเดียวกันได้ ความท้าทายจึงตกอยู่กับตัวบริษัทฯ ที่เป็นตัวกลางนี้เอง
จะรวมออเดอร์ลูกค้าเป็นคำสั่งซื้อส่งให้ผู้ขายต่างประเทศอย่างไร ตามน้ำหนัก หรือตามชิ้น หรือทั้งสองอย่าง (ซึ่งไม่น่าทำได้)
เมื่อได้รับสินค้าจะคัดแยกเพื่อจัดส่งให้ลูกค้าอย่างไร หากจัดให้ลูกค้าตามจำนวนชิ้นก่อน ลูกค้าที่สั่งตามน้ำหนักก็มักจะขาด (หรือเกิน) และกลับกันหากจัดตามน้ำหนักก่อน ก็จะเหลือจำนวนชิ้นไม่ลงตัว
ธรรมชาติของอาหารสดทำให้การจัดส่งต้องทำแข่งกับเวลา ขณะเดียวกันการเผื่อปริมาณสินค้าเกินจากความต้องการของลูกค้าอาจเป็นความเสียหาย เพราะไม่สามารถสต็อคเก็บไว้ได้นาน
จากออเดอร์ลูกค้า สู่ออเดอร์ผู้ขาย
หากจะถามว่าหัวใจของการทำธุรกิจแบบนี้คืออะไร ผมคิดว่าคือ "การขายความสะดวก" รายย่อยแต่ละรายไม่สะดวกที่จะสั่งซื้อโดยตรงกับผู้ขาย และผู้ขายก็ไม่สะดวกที่จะขายแบบยิบย่อย
ระบบบริหารจัดการที่ดี ทำให้การเป็นตัวกลางนั้นมีคุณค่า ทำให้การค้าสำเร็จลุล่วง และแน่นอนว่า มักเกิดขึ้นเมื่อการจัดการตรงนั้นยุ่งยากลำบาก จนไม่คุ้มค่าหากทั้งสองฝ่ายจะจัดการกันเองโดยไม่ผ่านตัวกลาง
เราลองตั้งคำถามว่า มีวิธีไหนบ้างที่รับมือออเดอร์ต่างหน่วยนับแล้วเกิดความสะดวกกับทุกฝ่าย
นับเป็นชิ้น ราคาเป็นกิโล
"ชิ้น" ถือว่าเป็นหน่วยนับ "กิโล" เป็นหน่วยชั่ง เมื่อลองพิจารณาดีๆ ก็จะพบว่าในโลกของการแลกเปลี่ยนส่งมอบสินค้า โดยเฉพาะสินค้าธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมให้ทุกชิ้นมีคุณสมบัติเท่ากัน จึงมีการสลับกันใช้ระหว่างหน่วยนับกับหน่วยชั่งตวงวัดตลอดเวลา
คุณอาจเลือกซื้อส้ม 10 ลูกได้ แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นเงินเท่าไหร่ จนกว่าจะชั่งน้ำหนักรวม และการชั่งต้องใช้อุปกรณ์ประกอบ "เครื่องชั่ง"
แต่การขายแอปเปิ้ลกลับใช้วิธีแตกต่าง ผู้จำหน่ายพยายามคัดขนาดให้เท่ากันเพื่อตั้งราคาเป็นลูก
หากมีเวลาไปตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต ลองสังเกตวิธีการขายและคิดราคาของกล้วย ทำไมกล้วยหอมนับลูกขาย กล้วยน้ำว้าขายเป็นหวี บรรดาพืชผักผลไม้ กุ้งหอยปูปลา เพราะอะไรจึงมีวิธีนับและคิดราคาไม่เหมือนกัน
ทุกเรื่องราวย่อมมีที่มาที่ไป ซึ่งอาจทำให้ต้องเปลี่ยนกลับไปกลับมาระหว่างทางจากผู้ขายไปจนถึงผู้ซื้อแต่ละทอด ทำให้เราต้องหาวิธีจัดการหน่วยที่ใช้นับสะดวกที่สุด กับหน่วยที่ใช้คำนวณมูลค่าเป็นเงินได้สะดวกที่สุด
ขีดจำกัดของการนับ
ถึงแม้การนับจำนวนชิ้น เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการตรวจสอบและหยิบสินค้า เพราะใครๆ ที่นับเลขได้ก็สามารถทำได้ทันที ไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วย
แต่ประสิทธิภาพของการนับจะถดถอยลงเมื่อจำนวนที่ต้องนับมากเกินไป
คุณสามารถนับจำนวนหลักสิบได้ไม่ยาก แต่เมื่อต้องนับจำนวนเป็นร้อยเป็นพันเริ่มต้องใช้เวลามากขึ้น มีโอกาสผิดพลาดมากขึ้น ดังนั้นสินค้าเดียวกันอาจเลือกออกแบบให้ใช้วิธีนับแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปริมาณหมุนเวียนของสินค้านั้น ผู้ผลิต ผู้ค้ารายใหญ่ กับผู้ค้ารายย่อย จึงมีชุดความคิดไม่เหมือนกัน
ความยุ่งยากของการชั่ง
การชั่งต้องใช้เครื่องชั่ง หากเครื่องชั่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปจุดที่ใช้งานสะดวก อาจเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงานจริง
การชั่งเพื่อหยิบหรือจัดสินค้าให้ได้ตามน้ำหนักที่ต้องการเป็นเรื่องยุ่งยากเสมอ
ขณะที่การชั่งเพื่อตรวจรับสินค้าที่ผ่านการชั่งมาแล้วนั้นง่าย
เมื่อคุณซื้อส้ม 1 กิโลจากแม่ค้าในตลาดสด แม่ค้าจะต้องเติมหรือหยิบส้มลูกสุดท้ายออกเพื่อให้ได้น้ำหนักใกล้เคียง แต่ถ้าคุณซื้อส้มจากรถตระเวณขายผลไม้ พวกเขามีวิธีที่ฉลาดกว่า โดยชั่งส้มใส่ถุงเตรียมไว้ก่อน ให้คุณเลือกซื้อส้มเป็นถุงที่ชั่งเสร็จแล้วแทน
ลูกค้า
ปกติเมื่อลูกค้าสั่งจะไม่ได้สั่งเฉพาะฮามาจิ แต่จะมีอย่างอื่นด้วย แต่บังเอิญฮามาจิเป็นกรณีที่เจอการสั่งของลูกค้าแบบระบุจำนวนชิ้น กับจำนวนกิโลกรัม ซึ่งไม่อาจตัดสินได้ว่าแบบไหนเหมาะกว่ากัน
ปัจจุบันนี้ถ้าลูกค้าสั่งมาเป็นน้ำหนัก พนักงานก็จะพยายามคำนวณให้เป็นจำนวนชิ้น เช่น 10 กิโลกรัม เท่ากับปลาขนาด 1.2 กิโลกรัมประมาณ 8 ชิ้น (ปลาที่ได้จริงน้ำหนักจะไม่เท่ากันเป๊ะทุกชิ้น) ซึ่งปรากฏว่าหลายครั้งโดนลูกค้าตำหนิว่าได้ของไม่ครบเพราะน้ำหนักขาด
มองจากมุมของพนักงานผู้รับออเดอร์ หากคำนวณเผื่อจนเหลือเกินอาจเกิดความเสียหายที่เห็นได้ชัดกว่าเสียงบ่นของลูกค้า
มองจากมุมของฝั่งผู้สั่งซื้อ การรับสินค้าโดยชั่งน้ำหนักรวมย่อมสะดวกกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการสั่งซื้อปริมาณมาก
คัดแยกและจัดส่ง
ขั้นตอนคัดแยกเพื่อกระจายส่งสินค้านับเป็นช่วงเวลาที่วิกฤติ เนื่องจากสินค้าถูกนำรวมกันมาจากสนามบิน การคัดแยกและจัดส่งเกิดขึ้นแทบจะพร้อมกัน ไม่เหมือนกับสินค้าที่มีสต็อคในโกดังอยู่แล้ว สามารถทะยอยหยิบสินค้ามารอเตรียมจัดส่งเป็นรอบๆ ได้
กลุ่มออเดอร์ที่ต้องจัดส่งทางเครื่องบิน จะมีกำหนดเวลาเส้นตาย
ความยากง่ายในการหยิบสินค้าภายในออเดอร์ ตัวอย่างเช่น ทูน่ามาเป็นชิ้นใหญ่ ต้องรอ repack หรือตัดแบ่งเป็นชิ้นย่อยก่อน รวมถึงกรณีฮามาจิ ดังที่กล่าวข้างต้น การหยิบปลาขนาด 1.2 กิโลกรัม 8 ชิ้น ง่ายกว่าการเลือกหยิบปลารวมกันให้ได้ 10 กิโลกรัม
สายส่ง หรือเส้นทางจัดส่ง เพื่อรวมออเดอร์ที่ไปทางเดียวกันให้ไปด้วยกัน
เงื่อนไขลูกค้า ร้านอาหารบางแห่งเปิดกลางวัน บางแห่งเปิดกลางคืน ภัตตาคารบางแห่งจะเข้มงวดเรื่องกำหนดเวลาส่ง รวมไปพาหนะและบรรจุภัณฑ์เพื่อควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบ
ปัจจัยเหล่านี้ไม่สามารถแยกคิดทีละส่วน แต่ต้องจับขยำรวมแล้วหาวิธีอะไรบางอย่างให้ได้คำตอบ 2 อย่างออกมาพร้อมกัน
"คิวรถจัดส่ง" และ "คิวหยิบสินค้าตามออเดอร์" ต้องสอดคล้องประสานกัน
ไอที
ทีนี้มาถึงคำถามสำคัญของผู้วางระบบ เราสามารถเอาไอทีมาช่วยงานส่วนไหนได้บ้าง
งานประมวลผล จากคำสั่งซื้อลูกค้า สรุปมาเป็นรายการสั่งให้ผู้ขายต่างประเทศ
งานประมวลผล วางแผนคิวรถ และคิวหยิบสินค้า
งานจัดสินค้า ติดตามสถานะของออเดอร์ เช่น ยังไม่ได้จัด, กำลังจัด, จัดเสร็จแล้ว หรือ มีปัญหา
งานส่งสินค้า และยืนยันการรับสินค้า (ลูกค้าบางรายอาจชั่งน้ำหนักตอนรับสินค้า หากน้ำหนักขาดอาจโต้แย้งมาได้)
บางครั้งสภาพแวดล้อมก็เป็นข้อจำกัดในการออกแบบ เช่น การหยิบสินค้าที่เป็นของสดมักจะเลอะเปียกแฉะ ทำให้ไม่สะดวกต่อการใช้อุปกรณ์มือถือหรือแทบเล็ต
ธุรกิจประเภทนี้มีกระบวนการทำงานที่ซับซ้อนและแข่งกับเวลา มีข้อดีตรงที่เห็นได้ชัดเจนว่าความสามารถในการแข่งขันของผู้ที่อยู่รอดขึ้นอยู่การมีระบบที่ดีนั่นเอง หากไม่สามารถเอาไอทีมาช่วยงาน ย่อมไม่สามารถยืนระยะได้นาน
Comments