การเติบโต หมายถึงการขยายเพิ่มใหญ่กว่าเดิม หรือการกระจายแผ่ออกไปกว้างไกลกว่าเดิม เป็นสัญญลักษณ์คนิตศาสตร์ "บวก" ด้วยค่ามากกว่า 0 ทบไปเรื่อย ๆ หรือ "คูณ" ด้วยค่ามากกว่า 1 ทวีไปเรื่อย ๆ
ในทางธุรกิจ การเติบโต อาจหมายถึงการขยายทรัพยากรภายใต้โครงสร้างเดิม (scale up) หรือกระจายทรัพยากรออกไป (scale out) จัดตั้งหน่วยธุรกิจย่อยที่มีขอบเขตเฉพาะด้านภายใต้โครงสร้างเดิม หรือเกิดโครงสร้างใหม่มีระบบของตนเอง ไม่ว่ารูปแบบไหนอาจถูกจัดให้เป็นสาขาทางบัญชี
การออกแบบระบบที่รองรับหลายสาขามักจะล้มเหลว หากไม่เข้าใจรูปแบบความสัมพันธ์ที่แตกต่าง
บัญชีและภาษี
สาขาตามนิยามของบัญชีและภาษี มีกฏเกณฑ์ค่อนข้างชัดเจน เช่น สาขาต้องมีที่ตั้งเชิงพานิชย์ทางกายภาพ ต้องทำบัญชีภาษีมูลค่าเพิ่มและสต็อคสินค้าแยกแต่ละสาขา แต่สามารถใช้งบการเงินรวมเพื่อยื่นภาษีเงินได้ และนำส่งกรมพัฒนาธุรกิจ
ภาพจำของกฏหมายดั้งเดิม มาจากแนวคิดว่า ผู้ประกอบการต้องมีสถานประกอบการ เช่น ร้านค้า หรือสำนักงาน ทำให้พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ที่ไม่มีหน้าร้านไม่สามารถใช้ที่อยู่คอนโดจดทะเบียน (ปัจจุบันสามารถทำได้แล้ว)
เนื่องจากมีกฏหมายระบุไว้ หากมีสถานประกอบการหลายแห่งต้องจดทะเบียนสาขา การบันทึกในระบบบัญชีก็ต้องระบุสาขาให้ชัดเจน โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องซื้อ, ขาย และสต็อค
"สถานประกอบการ" ตามมาตรา 77/1(20) แห่งประมวล รัษฎากร หมายความว่า สถานที่ซึ่งผู้ประกอบการใช้ประกอบกิจการเป็นประจำ และให้หมายความรวมถึง สถานที่ซึ่งใช้เป็นที่ผลิตหรือ เก็บสินค้าเป็นประจำด้วย
ในมุมผู้ตรวจบัญชีหรือเจ้าหน้าที่สรรพากร เจตนาที่ให้สถานที่เก็บสินค้าต้องจดทะเบียนสาขา ถึงแม้ไม่มีการซื้อขาย เพื่อบังคับให้ทำบัญชีสต็อคสำหรับตรวจสอบพิสูจน์ได้
แต่การแยกสาขาของภาษีมูลค่าเพิ่มไม่จำเป็นต้องครอบคลุมไปถึงบัญชีทรัพย์สิน, หนี้สิน เช่น ลูกหนี้, เจ้าหนี้ หรือค่าใช้จ่ายค้างจ่าย ค่าไฟฟ้าของทุกสาขาเป็นค่าใช้จ่ายค้างจ่ายที่สามารถรวบจ่ายได้ แต่ใบเสร็จค่าไฟฟ้าเป็นภาษีซื้อแยกสาขา
1. คลังสินค้า
กิจการอาจมีคลังสินค้าหลายแห่งเพื่อเก็บสินค้า หากเป็นคลังสินค้าที่ใช้พนักงานของตนเองดูแลเอง จะถือว่าเป็นสถานประกอบการ "จำเป็นต้องจดทะเบียนสาขา" เพื่อแยกทำบัญชีสต็อคของสาขาหรือคลังนั้นให้เจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจได้ กรณีนี้อาจไม่มีธุรกรรมซื้อหรือขายเกิดขึ้นที่คลังสินค้าโดยตรง แต่อาจต้องออกแบบให้มีบันทึกการโอนสินค้าระหว่างสาขาเพื่อความสะดวกในการบันทึกทางบัญชี
ยกเว้นกรณีเช่าคลังสินค้าที่มีลักษณะใช้บริการฝากสินค้า ให้ผู้อื่นดูแลรวมไปถึงจัดส่ง (fulfilment service) กรณีนี้ตีความว่าไม่เป็นสถานประกอบการ "ไม่ต้องจดทะเบียนสาขา" ไม่ต้องทำบัญชีสต็อคสาขา แต่ในทางปฏิบัติกิจการมักต้องคุมสต็อคภายในคลังย่อยของกิจการเพื่อบริหารจัดการ
2. สำนักงานขาย
ส่วนใหญ่มักจะหมายถึงหน้าร้านที่มีการขายและส่งมอบสินค้า หากไม่ใช่สถานที่ชั่วคราว จำเป็นต้องจดทะเบียนสาขา เปิดใบกำกับภาษีเป็นยอดขายและภาษีของสาขานั้น หากเป็นสาขาที่ไม่ครบวงจรภาษีซื้อและขายของตัวเอง จำนวนสาขาไม่มาก เกินไป มักจะวางแผนยื่นภาษีแบบรวมสาขา เพื่อให้ภาษีซื้อของสาขาหนึ่งไปหักล้างกับภาษีขายของอีกสาขาหนึ่ง ไม่ให้เกิดยอดสะสมต่างสาขาระหว่างเครดิตภาษีซื้อ กับนำส่งภาษีขาย
หากเช่าพื้นที่ขายในงานกิจกรรมต่าง ๆ ถือว่าเป็นสถานที่ขายชั่วคราว (ไม่เข้านิยามประกอบกิจการเป็นประจำ) ไม่ถือว่าเป็นสถานประกอบการ จังไม่ต้องจดทะเบียนสาขา
3. ศูนย์กระจายสินค้า
วัตถุประสงค์สำคัญของสาขาแบบนี้ เป็นคลังสินค้าเพื่อลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า ในพื้นที่ห่างไกล อาจเริ่มต้นมาจากสาขาที่ทำหน้าที่เฉพาะด้านแล้วเติบโตต่อ
เนื่องจากความห่างไกลทางภูมิศาสตร์ทำให้ไม่สามารถใช้พนักงานหรือทรัพยากรร่วมกับสำนักงานเดิม มีโอกาสที่จะเป็นสำนักงานสาขาที่มีระบบงานของตนเองครบวงจร หรือเป็นสาขาพี่เลี้ยงที่มีสาขาเครือข่ายระดับรองอีกทีหนึ่ง
4. ศูนย์บริการ
ธุรกิจบางประเภท อาจต้องมีสาขาที่ทำหน้าที่บริการหลังการขาย หรือรับชำระค่าบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า
จัดการทรัพยากร
สาขาในเชิงควบคุมทางบัญชีและภาษี กลายเป็นกรอบบังคับขั้นต่ำสำหรับหลายองค์กรให้ทำงานได้ตามโครงสร้างบัญชีนี้ก่อน แต่หากต้องการใช้งานเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรในองค์กรอาจไม่เพียงพอ หากไม่เข้าใจสาขาในเชิงบริหารและปกครอง ที่สามารถเลือกใช้กลยุทธโครงสร้างตั้งแต่ระดับ ทีม, แผนก, สาขา และกลุ่มบริษัท ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของการมอบหมายอำนาจ, สนับสนุนและกำกับควบคุม
บริษัทแห่งหนึ่ง เริ่มทดลองขายช่องทางออนไลน์ ควรออกแบบระบบอย่างไร
บริษัทแห่งหนึ่ง เปิดสำนักงานขายหน้านิคมอุตสาหกรรม เพื่ออำนวยความสะดวกกลุ่มลูกค้าประจำและใช้เป็นที่พักสินค้า ควรออกแบบระบบอย่างไร
บริษัทแห่งหนึ่ง สร้างคลังสินค้าเพิ่ม เพื่อรองรับปริมาณสต็อคที่เติบโตของกิจการ ควรออกแบบระบบอย่างไร
บริษัทแห่งหนึ่ง จดทะเบียนบริษัทหลายแห่งเพื่อถือไลเซนส์ตัวแทนนำเข้าสินค้า ควรออกแบบระบบอย่างไร
บางครั้งไม่เข้าเกณฑ์ต้องจดทะเบียนสาขา แต่ก็ต้องการให้แยกข้อมูลเป็นมิติย่อยของหน้าร้านในโลกเสมือน
บางครั้งโดนบังคับให้แยกบัญชีสาขา แต่ต้องการบริหารสินค้าที่ขายได้โดยไม่แยกสาขา
สมมติว่าเพื่อให้ได้มิติของข้อมูลที่ต้องการ ต้องแลกกับกระบวนการทำงานที่ละเอียดยุ่งยากของผู้ปฏิบัติงาน หรือมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานเพิ่ม ใครจะตัดสินใจเลือก
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว เพื่อค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ บางครั้งความต้องการข้อมูลมิตินั้นยังอยู่ในระดับอยากรู้ เพื่อพิสูจน์สมมติฐานบางอย่าง
มีความคุ้นชินในวัฒนธรรมองค์กรอย่างหนึ่ง ที่เราอาจไม่เคยสังเกตเห็นว่าระบบข้อมูลข่าวสารในองค์กรกำลังเปลี่ยนแปลงไป
สมัยก่อนบัญชีเป็นหน่วยที่อยู่ใกล้ชิดศูนย์อำนาจบริหารมากที่สุด เพราะทำหน้าที่สำคัญรวบรวมข้อมูล ตรวจสอบความถูกต้อง แล้วสรุปตัวเลขเพื่อให้บริหารใช้ประกอบการตัดสินใจด้วย บางครั้งผู้บริหารต้องรอกระบวนการเหล่านี้เป็นสัปดาห์หรือเดือนหลังจากสิ้นสุดรอบดำเนินงาน จึงได้ตัวเลขสรุปจากบัญชีมาใช้
ระบบ ERP สมัยใหม่ ทุกคนเป็นผู้ผลิตข้อมูลและใช้ประโยชน์จากมัน ไม่ใช่แค่ฝ่ายบริหาร เริ่มต้นเมื่อพนักงานทุกคนต้องมีทักษะคอมพิวเตอร์ และคอมพิวเตอร์กลายเป็นอุปกรณ์พื้นฐานสำหรับทุกหน่วยงาน
คอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์กเปลี่ยนการส่งมอบข้อมูลด้วยเอกสารกระดาษหรือรายงานสรุปจากหน่วยงานต่าง ๆ มารวมศูนย์ที่ส่วนกลาง (ลองนึกภาพระบบราชการ) กลายเป็นกระจายหน้าที่นำเข้าข้อมูลโดยผู้รับผิดชอบงานโดยตรง เป็นการปลดเปลื้องภาระรวบรวมข้อมูลออกจากงานบัญชี เหลือเพียงความรับผิดชอบสำคัญด้านภาษี
ข้อมูลที่เกิดจากเจ้าของผู้รับผิดชอบโดยตรง จะมีคุณสมบัติที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่โครงสร้างศูนย์บัญชีอย่างเดิมทำไม่ได้ บันทึกตามเวลาใกล้เคียงกับเหตุการณ์จริง เพราะโดนบังคับด้วยกลไกเวิร์คโฟลว์ต้องส่งต่อไปให้ผู้รับผิดชอบงานขั้นตอนถัดไป
ผลพลอยได้เมื่อข้อมูลเท่าทันเวลาจริง เราสามารถสรุปตัวเลขหรือสถานะบางอย่างได้ทันที โดยไม่ต้องรอผ่านกระบวนการลงบัญชีหรือปิดงบ จึงมีทางเลือกมากขึ้นในการใช้ข้อมูลในการวางแผน, แก้ปัญหา และตัดสินใจ
ตัวเลขจากข้อมูลชั้นต้นที่รู้เร็วแต่มีโอกาสคลาดเคลื่อน หรือ ตัวเลขสรุปจากบัญชีที่ถูกต้องสมบูรณ์แต่รู้ช้า
เรามักพบว่ากิจการขนาดเล็กใช้ระบบโปรแกรมเพื่อทำงานบัญชีและภาษีก็เพียงพอแล้ว การได้รู้ก่อนคร่าว ๆ หรือสรุปชัดเจนภายหลังไม่ได้สร้างผลกระทบที่แตกต่างมากมาย แต่ในกิจการขนาดกลางและใหญ่อาจเกิดผลแตกต่างที่เป็นนัยยะสำคัญ จะต้องคำนึงถึงการออกแบบระบบที่สอดคล้องกับโครงสร้างองค์กรเพื่อใช้ควบคุมขั้นตอนทำงานและบริหารด้วย ไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับกระบวนการทำงานที่ข้ามพ้นบัญชีและภาษีไปแล้ว ระบบที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ประสบการณ์ของผู้วางระบบ และวิสัยทัศน์ของผู้บริหารจึงมีความสำคัญ
อ้างอิง
กรมสรรพากร
กรมสรรพากร
เคเคเอ็น การบัญชี
Comments