top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนSathit Jittanupat

Thai Gold Retailer on Cloud

นอกจากเอกลักษณ์สีแดงแล้ว ร้านทองยังเป็นเป็นธุรกิจที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัว มีรายละเอียดของงานบัญชีหลังบ้านยิบย่อย มีเงื่อนไขและข้อจำกัดบางอย่างที่ไม่เหมือนธุรกิจประเภทอื่น


ข้อมูลจากเว็บสมาคมค้าทอง จำนวนร้านทองที่เป็นสมาชิกมีประมาณ 2,000 ราย

ลูกค้าของร้านทองส่วนใหญ่เป็นบุคคลธรรมดา และทองมักหมายถึงทองรูปพรรณที่เป็นเครื่องประดับ เช่น สร้อย แหวน กำไล ซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักทองมีมีมูลค่าของตัวมันเองบวกกับค่ากำเหน็จเปรียบเสมือนค่าฝีมือเชิงศิลปะ



ความไว้เนื้อเชื่อใจ

ยิ่งมีลูกค้าคับคั่ง หน้าร้านยิ่งเป็นพื้นที่คับขัน เนื่องจากทองเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง ร้านทองส่วนใหญ่มักออกแบบเพื่อความปลอดภัยและสะดวกต่อการเลือกดูสินค้าโดยมีผู้ขายคอยดูแลใกล้ชิด เมื่อลูกค้าตัดสินใจซื้อแล้วจังหวะสำคัญอยู่ตรงที่ระหว่างรอชำระและส่งมอบ ผู้ขายไม่ควรถูกแทรกงานให้ละทิ้งลูกค้าไปบันทึกข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์


ร้านทองบางแห่งจะมีพนักงานป้อนข้อมูลโดยเฉพาะ ผู้ขายอาจจดโน้ตรายละเอียดย่อ ๆ ที่จำเป็นส่งให้พนักงานที่ใช้คอมพิวเตอร์บันทึกเข้าระบบแทน


เงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งของพนักงานในร้านทองคือ "ความไว้เนื้อเชื่อใจ"​ หลายแห่งมีแต่คนในครอบครัวหรือเครือญาติไม่ใช้บุคคลภายนอก การคัดกรองตำแหน่งพนักงานคอมพิวเตอร์เพิ่มเข้ามาในร้านจึงเป็นเรื่องยากลำบาก


ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ อาจเป็นสาเหตุทำให้การสืบทอดกิจการพร้อมทั้งภาระงานบัญชีให้กับทายาทกลายเป็นยาขม


งานบัญชี

เมื่อร้านทองเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องมีหน้าที่ส่งภาษีทุกเดือน


รายงานภาษีของธุรกิจร้านทองก็มีรูปแบบพิเศษ ไม่เหมือนกับรายงานภาษีของธุรกิจทั่วไป


ใบกำกับภาษีของร้านทองก็ต้องมีรายละเอียดพิเศษไม่เหมือนใบกำกับภาษีทั่วไป


การขายทองรูปพรรณให้ลูกค้าหนึ่งชิ้น ต้องคำนวณแยกมูลค่าของทองคำตามน้ำหนักเป็นส่วนที่ไม่มีภาษี กับส่วนของค่ากำเหน็จที่มีภาษี ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน แม้กระทั่งคนในร้านทองเองก็อาจมีแค่ไม่กี่คนที่คำนวณถอดภาษีได้ถูกต้อง


หากไม่ใช้คอมพิวเตอร์แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้าทุกรายได้ทันที โชคดีที่ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ร้องขอใบกำกับภาษี งานคำนวณภาษีขายจึงเป็นภาระงานเพิ่มที่ผู้ประกอบการเก็บไว้ทำภายหลังในช่วงเวลาที่ปิดร้านแล้ว


ปัจจุบันร้านทองไม่ได้มีแค่ธุรกรรมซื้อขาย ยังมีออมทองและฝากทองซึ่งเป็นบริการที่ต้องรับผิดชอบเก็บรักษาทรัพย์สิน(เงินและทอง)ที่ลูกค้าฝากไว้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยจัดเก็บข้อมูล ตรวจสอบสถานะ จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและสะดวกรวดเร็วให้กับทุกฝ่าย



การคำนวณภาษี

สำหรับสินค้าทั่วไปที่ราคารวมภาษี 10,000 บาท เราสามารถคำนวณย้อนกลับเพื่อหามูลค่าภาษีได้จากการเทียบสูตรง่าย ๆ จากอัตราภาษีร้อยละ 7


  • ถ้าราคารวมภาษี 107 บาท จะมีภาษี 7 บาท

  • ดังนั้นราคา 10,000 บาท มีภาษี 10000 x 7 / 107 = 654.21


แต่ไม่มีใครตอบได้ หากถามว่าสร้อยทองราคา 10,000 บาท มีภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่เท่าไหร่

เพราะการคำนวณภาษีทองรูปพรรณ ขึ้นอยู่กับ "ราคารับซื้อทองตามประกาศสมาคมค้าทอง" ซึ่งขึ้นลงเปลี่ยนแปลงวันละหลายครั้ง


หากจะอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ภาษีเป็นเท่าไหร่ ขึ้นอยู่ว่าคุณซื้อทองวันไหน เวลาใด ไม่สามารถคำนวณเป็นค่าแน่นอนเตรียมไว้ล่วงหน้า นั่นเป็นสาเหตุที่ร้านทองจะต้องมีป้ายบอกราคาทองสมาคม แสดงให้เห็นชัดเจน เพื่อให้ทุกคนในร้านใช้ตัวเลขนั้นอ้างอิงคำนวณ


สรุปข้อมูลสำคัญที่ใช้ประกอบการคำนวณภาษีคือ


  • ราคาขายทองชิ้นนั้น เช่น 10,000 บาท

  • น้ำหนักทอง อาจใช้หน่วยเป็นกรัม หรือบาท, สลึง

  • ราคารับซื้อตามประกาศสมาคมค้าทอง


ขั้นตอนการคำนวณจำต้องทำดังนี้ เพื่อได้ค่าตัวเลขต่าง ๆ ไปกรอกในใบกำกับภาษี และสรุปเป็นรายงานภาษีขาย


  1. เอาน้ำหนัก คูณ ราคาสมาคม จะได้ มูลค่าทอง

  2. เอาราคาขายทอง ลบ มูลค่าทอง จะได้ ค่ากำเหน็จ

  3. เอาค่ากำเหน็จ คูณ 7/107 จะได้ มูลค่าภาษี

  4. เอาราคาขายทอง ลบ มูลค่าภาษี จะได้ มูลค่าทองรวมค่ากำเหน็จ


วงจรทองรูปพรรณ

โดยทั่วไปธุรกรรมของร้านทองที่เกี่ยวข้องกับลูกค้ามีอยู่สองเรื่อง ขายทอง(ใหม่)ให้ลูกค้าและรับซื้อทอง(เก่า)คืนจากลูกค้า


สำหรับลูกค้าที่ไม่มีเงินก้อน สามารถใช้บริการออมทอง เลือกจองทองที่ต้องการซื้อเอาไว้ก่อน เปรียบเสมือนเส้นชัยที่ต้องทำให้ได้ เป็นแรงจูงใจช่วยควบคุมวินัยการใช้เงิน แล้วทะยอยฝากเงินไว้กับร้านไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะสะสมได้พอกับราคาทองที่อยากได้ จึงเกิดธุรกรรมเสมือนขายทองด้วยเงินที่ฝากสะสมไว้กับร้าน


ในทางกลับกันลูกค้าที่ซื้อทองไปแล้ว สามารถเอามาฝากไว้กับร้าน เพื่อเอาเงินสดไปใช้ฉุกเฉินได้ โดยตกลงเงื่อนไขกำหนดเวลาที่จะรับคืน หากเกินกำหนดก็จะเกิดธุรกรรมเสมือนรับซื้อคืนอัตโนมัติ


Photo by Geoff Greenwood on Unsplash, https://unsplash.com/@geoffgreenwood

ทองใหม่เอาจากไหนมาขาย?


ทองเก่าที่รับซื้อจะเก็บไว้ไหน?


ปกติร้านทองจะส่งต่อกับผู้ค้าทองรายใหญ่ในกรุงเทพฯ เลือกซื้อหาทองลวดลายใหม่เพื่อเอามาขายในร้าน โดยใช้เงินสด หรือหักกับทองเก่าที่เอาไปขายคืนให้ร้านใหญ่ หรืออาจจะขอเปลี่ยนลายทองใหม่ สรุปว่าด้านหนึ่งร้านทองจะทำธุรกิจขายหรือรับซื้อคืนกับลูกค้ารายย่อย อีกด้านหนึ่งก็ทำตัวเป็นลูกค้ากับร้านใหญ่นั่นเอง


เนื่องจากร้านอยู่ในระบบภาษีมูลเพิ่ม เมื่อซื้อทองใหม่ได้รับใบกำกับภาษีมาใช้เครดิตภาษีซื้อ ขณะเดียวกันก็ต้องเปิดใบกำกับภาษีให้ร้านใหญ่เมื่อขายคืนด้วย


Gold Flow Project

เทคโนโลยีคลาวด์อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุด


เมื่อประมาณปี 2020 เราเริ่มต้นโครงการ Gold Flow ซึ่งเกิดขึ้นจากกลไกสำคัญ 3 ส่วน


  • Cloud ERP ที่ทีมพัฒนาได้ออกแบบมาเฉพาะ ให้รองรับระบบงานบัญชีเบื้องหลังร้านทอง ซื้อ-ขาย-ออม-ฝาก

  • Chat Bot ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับงานหน้าร้าน สามารถถ่ายรูปส่งรายการขาย, รับซื้อ และสอบถามข้อมูลเช่น ราคาประกาศสมาคม, เช็คยอดบัญชีออมของลูกค้า

  • Data Entry Team ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลจากรูปภาพที่ส่งมาจากหน้าร้านเข้าระบบ Cloud ERP



ลองจินตนาการถึงการขายหน้าร้าน ที่ผู้ดูแลเพียงใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพกระดาษที่จดรายการขายแชร์ไว้ในไลน์กลุ่ม ทุกคนที่อยู่ในกลุ่มนั้นได้รับรู้ขั้นต้นว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นจากรูปดังกล่าว ขณะเดียวกันทีมป้อนข้อมูลก็นำรูปนั้นไปบันทึกเข้าระบบ


เนื่องจากคอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลได้ทันที จึงแทบไม่เหลือภาระงานบัญชีที่ต้องทำภายหลังปิดร้าน ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์ เรียกรายงานเพื่อตรวจสอบประวัติ สรุปยอดเงินรับจ่ายประจำวัน สรุปรายการธุรกรรมซื้อ-ขาย-ออม-ฝากที่เกิดขึ้น รวมไปถึงตรวจสอบสถานะของบัญชีออมทั้งหมดของร้าน


ความผันผวน

หลายปีที่ผ่านมาราคาทองคำค่อนข้างนิ่ง จนธุรกิจร้านทองรู้สึกเคยชินกับการอยู่ไปเรื่อย ๆ ไม่มีความท้าทายใหม่ จนกระทั่งปลายปี 2566 ที่ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวในทิศทางขาขึ้น เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ได้ทำสถิติสูงสุดใหม่ 2,450 USD และในประเทศไทย 41,500 บาท


ภายในวันเดียวสมาคมค้าทองต้องปรับเปลี่ยนราคาประกาศถึง 16 ครั้ง


อนาคต

ความเปลี่ยนแปลงของร้านทอง การเปิดรับเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ปัจจัยอาจอยู่ที่การเปลี่ยนรุ่นผู้มีอำนาจตัดสินใจที่ยังไม่ถึงจุดที่สมดุลเปลี่ยน


ธรรมชาติของธุรกิจแข่งขันต่ำอยู่ในเซฟโซนมานาน ยิ่งพิจารณาจากจำนวนร้านทองทั่วประเทศ ดูท่าจะไม่ดึงดูดความสนใจการลงทุนนวัตกรรมจากผู้เล่นนอกวงการอีกด้วย


ในอนาคตธุรกิจร้านทองจะปรับเปลี่ยนโมเดลที่มีรายได้หลักจากค่ากำเหน็จหรือไม่


ความสัมพันธ์กับผู้คนในท้องถิ่นยังเป็นจุดแข็งอยู่อีกนานแค่ไหน


พฤติกรรมลูกค้าที่ต้องเลือกซื้อที่หน้าร้านจะเปลี่ยนแปลงเหมือนสินค้าออนไลน์อื่นบ้างไหม


ผู้ค้าทองรายใหญ่และธุรกิจภาคการเงินเริ่มรุกคืบในมุมมองผลิตภัณฑ์ที่เป็นการลงทุนทางเลือก ให้บริการออนไลน์ ออมทองและซื้อขายล่วงหน้าถึงลูกค้าโดยตรง ไม่ต้องมีหน้าร้านแบบเดิมอีกต่อไป


อ้างอิง

สมาคมค้าทอง https://www.goldtraders.or.th/



ดู 1 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page