top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนSathit Jittanupat

Thai Customs and VAT calculation

กรมศุลกากรคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไร ?


สมัยแรก ๆ ที่ผมเริ่มทำรายงานตรวจภาษีซื้อ มีข้อปฏิบัติบางข้อตามกฏหมายที่หากใช้คนตรวจจะทำได้ยาก แต่หากเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ได้แก่ การตรวจว่าผู้ออกใบกำกับภาษีเป็นผู้ประกอบการจริงหรือไม่ วิธีที่ง่ายที่สุดคือตรวจสอบกับฐานข้อมูลของกรมสรรพากรที่หน้าเว็บ VAT INFO ซึ่งคนบัญชีอาจใช้วิธีสุ่มตรวจเฉพาะใบกำกับภาษีที่รู้สึกน่าสงสัย ขณะที่โปรแกรมสามารถตรวจทุกใบได้ทันที ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ทั้งกรณีเลขผู้เสียภาษีไม่ถูกต้อง หรือชื่อผู้ประกอบการไม่ถูกต้อง หลายครั้งที่เจอใบกำกับภาษีของบริษัทร้างเลิกกิจการไปแล้วแต่โดนสวมชื่อ ความผิดปกติเหล่านี้โปรแกรมจะแสดงเครื่องหมายไว้ในรายงานภาษีซื้อ ให้ผู้รับผิดชอบพิจารณาอีกทีหนึ่ง


ปรากฏว่าภาษีซื้อของกรมศุลกากร โปรแกรมฟ้องผิดปกติอยู่ 2 จุดทุกรายการ


จุดแรก เลขประจำตัวของกรมศุลกากร ไม่มีอยู่ในทะเบียน TIN (Tax ID Number) ของกรมสรรพากร ทำให้โปรแกรมฟ้องว่า เลขผู้เสียภาษีไม่ถูกต้อง อาการเหมือนใบกำกับภาษีปลอม ผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ควรออกใบกำกับภาษีได้


จุดที่สอง ยอดภาษีไม่ตรง เมื่อเอามูลค่าสินค้าในรายงานมาคำนวณด้วยอัตรา 7% จะได้ตัวเลขไม่ตรงกับมูลค่าภาษีในรายงาน



ผลที่ออกมาดูเหมือนเป็น false alarm เพราะภาษีซื้อจากกรมศุลกากรถูกฟ้องว่าผิดพลาดทุกใบ ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ ผู้ใช้เจออย่างนี้อาจรู้สึกไม่มั่นใจ ลามไปถึงเลิกสนใจตรวจภาษีซื้อรายการอื่น ตอนนั้นผมยังไม่เข้าใจ ก็เลยแก้ปัญหาแบบกว้าง ๆ ทำเป็นข้อยกเว้นพิเศษไว้ในรายงาน ถ้าเจอเลขประจำตัวของหน่วยงานราชการที่ขึ้นต้นด้วย 099 ไม่ต้องฟ้องว่าเลขผู้เสียภาษีไม่ถูกต้อง และยินยอมให้ภาษีคลาดเคลื่อนได้ในระดับไม่เกิน 1 บาท


ผมปล่อยผ่านเคสนี้ ไม่ทันได้ค้นคว้าหาเหตุผลที่แท้จริง จนกระทั่งไม่กี่วันมานี้ น้องในทีมที่ทำรายงานภาษีให้สำนักงานบัญชี เล่าเรื่องปัญหาใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากรให้ฟัง ว่าเป็นเคสที่คีย์ภาษีซื้อลำบาก เพราะรายละเอียดไม่ครบ ไม่มีตัวเลขมูลค่าสินค้า มีแค่ภาษีมูลค่าเพิ่มลอย ๆ ต้องคำนวณฐานภาษีขึ้นมาเอง ใช้สูตรเอาเลขภาษี คูณ 100 แล้วหารด้วย 7


วันต่อมาผมนึกเรื่องเก่าขึ้นมาได้ว่าภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมศุลกากรมักจะเพี้ยน ไม่เคยคำนวณได้ 7% เป๊ะ ๆ แล้วถ้าเอาตัวเลขนั้น คำนวณกลับไปหามูลค่าสินค้าก็น่าจะเพี้ยนตามไปด้วย



คราวนี้มีโอกาสได้เห็นภาพสแกนของใบเสร็จรับเงินกรมศุลกากร ที่ใช้เป็นหลักฐานขอเคลมภาษีซื้อด้วย ก็ยิ่งเอ๊ะ เข้าไปใหญ่ ไม่มีตรงไหนเข้าเงื่อนไขของใบกำกับภาษีเลย ตั้งแต่ไม่มีคำว่าใบกำกับภาษี ไม่มีเลขประตัวผู้เสียภาษีของผู้ออกเอกสาร ไม่แสดงมูลค่าสินค้า แล้วจะเอาตัวเลขจากไหนไปบันทึกในรายงาน แสดงว่าต้องมีเอกสารอื่นแนบมาด้วย เคสที่โชคร้ายที่สุดสแกนมาให้ไม่ครบ ถ้าสำนักงานบัญชีได้รับมาแค่ใบเสร็จรับเงินใบเดียว แล้วต้องยื่นภาษีซื้อจะทำอย่างไร


ผมจะลองเคลียร์เรื่องราวทั้งหมด และหาทางออกตามความเข้าใจของตัวเอง


เลขประจำตัวของกรมศุลกากรคือ 0994000163011 ไม่มีอยู่ในฐานข้อมูลผู้จดทะเบียนของกรมสรรพากร เพราะกรมศุลกากรไม่ใช่ผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ทำหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแทนเท่านั้น (มาตรา 83/10)


มาตรา 86/14 กำหนดให้ใบเสร็จรับเงิน ใช้เป็นใบกำกับภาษีได้ จบข่าว ไม่ต้องตรวจข้อความสำคัญใด ๆ ทั้งนั้น เมื่อเป็นใบกำกับภาษีที่ถูกต้อง ก็สามารถขอคืนภาษีได้


เรื่องคำนวณภาษีคลาดเคลื่อน มีข้อหารือ กค 0811/6268 ที่บอกว่าให้กรมศุลกากรปัดเศษสตางค์ทิ้งได้ ดังนั้นภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมศุลกากรจึงคำนวณด้วยวิธีพิเศษ ไม่ได้ใช้วิธีทศนิยมหลักที่สามปัดขึ้นหรือปัดลง ตามวิธีที่กรมสรรพากรกำหนดไว้





ทีนี้กลับมาเรื่องยาก ตอนบันทึกรายงานภาษีซื้อ ที่ใบเสร็จรับเงินมีรายละเอียดไม่ครบ ทำให้คนบัญชีทำงานยาก โดยเฉพาะสำนักงานบัญชีที่ต้องทำงานตามเอกสารเท่าที่ผู้ประกอบการส่งมาให้ ผมคิดหาทางออกตามนี้


ใช้ตัวเลขจากใบขนสินค้าขาเข้า (ถ้ามี) เอามาแนบกับใบเสร็จรับเงิน แต่ถ้าไม่มีเพราะผู้ประกอบการไม่ให้มา ก็ต้องเลือกเอาว่า จะทำงานหลายขยัก รอตามทวงใบขนสินค้ามาแนบให้ครบเพราะมีเวลา 6 เดือนที่จะยื่นขอคืนภาษีซื้อ หรือจะใช้วิธีลัด


วิธีนี้ผมชั่งใจอยู่นาน คำนวณย้อนกลับจากตัวเลขภาษีตามเทคนิคของน้องในทีม วิธีนี้คนบัญชีจะทำงานจบง่ายไม่ต้องมีเรื่องค้างคาที่อาจหลงลืมยื่นขอคืนภาษีภายหลัง โดยเฉพาะหากต้องดูแลลูกค้าจำนวนมาก แม้อาจจะไม่ถูกต้องตรงเป๊ะ แต่ก็มองว่าเป็นทางเลือกสามารถทำได้ (ความเห็นของผมอาจไม่ถูกต้องก็ได้) ไม่ผิดเพี้ยนในสาระสำคัญ จนเป็นความผิดปกติที่สังเกตเห็นในแบบ ภพ.30 นอกจากนี้ตัวเลขภาษีซื้อที่ยื่นไม่ได้ผิดเพี้ยน มูลค่าภาษีที่เกี่ยวข้องกับเงินที่นำส่งหรือขอคืนกับกรมสรรพากร ยังถูกต้องครบถ้วน



หากมองในแง่ความสอดคล้องในการบันทึกบัญชี ต้นทุนสินค้า, เจ้าหนี้ ฯลฯ มีตัวแปรหลายตัวที่ไม่อาจบอกได้ว่าต้นทุนที่แท้จริงคืออะไร เป็นได้แค่ตัวเลขที่เหมาะสมทางบัญชี เช่น การรับรู้อัตราแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกัน ณ วันที่จ่ายเงิน กับวันที่ได้รับสินค้า จะต้องมีการบันทึกปรับปรุงดังกล่าวอยู่แล้ว


หลังจากที่ได้มีโอกาสมาดูน้อง ๆ ทำรายงานภาษีซื้อ ภาษีขายอย่างจริงจัง ได้พบความยากในหลายระดับของกิจการแต่ละประเภท และเงื่อนไขพิเศษทางกฏหมาย หากไม่มีประสบการณ์ในแวดวงธุรกิจประเภทนั้นก็ไม่อาจรู้รายละเอียดได้ ข้อดีของการตัดสินใจเก็บเอกสารในรูปแบบดิจิตัล กลายเป็นคลังความรู้ที่ใช้ค้นคว้าและอ้างอิงได้ง่าย ช่วยให้คนบัญชีรุ่นหลังได้มีโอกาสฝึกหัดและเรียนรู้จากตัวอย่างจริงได้ทั่วถึง




ดู 29 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page