top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนSathit Jittanupat

Taxation is challenging for e-commerce sellers in Thailand

อัปเดตเมื่อ 21 ต.ค. 2566



เที่ยงวันนี้ไม่มีแดด หลังจากเดินมาได้ครึ่งทางเริ่มมีละอองมาทักทาย ถ้าฝนตกก็หาที่หลบฝน ถ้าฝนหยุดก็เดินต่อ ผมบอกกับตัวเองง่ายๆ และบอกคนที่บ้านเช่นนั้นเมื่อถูกทักว่าให้เอาร่มไปด้วย การเดินวันนี้ทำให้พบว่าแผนการที่คิดไว้มีช่องโหว่อยู่มากมาย นึกถึงคำที่ว่าโลกไม่ได้เป็นแค่ขาวหรือดำ


ฟ้าเบื้องบนไม่มีเมฆดำทะมึนทำให้คาดเดาได้ยาก จากละอองฝอยเปลี่ยนเป็นโรยมาบางเบา ผมผ่านมาได้จนเลี้ยวมาถึงแนวตึกแถวที่มีชายคา พร้อมกับเม็ดฝนที่กลายเป็นหยิมๆ ผมเลือกลัดเลาะไปเรื่อยๆ สลับหยุดรอจังหวะ จนกระทั่งฝนเทมาอย่างหนักจึงหยุดที่ชายคาตึกแห่งหนึ่ง


ไปต่อไม่ได้ ระหว่างที่มองสายฝน ในความคิดได้ทบทวน "ฝนตกก็หลบ ฝนหยุดก็ไปต่อ"​ เป็นเพียงคำในอุดมคติ ในชีวิตจริงมักจะมีสถานการณ์ที่ไม่ใช่ขาวแต่ไม่ถึงกับดำ ตอนที่ฝนที่ตกเบาบาง ทำให้คุณลังเลว่าจะหยุดรอ, เปลี่ยนแผนหรือลุยต่อ


เรามักให้เครดิตกับโชค แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องของการสุ่ม ที่ไม่จำเป็นต้องยกประโยชน์หรือกล่าวโทษให้กับการตัดสินใจเลือกที่ผลลัพธ์อาจจะเป็นอะไรก็ได้


ถ้าคุณมีโอกาสขายของผ่าน platform ออนไลน์ แต่มีคนเตือนว่าระวังโดนภาษีย้อนหลัง คุณจะเลือกอย่างไร บางทีชีวิตก็เหมือนกับการเลือกเดินฝ่าฝน เสี่ยงว่าจะถึงเป้าหมายก่อนที่จะตกหนัก มองโลกในแง่ดีว่าทางข้างหน้าอาจมีชายคาได้พักหลบ หรือจะเลือกหยุดไม่ไปต่อ


เมื่อก่อนนี้ผมเป็นลูกค้าซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ออนไลน์พวกจาก platform จีนและฮ่องกง Alibaba, Geek Buying คาบเกี่ยวกับยุคเริ่มต้นในเมืองไทยของ Lazada เป็นก้าวย่างที่พัฒนาไปพร้อม ๆ กับผู้ให้บริการขนส่งอย่าง Kerry ด้วยความที่เป็นโปรแกรมเมอร์นอกจากหาซื้อสินค้าไอทีแปลกๆ ก็พยายามสังเกตรายละเอียดการออกแบบ เท่าที่ผู้ใช้คนหนึ่งเข้าถึงได้


มุมมองในฐานะผู้ขายหรือร้านค้าบน platform ผมมีความเข้าใจน้อยมาก โดยเฉพาะเรื่องของการคำนวณส่วนแบ่งรายได้และภาษี เดิมเข้าใจเอาเองว่าน่าจะใช้ระบบ GP เหมือนกับการฝากขายสินค้ากับห้างสรรพสินค้า เมื่อมีโอกาสได้เห็นของจริงจึงรู้ว่าซับซ้อนกว่าที่คิด ปัญหาของผมอยู่ที่ไม่มีเคสที่ผู้ขายอนุญาตให้เข้าไปศึกษาได้มากพอ



สัปดาห์ที่แล้ว Peak ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโปรแกรมบัญชีออนไลน์ ได้จัดสัมมนาความรู้เกี่ยวกับการทำบัญชีของผู้ประกอบการ e-commerce ได้เห็นตัวอย่างข้อมูลหลังบ้านส่วนที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่าง platform กับผู้ขาย ช่วยให้ได้รับความกระจ่างจากผู้เชี่ยวชาญที่มาบรรยาย โดยเฉพาะมุมมองทางด้านบัญชีและแนวทางปฏิบัติ


ความคิดที่ผุดขึ้นมาหลังจบสัมมนา แม้กระทั่งนักบัญชีทั่วไปเองก็ยังยาก ต้องใช้ทักษะความเชี่ยวชาญหลายอย่างเกินไป


"ทำบัญชียื่นภาษีให้ถูกต้องนั้นยากเกินไป สำหรับผู้ประกอบการ e-commerce"​


ส่วนใหญ่ของผู้ขายบน platform อาจเห็นแย้งว่าไม่ยาก นั่นเป็นเพราะยังอยู่ในสถานะบุคคลธรรมดาและยอดขายไม่ถึงปีละ 1.8 ล้านบาท แต่เมื่อใดที่ต้องเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือเป็นนิติบุคคล ชีวิตคุณจะเปลี่ยนไปไม่ได้มีแค่เรื่องการขาย เสียงฟ้าร้องครืน ๆ และเมฆฝนก้อนใหญ่ตั้งเค้ารออยู่ข้างหน้า

  • ไม่ยุ่งยาก สำหรับบุคคลธรรมดาที่ยอดขายน้อย (เฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 1 แสน) สามารถยื่นภาษีแบบเหมาหักค่าใช้จ่าย 60% ไปก่อนได้ สามารถเรียกรายงานจาก platform เพื่อคำนวณยอดเงินได้

  • ต้องวางแผนภาษีและวางระบบบัญชี เมื่อยอดขายมาก (เฉลี่ยเดือนละ 1 แสนขึ้นไป) เช่น แยกบัญชีเงินเข้าออก, หักค่าใช้จ่ายตามจริง, จดทะเบียน VAT, จดทะเบียนนิติบุคคล ฯลฯ

  • ต้องเรียนรู้ สำหรับผู้ประกอบการ ถ้าต้องเปิดใบกำกับภาษีเต็มให้ลูกค้า ต้องหัดทำให้เป็นก่อน

  • ยุ่งยาก สำหรับนิติบุคคล ค่าธรรมเนียมและขนส่ง Shopee ต้องทำหักภาษี ณ ที่จ่าย (ภงด.53)

  • ยุ่งยาก สำหรับ VAT กรณี TikTok ต้องยื่น ภพ.36

  • ไม่ง่าย สำหรับนักบัญชี การกระทบยอดเงินเข้า กับรายได้-ค่าใช้จ่าย เพราะเป็นรายการการหักกลบกัน และการตัดรอบเคลียร์มีโอกาสเหลื่อมวันได้ ขึ้นอยู่ว่าออเดอร์นั้นยืนยันสถานะจัดส่งทันรอบตัดบัญชีหรือไม่


ทำไมภาระการทำบัญชีและยื่นภาษีจึงยาก หากจะตอบสั้นๆ ก็ประมาณว่า ประเทศเราไม่เคยมีโมเดลธุรกิจที่เป็นห่วงโซ่แบบ e-commerce platform อย่างนี้มาก่อน โมเดลที่เปิดโอกาสให้คนที่มีความสามารถ สามารถสร้างผลงานโดยไม่จำเป็นต้องมีทีมงานของตัวเอง เพราะ platform จะเข้ามาช่วยเติมเต็มสนับสนุนงานส่วนอื่นให้ เช่น แพคของ, ส่งของ, เก็บเงิน ไปจนถึงจัดการคลังสินค้า


เหลือส่วนที่ platform ยังช่วยจัดการให้ไม่ดีพอคือ "บัญชีและภาษี" น่าเสียดายที่อุตส่าห์ทำหน้าที่เป็นฝ่ายการเงินช่วยเก็บเงิน เคลียร์ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไปจนถึงจัดการส่งของให้ แต่ไม่ช่วยสรุปผลประกอบการในมุมมองบัญชีรายได้และค่าใช้จ่ายเพื่อจัดการทางด้านภาษีให้ง่ายกว่านี้ ผลที่ตามมาทำให้บางคนเข้าใจว่ารายได้ เท่ากับยอดเงินที่โอนเข้าบัญชี ทำให้มีโอกาสผิดพลาดเกิดความเสียหาย


อีกด้านหนึ่งก็น่าเห็นใจ platform เพราะเรื่องนี้มีรายละเอียดแตกต่างกันสำหรับแต่ละประเทศ นอกจากไม่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงแล้ว ทีมที่พัฒนาซอฟต์แวร์ต้องมีความรู้เรื่องภาษีของประเทศนั้น ๆ ด้วย


ทะเบียนการค้า


มีเรื่องหนึ่งที่ผมเจอระหว่างค้นคว้าข้อมูลและอยากจะเตือน


สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นและคิดว่าจะเอาจริงควรทำให้ถูกต้อง ขายออนไลน์ต้องจดทะเบียนการค้ากับ DBD สำหรับบุคคลธรรมดา ที่เข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง (ดูแล้วยังไงก็ไม่รอด)


  • กิจการขายสินค้าที่ขายภายใน 1 วันได้เป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป หรือมีสินค้าเพื่อขายและมีมูลค่ารวมเป็นเงินตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป

  • กิจการซื้อ-ขายสินค้า หรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต


ถ้าขายเฉพาะบน platform ต่างๆ เพียงแค่จดทะเบียนการค้าและยื่นภาษีเงินได้ตามปกติ (หากมีเว็บขายของที่รับชำระเงินเองด้วยต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่ม)


ภาษีมูลค่าเพิ่ม


ใครมียอดขายถึง 1.8 ล้านบาท ต้องเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม อันนี้กฏหมายบังคับไว้เลย ไม่เหมือนกับเลือกจดบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน แต่แทนที่จะทำให้คนทั่วไปปฏิบัติได้ง่าย กลับมีข้อยกเว้นสำหรับกรณีพิเศษมากมาย สินค้าบางอย่างยกเว้นภาษี ผู้ซื้อบางประเภทได้สิทธิภาษีอัตรา 0 รวมไปถึงเงื่อนไขการพิสูจน์ใบกำกับภาษีซื้อที่เคร่งครัด สิ่งเหล่านี้ทำให้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ลื่นไหลครบวงจรตามเจตนารมณ์ที่ออกแบบไว้


ลองนึกภาพว่าใครสักคนบังเอิญมีช่องทางหาสินค้ามาขาย ลองเอามาขาย online แล้วบังเอิญขายได้เรื่อยๆ เดือนละแสนกว่าๆ ผ่านไปหนึ่งปีพบว่ายอดรวมสองล้าน ถึงเกณฑ์ต้องจด VAT หลักฐานสั่งซื้อสินค้ามาขายก็ไม่เคยสนใจเก็บ ไม่เคยจดบันทึก กำไรหรือขาดทุนก็ไม่รู้ ตราบใดที่ยังได้ก็ยังมีเงินเข้ามาจ่ายค่าสินค้า


ปัจจุบันโมเดลธุรกิจของ platform ในเมืองไทย ทำตัวเป็นตัวกลางอำนวยความสะดวกให้ผู้ขายพบกับผู้ซื้อ เหมือนกับสร้างศูนย์การค้า หรือ พลาซ่า ด้วยความที่ไม่ถูกจำกัดด้วย geolocation แค่ระดับอำเภอหรือจังหวัด แต่เข้าถึงผู้ซื้อทั้งประเทศ ผมสามารถสั่งธัญพืชที่หาไม่ได้ในซูเปอร์มาเก็ตข้างบ้าน หลังจากเปรียบเทียบราคากับผู้ขายรายอื่นทั่วประเทศ ผมเลือกสั่งจากร้านหนึ่ง ที่เพิ่งรู้ภายหลังว่าเป็นผู้ประกอบการอยู่ที่หาดใหญ่ ด้วยเหตุนี้ผู้ขายมีโอกาสเติบโตก้าวกระโดดโดยไม่ผ่านขั้นตอนเปิดร้าน ขยายสาขาแบบการค้ายุคเก่า


พ่อค้าแม่ค้าในตลาด ลูกค้าคือคนที่อาศัยในละแวกนั้น สมัยพ่อผมเปิดร้านขายของชำเลี้ยงลูกสามคน ขายได้วันละสามถึงห้าพันบาท รู้จักแต่ภาษีการค้า, ภาษีโรงเรือนกับภาษีป้ายที่ต้องจ่ายปีละครั้ง ภาษีมูลค่าเพิ่มทำให้โลกหมุนเร็วกว่าเดิม รอบการตรวจสอบสั้นกว่าเดิม เพราะต้องยื่นยอดซื้อยอดขายทุกเดือน คุณไม่สามารถซุกบิลไว้ในลิ้นชัก รอจนสิ้นปีแล้วค่อยมาเกลี่ยตัวเลขรายได้ค่าใช้จ่าย


  • จัดเก็บใบกำกับภาษีซื้อ รวมไปถึงตรวจสอบความถูกต้องของใบกำกับภาษีซื้อ

  • ออกใบกำกับภาษีขาย เมื่อลูกค้าร้องขอ

  • จัดทำรายงานภาษีซื้อ-ขาย และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ยื่นแบบ ภพ.30 ทุกเดือน


สรุปง่าย ๆ การเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม บังคับให้ผู้ประกอบการต้องทำบัญชีเป็นระบบอย่างสม่ำเสมอ เพราะต้องยื่นภาษีทุกเดือน แตกต่างจากสมัยก่อนที่ยื่นแค่ภาษีการค้าปีละครั้ง


ภาษีเงินได้


ภาษีเงินได้มีรอบการยื่นเป็นรายครึ่งปี คำนวณจากเงินได้สุทธิ ไม่เหมือนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องยื่นทุกเดือน


เงินได้สุทธิที่เอามาคำนวณภาษี หมายถึง เงินได้ หักด้วย ต้นทุนหรือค่าใช้จ่าย (และค่าลดหย่อน)


ปัจจุบัน e-commerce ทำให้เกิดปรากฏการบุคคลธรรมดามีโอกาสที่รายได้ถึงเกณฑ์ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1.8 ล้านบาทง่ายขึ้น โดยที่ไม่มีความพร้อมทางด้านงานบัญชีและภาษี


ผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้ทำบัญชี ไม่สามารถสำแดงหลักฐานต้นทุนหรือค่าใช้จ่าย สามารถเลือกคำนวณค่าใช้จ่ายเหมาหักเป็นเปอร์เซนต์ตามอัตราที่กฏหมายกำหนด (60% หรือตามสมควร)


บุคคลธรรมดาที่ทำบัญชี อาจเลือกหักต้นทุนและค่าใช้จ่ายตามจริง แต่การเป็นบุคคลธรรมดา จะใช้อัตราภาษีแบบขั้นบันไดต้องระวังเมื่อเงินได้สุทธิสูงมาก ๆ จะเสียภาษีมาก ส่วนที่เกิน 5 ล้านขึ้นไปเสียภาษีอัตรา 35%


ดังที่กล่าวมาข้างต้น ยิ่งรายได้สูงนอกจากต้องเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีโอกาสต้องจ่ายอัตราสูง เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง การผ่องถ่ายรายได้เป็นในนามนิติบุคคลซึ่งมีเพดานอัตราภาษีต่ำกว่า จะช่วยให้เสียภาษีน้อยกว่า แต่ต้องแลกกับภาระต้องทำบัญชียื่นงบการเงินตามมาตรฐานที่กฏหมายกำหนด


หากทำบัญชีหักค่าใช้จ่ายตามจริงแล้ว ก็เลือกจดทะเบียนเป็น บริษัท หรือหจก. น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในการวางแผนภาษี เพราะจะเสียภาษีในอัตราไม่เกิน 20% ถ้าเป็น SME ได้สิทธิพิเศษส่วนที่ไม่เกิน 3 ล้าน เสียภาษีอัตราต่ำกว่าด้วย


การเป็นนิติบุคคล มีภาระการจัดทำบัญชีตามมาตรฐานที่เข้มงวดมากขึ้นด้วย จัดเก็บเอกสารทางการค้าอย่างเป็นระบบ อ้างว่าไม่รู้กฏหมาย ไม่รู้ภาษีเหมือนกับตอนเป็นบุคคลธรรมดาไม่ได้ ความอะลุ้มอะหล่วยเรื่องนี้แตกต่างกัน


เกือบลืมไป สำหรับนิติบุคคล ภาระที่เพิ่มเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อชำระค่าเช่า และค่าบริการต่างๆ ด้วย


ปัญหาการจัดทำบัญชี


ประเด็นที่อยากชี้ให้เห็น ผู้ประกอบการ e-commerce เป็นกลุ่มที่อาจไม่มีความพร้อมทางด้านบัญชีภาษี โดยเฉพาะบุคคลธรรมดาที่มีอาชีพอิสระ แต่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ระเบียบปฏิบัติของกฏหมายเดิมตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า ใครที่มีรายได้ขนาดนี้ควรมีความพร้อมที่จะทำบัญชี


ผลจากการโดนลากเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้ต้องทำบัญชี ตามมาด้วยการเปลี่ยนเป็นนิติบุคคลเพื่อประโยชน์ทางภาษี แต่ทางปฏิบัติจริงยังอยู่บ้าน อยู่คอนโดไม่มีสภาพเป็นออฟฟิศที่ต้องมีพนักงานแผนกต่าง ๆ เหมือนกับองค์กรปกติ ทุกอย่างเป็นการทำงานประสานกันแบบ outsourcing ผ่านทางออนไลน์จนครบวงจรของธุรกรรม ตั้งแต่ order, warehouse, delivery, payment ไปจนถึง tax and accounting


ผู้ให้บริการ tax and accounting เป็นกลุ่มที่น่าสงสารที่สุด ยิ่งหากต้องช่วยดูและเรื่องยื่นภาษีประจำเดือนด้วย นอกจากแม่นภาษี แยกขอบเขตการรับรู้รายได้และค่าใช้จ่ายระหว่างกันได้ จะต้องมีความรู้ความเข้าใจการใช้งานหลังบ้านของ platform เพื่อหาวิธีดึงข้อมูลและเอกสารต่าง ๆ ที่จำเป็นในการลงบัญชีและตรวจสอบได้


ผู้ประกอบการ


ผมมองผู้ประกอบการเป็น 2 กลุ่ม corporation ผู้ประกอบการที่มีลักษณะเป็นองค์กรหรือต้องการเติบโตเป็นองค์กรอยู่แล้ว กลุ่มนี้ไม่น่ามีปัญหามาก เพราะมีความพร้อมที่จะลงทุนทรัพยากรบุคคลและระบบ


อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าจะมีปัญหา solopreneur ผู้ประกอบการอิสระ ที่เป็นผู้ขายส่วนใหญ่ใน platform มักเริ่มต้นจากบุคคลธรรมดา หรือกลุ่มเล็ก ๆ ยังไม่ได้คิดวางแผนเติบโตแบบยั่งยืน บังเอิญปีนี้ขายดีจนยอดเกิน 1.8 ล้านบาท ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าปีหน้ารายได้จะขึ้นหรือลง ที่สำคัญไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องบัญชีภาษีมากมายนัก


ทางออกที่ทำได้จึงเป็นการใช้บริการสำนักบัญชี หรือนักบัญชีอิสระ มาช่วยดูแลและให้คำปรึกษา


ใบกำกับภาษีและค่าขนส่งฝั่งขาย


ผมเหมารวมว่าใครที่ยอดขายเกิน 1.8ล้านบาท น่าจะเข้าเกณฑ์ผู้มีสิทธิ์ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ ซึ่งหากไม่มีใครขอใบกำกับภาษีเต็มก็สามารถสรุปรวมเป็นยอดใหญ่รายวันได้ ความยุ่งยากจะอยู่ตอนที่ผู้ซื้อขอใบกำกับภาษีแบบเต็ม


ความยุ่งยากของรายการในใบกำกับภาษีอยู่ที่ส่วนลดและค่าขนส่ง


  • ค่าสินค้า = 120

  • ค่าขนส่งที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อ = 30

  • ค่าขนส่งที่ platform ออกให้ = 40

  • ส่วนลดจากผู้ขาย = -20

  • ส่วนลดจาก platform = -10


อย่าว่าแต่คนธรรมดาจะงง แม้แต่นักบัญชีก็ยังต้องอึ้ง และอาจมีความเห็นไม่เหมือนกัน


หากเปิดใบกำกับภาษี รายการไหนเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ที่คิด vat? รายการไหนที่ไม่ถือเป็นรายได้


ต้องเปิดใบกำกับภาษีให้ผู้ซื้อเป็นยอดเท่าไหร่? ฐานภาษีเท่าไหร่? VAT เท่าไหร่?


ผู้ขายจะได้รับเงินสุทธิจาก platform เท่าไหร่?


ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ความเหลื่อมล้ำจากกฏหมายยกเว้นภาษีค่าขนส่ง การคำนวณค่าขนส่งตอนที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อเป็นมูลค่าที่รวม VAT แล้ว แต่ค่าขนส่งที่ผู้ขายถูกเรียกเก็บนั้นไม่มี VAT เพราะผู้ให้บริการขนส่งเป็นธุรกิจได้รับการยกเว้น ตรงนี้เป็นตัวเลขที่ผู้ขายต้องเข้าเนื้อประมาณ 6.54% ของค่าขนส่งที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อ เนื่องจากต้องนำส่ง VAT ด้วย จากตัวอย่างข้างบน ค่าขนส่งของธุรกรรมนี้คือ 30 บาท กำไรจะหายไป 1.96 บาท ถ้าขายสินค้าที่กำไรบางเฉียบ ตัวเลขนี้อาจมีนัยยะที่ต้องระวัง



ต้นทุนค่าขนส่ง


เงินค่าขนส่งที่ platform จ่ายให้ผู้บริการเป็นการ ชำระในนามผู้ขาย ดังนั้นจึงต้องนำเอกสารใบเสร็จรับเงินจากผู้ให้บริการขนส่งเหล่านั้น มาบันทึกบัญชีเป็นต้นทุนดำเนินงานด้วย


แต่ต้องไม่ลืมบันทึกรับรู้รายได้สนับการขาย หรือรายได้อื่น จากค่าขนส่งที่ platform ออกให้ด้วย


สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล ต้องทำเรื่องหัก ณ ที่จ่าย 1% และเรียกเก็บจากผู้ให้บริการขนส่งด้วย


  • platform จ่ายค่าขนส่งเต็มจำนวนแทนผู้ขาย 1000 บาท

  • ผู้ขายมีหน้าที่ทำ WHT 1% แล้วเรียกเก็บจากผู้ให้บริการ 10 บาท


ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 (08:00:00 น. เวลาประเทศไทย, GMT+7) เป็นต้นไป บริการโลจิสติกส์ใน TikTok Shop ในประเทศไทยจะให้บริการโดย Thai Happy Logistics Ltd ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการแต่งตั้งของ TikTok Shop ให้ดำเนินการส่งมอบสำหรับผู้ขายท้องถิ่นและข้ามประเทศ (เฉพาะผู้ขายข้ามประเทศที่มีคำสั่งซื้อที่จัดส่งจากคลังสินค้าในประเทศไทย)


ใบกำกับภาษีซื้อ ค่าธุรกรรรมชำระเงินและค่าธรรมเนียม


ผู้ขายที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องยื่นภาษีซื้อจาก platform

ผู้ขายที่เป็นนิติบุคคล ถ้าไม่สามารถแต่งตั้ง platform เป็นตัวแทนหักภาษี ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% แล้วเรียกเก็บจาก platform หรือออกให้



TikTok Shop ให้บริการโดย TikTok Pte. Ltd. ภายใต้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 (2021) TikTok Pte. Ltd. ต้องเรียกเก็บและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าบริการแพลตฟอร์ม (ค่าคอมมิชชั่นและค่าธรรมเนียมคำสั่งซื้อของ TikTok Shop) จากลูกค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย
หากคุณเป็นผู้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย โปรดแจ้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มของคุณให้กับ TikTok Shop โปรดตรวจสอบให้ใจแน่ว่าสามารถยืนยันเลขประจำตัวผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในฐานข้อมูลอย่างเป็นทางการของกรมสรรพากรไทยได้ รูปแบบเลขประจำตัวผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มควรเป็นหมายเลข 13 หลัก จากนั้นค่าบริการแพลตฟอร์มจะไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มของไทย 7%

สต็อกสินค้า


กรณีสต็อคบัญชีภาษี ที่ต้องทำรายงานสินค้าเคลื่อนไหว รวมถึงการคำนวณต้นทุนขายเพื่อใช้ลงบัญชีปิดงบ ผมยังไม่เห็นรายละเอียดว่าควรทำอย่างไร ยังไม่เห็นว่าทาง platform มีรายงานออกมาช่วยสรุปอย่างไร มีเหมือนระบบ POS ที่ขายหน้าร้านหรือไม่ ยังไม่กล้าออกความเห็น


ปัญหาอย่างหนึ่งที่ต้องระวัง คือ สินค้าเดียวกัน หากขายต่าง platform อาจใช้ SKU ไม่ตรงกัน โปรแกรมทั่วไปถึงแม้จะเปิดใบกำกับภาษีได้ อาจทำไม่ได้ง่าย


กรณีบริหารคลังสินค้า เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อาจเป็นเรื่องซับซ้อนที่ควรแยกออกมาจากบัญชีภาษี เท่าที่หาดูอาจเลือกใช้ระบบที่ช่วยบริหารและ update ยอดสต็อกเชื่อมต่อกับ platform ต่าง ๆ ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ


กระทบยอดเงินรับ


การโอนเงินค่าสินค้าจาก platform ให้กับผู้ขาย เป็นยอดสุทธิหลังจากหักค่าบริการและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แล้ว ดังนั้นยอดตามใบกำกับภาษี จึงไม่เท่ากับยอดเงินที่ได้รับ การบันทึกบัญชีจะต้องพิสูจน์ยอดที่ขาดหายไป ว่าเท่ากับยอดที่ถูก platform หักด้วย


ความยุ่งยากที่เห็นได้ชัดอยู่ที่ รายงาน transaction ของแต่ละ platform ไม่เหมือนกัน มีทั้งออกแบบมาช่วยให้ตรวจสอบลงบัญชีง่าย และทำออกมาแล้วต้องส่ายหน้า เป็นเหตุให้นักบัญชีไม่อยากรับทำบัญชีให้


  • ยอดเงินที่รับเข้าบัญชี ไม่เท่ากับ ยอดเงินได้ที่ต้องยื่นภาษีปลายปี (ยังไม่รวมค่าขนส่งที่ platform ออกให้)

  • ยอดเงินที่รับเข้าบัญชี ไม่เท่ากับ มูลค่าสุทธิตามใบกำกับภาษีบัญชี (โดนหักค่าธรรมเนียมและค่าขนส่ง)

  • ยอดเงินที่รับเข้าบัญชี อาจโดนหักจากรายการพิเศษอื่น ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายยกเลิก, ค่าขนส่งที่เกินจากยอดประมาณ ฯลฯ


ปัจจุบันนี้ ยังไม่มีวิธีที่ง่าย ที่จะหายอดรายได้สุทธิของผู้ขาย เพื่อใช้ยื่นภาษีเงินได้ รวมทั้งการสรุปยอดภาษีขายในแต่ละเดือน


บททดสอบ


ภาษิตฝรั่งบอกว่า "wearing someone's shoes" ถ้าอยากรู้ว่าเขารู้สึกอย่างไรก็ลองสวมรองเท้าของเขา


ตัวอย่างข้อมูล order จาก Shopee ที่นักบัญชีหลายคนมีความเห็นคล้ายกัน ถ้าผ่านด่านนี้ได้ก็ไม่กลัว e-commerce รายไหนแล้ว สมมติว่าคุณเป็นผู้ประกอบการ ลองดูซิว่าจะทำได้ไหม


ข้อหนึ่ง ตามรูปด้านล่าง tax point หรือวันที่ในใบกำกับภาษีอย่างย่อที่ใช้ในรายงานภาษีขายควรเป็นวันไหน

วันที่สั่งซื้อ
วันที่ชำระสินค้า
วันที่คาดว่าจัดส่ง
วันที่ส่งสินค้า


ข้อสอง ตามรูปด้านล่าง สมมติว่า order (1), (2) และ (3) ต้องเปิดใบกำกับภาษีเต็มให้ลูกค้าทั้งหมด 3 ฉบับ จะต้องแสดงรายการตามยอดไหนบ้าง

ราคาขายสุทธิ
ส่วนลดจาก Shopee
โค้ดส่วนลดชำระโดยผู้ขาย
Code Coins Cashback
โค้ดส่วนลดชำระโดย Shopee
ส่วนลด bundle deal ชำระโดยผู้ขาย
ส่วนลด bundle deal ชำระโดย Shopee
ส่วนลดจากการใช้เหรียญ
ส่วนลดทั้งหมดจากบัตรเครดิต
ค่าคอมมิชชั่น
Transaction Fee
ค่าจัดส่งที่ชำระโดยผู้ซื้อ
ค่าจัดส่งที่ Shopee ออกให้



ถ้าเป็นไปได้..


ปัจจุบันนี้ (ตุลาคม 2566) มี platform e-commerce รายใหญ่ที่อยู่ในเมืองไทย 2 ราย (Lazada, Shopee) กับอีกหนึ่งรายที่อยู่ต่างประเทศ (TikTok )


ผมมีความเห็นว่าผู้ทำบัญชีอิสระ ควรหาทางออกแบบรายงานมาตรฐาน ที่ใช้สำหรับบันทึกบัญชีรายได้ ค่าใช้จ่าย และพิสูจน์ยอดได้สะดวกกว่าปัจจุบันนี้ และผลักดันข้อเสนอต่อผู้พัฒนา platform


อีกทางหนึ่งอาจผลักดันให้ทางรัฐ โดยกรมสรรพากรช่วยออกประกาศเพิ่มเติม เพื่อกำหนดให้ platform มีรายงานที่จำเป็นสำหรับแสดงรายได้ของผู้ขาย ซึ่งก็คือรายงานที่ผู้ทำบัญชีช่วยกันออกแบบนั่นแหละ และช่วยกลั่นกรองโดยรัฐอีกที นอกจากจะอำนวยความสะดวกให้ผู้ทำบัญชี ยังอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบของเจ้าหน้าสรรพากรเองด้วย


อีกเรื่องหนึ่งถ้าทำได้ น่าจะลดภาระทั้งสองฝ่ายได้มาก ควรสามารถแต่งตั้งให้ platform เป็นตัวแทนหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับค่าบริการและขนส่ง คล้ายกับกรณีของธนาคาร, ผู้ให้บริการโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต และอีกหลายแห่ง


ขณะนี้ Lazada และ TikTok (Thai Happy Logistic) เปิดให้ผู้ขายสามารถแต่งตั้งเป็นตัวแทนหักภาษีแทนผู้จ่ายได้แล้ว เหลือแต่ Shopee ซึ่งเดาว่าอีกไม่นานก็น่าจะทำออกมาเช่นกัน (update: มีข่าวว่า Shopee เริ่มเปิดให้แต่งตั้งตัวแทนในกลุ่มจำกัด พ.ย. 2566)

ผมยังมีความคิดแผลง ๆ ไกลกว่านั้นอีก ถ้ากำหนดวิธีปฏิบัติสำหรับผู้ขาย บังคับให้หนึ่งแอคเค้าท์ของร้านบน platform เท่ากับ(จดทะเบียน)หนึ่งสาขาภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเป็นอย่างไร? ตรงนี้อาจจะยังติดข้อกฏหมายที่ตีความสาขาตามที่อยู่ทางกายภาพ ข้อดีของการแยกสาขาออนไลน์ ทำให้รายงานสรุปยอดขายบน platform เทียบเท่ารายงานภาษีขายของสาขา เงื่อนไขอะไรหลายอย่างก็จะตามมา เช่น เลขที่ใบกำกับภาษีที่ running ให้จาก platform หรือ เงื่อนไขออกใบกำกับภาษีแทน เหมือนกับที่ตัวแทนรับชำระสามารถออกใบกำกับภาษีแทนได้ ฯลฯ ต้องออกตัวก่อนว่าประเด็นนี้ยังไม่ทันได้คิดละเอียด เพียงอยากเสนอมาเผื่อจะได้ถกเถียงกัน


อ้างอิง


K-Biz , รู้ 10 อย่างก่อนจดทะเบียนการค้า


กรมสรรพากร, การหักค่าใช้จ่าย บุคคลธรรมดา และอัตราเหมา 40(8)


กรมสรรพากร, อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


กรมสรรพากร, อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 2566


Peak, การออกใบกำกับภาษี Shopee


FB Group Peak Easy, สไลด์และวิดีโอสัมมนา ผู้ประกอบการ e-commerce


Shopee, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับภาษีสำหรับผู้ขาย


Shopee, การคำนวณค่าธุรกรรมชำระเงินและค่าธรรมเนียมการขาย


Shopee, การหักภาษี ณ ที่จ่าย


Lazada หนังสือแต่งตั้งหักภาษี ณ ที่จ่ายแทนผู้ขาย


สอนยื่นภาษีกลางปี ภงด.94 Shopee, Lazada


YouTube, ภาษีต้องรู้ ของผู้ขายออนไลน์


Lazada University


Shopee ศูนย์การเรียนรู่


TikTok Academy


TikTok ข้อมูลภาษีพื้นฐานสำหรับผู้ขาย


กรมสรรพากร เงื่อนไขการออกใบกำกับภาษีโดยตัวแทน


ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page