งานส่วนที่ไม่ค่อยจะผนวกอยู่ในสเปคของโปรแกรมบัญชีที่ใช้ในกิจการ คืองานปิดงบเพื่อยื่นภาษีเงินได้ โดยเฉพาะธุรกิจที่ขนาดเล็กมักจะส่งต่อไปให้สำนักบัญชีภายนอกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ
หรือจะกล่าวให้ชัดกว่านั้น ปกติแล้วโปรแกรมบัญชีที่ใชักันอยู่ทั่วไปมักจะเน้นไปที่ Financial Accounting ซึ่งการบันทึกข้อมูลหรือรับรู้รายละเอียดบางอย่างอาจไม่สอดคล้องหรือไม่รองรับ Tax Accounting ก็ได้
เมื่อไปนานมานี้ กรมสรรพากรได้ผลักดันประเด็นเรื่อง "การใช้ Tax Dimension เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์บัญชี ในยุคดิจิตัล" ซึ่งมีการกล่าวถึงซอฟต์แวร์เฮ้าส์หรือผู้พัฒนา อยากให้นำเอา Tax Dimension ไปผนวกในโปรแกรม
Tax Dimension
ก่อนอื่น Tax Dimension คืออะไร?
ด้วยความเป็นคนนอกติดตามข่าวคราวอยู่ห่างๆ ผมเพิ่งได้ยินคำนี้เป็นครั้งแรกจึงไม่แน่ใจ พยายามค้นหาว่าเป็นศัพท์บัญชีที่รู้กันทั่วไปในแวดวงนักบัญชีหรือไม่
ไม่เจอคำอธิบายอื่น นอกจากในเว็บกรมสรรพากรที่อธิบายไว้ว่า
"Tax Dimension คือ มิติของข้อมูลทางภาษี ที่ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์เฮ้าส์ สามารถดาวน์โหลดเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาโปรแกรมบัญชีเพื่อเชื่อมโยงปรับปรุงเป็นกำไรเพื่อเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร และนำไปสู่การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) โดยกระบวนการ Open API ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการทำงานและลดข้อผิดพลาดในการเสียภาษี"
ภายในนั้นมีให้ดาวน์โหลดสิ่งที่เรียกว่า Tax Dimension? ส่วนใหญ่เป็นไฟล์ Excel (xlsx) เป็นแค่ตารางอธิบายมาตราต่างๆ และ Hyperlink อ้างอิง ดูเหมือนว่าเป็นมีลักษณะเป็น knowledge base ของข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับงานปรับปรุงกำไรทางภาษี
Why Excel? (บ่น..)
ใช้ยาก ดูยาก เปิดในโทรศัพท์หรือแทบเล็ตบางเครื่องไม่ได้ อยากเสนอให้ทำ html หรือ wiki หรือมีบริการ web search แล้วแจก url ให้ผู้พัฒนาเอาไปโยงใช้อ้างอิงได้เลย
ยกตัวอย่าง กรมสรรพากรมีเพจ VAT INFO สำหรับตรวจสอบชื่อที่อยู่ของผู้ประกอบการจดทะเบียนจากเลขผู้เสียภาษี ภายในโปรแกรมบัญชีก็แค่ทำปุ่มให้ผู้ใช้กดไปเปิดเพจนั้นก็ใช้ได้แล้ว
อัพเดทเพิ่มเติม น่าจะเป็นไฟล์เก่า โครงการนี้เริ่มต้นเมื่อปี 2562 มีการประชุมหารือเรื่องปรับปรุงกำไรทางบัญชีเป็นกำไรทางภาษีเพื่อ Open API ระหว่างกรมสรรพากรกับสมาชิกผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ด้านการบัญชี สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย อีกสองปีต่อมา (2564) จึงมีมติรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการ
บางทีโปรแกรมบัญชีในจินตนาการของกรมสรรพากร อาจไม่เหมือนกับที่ผมคิด สภาพแวดล้อมของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทำให้หลายอย่างที่เคยคิดไว้ เคยทำไว้ อาจกลายเป็นล้าสมัยเอาง่ายๆ (วิ่งตามเทคโนโลยี เหนื่อยจริงนะ)
Open API
ผมใช้เวลาอยู่หลายวันเพื่อประติดประต่อสิ่งที่เว็บเพจนั้นพยายามจะสื่อสาร นอกจากคำว่า Open API ยังไม่เข้าใจว่าเกี่ยวข้อง หรือเอาไปใช้ในโปรแกรมบัญชีได้อย่างไร
เมื่อปลายปี 2564 มีข่าวประชาสัมพันธ์ของกรมสรรพากร
"คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการสนับสนุนให้ผู้เสียภาษียื่นรายการ แบบคำร้อง คำขอ หรือเอกสารอื่นใดตามประมวลรัษฎากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านการเปิด Open Application Programming Interface (Open API).."
หลังจากนั้นประมาณเดือน สิงหาคม 2566 จนถึง เมษายน 2567 กรมสรรพากรเริ่มทะยอยประกาศ มาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดังนี้
RD STD. [01–2566] (ส.ค. 2566) มาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับธุรกรรมภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ
RD STD. [02–2566] (ส.ค. 2566) มาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับธุรกรรมภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยการเก็บรักษาข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
RD STD. [03–2566] (ส.ค. 2566) มาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับธุรกรรมภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยรูปแบบข้อมูล
RD STD. [04–2566] (ส.ค. 2566) มาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับธุรกรรมภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูล
RD STD. [05–2566] (ส.ค. 2566) มาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับธุรกรรมภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์
RD STD. [06–2566] (ส.ค. 2566) มาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับธุรกรรมภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศสำหรับโปรแกรมประยุกต์บนเว็บ
RD FP. [01–2566] (ส.ค. 2566) มาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับธุรกรรมภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยการจัดทำและส่งใบกำกับภาษีหรือใบรับโดยใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ในการลงลายมือชื่อ
RD FP. [02–2566] (ส.ค. 2566) มาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับธุรกรรมภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยการจัดทำ ส่ง หรือเก็บรักษาใบกำกับภาษี โดยบริการประทับเวลา
RD FP. [03–2566] (ก.ย. 2566) มาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับธุรกรรมภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยการนำส่งข้อมูลผ่านระบบการนำเข้าและคัดแยกข้อมูลการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (National e-Payment)
RD FP. [04–2566] (ก.ย. 2566, เม.ย. 2567) มาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับธุรกรรมภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยการจัดทำบัญชีพิเศษสำหรับอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม
RD FP. [05–2567] (เม.ย. 2567) มาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับธุรกรรมภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยการจัดทำและยื่นข้อมูลรายการภาษีผ่าน Application Programming Interface (API) 11.1 รูปแบบข้อมูลแบบแสดงรายการภาษี ภ.ง.ด.90 ปีภาษี 2566 สำหรับยื่นผ่าน Application Programming Interface (API) ตามมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับธุรกรรมภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยการจัดทำและยื่นข้อมูลรายการภาษีผ่าน Application Programming Interface (API) 11.2 รูปแบบข้อมูลแบบแสดงรายการภาษี ภ.ง.ด.91 ปีภาษี 2566 สำหรับยื่นผ่าน Application Programming Interface (API) ตามมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับธุรกรรมภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยการจัดทำและยื่นข้อมูลรายการภาษีผ่าน Application Programming Interface (API)
RD FP. [06–2567] (เม.ย. 2567) มาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับธุรกรรมภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยการจัดทำและยื่นข้อมูลขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน ผ่าน Application Programming Interface (API)
ตอนนี้มีมาตรฐานสำหรับ API ประกาศออกมาแล้ว (ข้อ 11 และ 12) สำหรับการยื่นแบบ ภงด.90, ภงด.91 และอากรแสตมป์ แต่ยังไม่มีสำหรับ ภงด.50 ที่กล่าวอ้างใน Tax Dimension
สรุป
ถ้าจะให้เดาภาพในใจ จากตัวอย่างของแอปวางแผนภาษีและยื่นภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา (ภงด.90 และ 91) ที่พัฒนาโดยเอกชน น่าจะช่วยให้เข้าใจบทบาทของกรมฯ มากขึ้น ไม่เป็นผู้พัฒนาโปรแกรมทั้งหมดเอง แต่ทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดมาตรฐานที่เอื้อต่อนักพัฒนา และก้าวต่อไปคือ แอปยื่นภาษีสำหรับนิติบุคคล (ภงด.50) นั่นเอง
ไม่รู้ว่าจะมีเป้าหมายที่ไกลกว่านั้นหรือไม่ ไปจนถึงจุดที่ว่า
กิจการทั่วไปสามารถยื่นภาษีจากโปรแกรมบัญชีที่ใช้อยู่ได้ด้วยตนเอง
ส่วนรายละเอียดว่าจะเป็นลักษณะไหน เงื่อนไขอย่างไร ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะในสภาพแวดล้อมของการยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล ต้องอาศัยผู้เกี่ยวข้องที่มีบทบาทต่าง ๆ ซึ่งเป็นบุคคลหรือบริการภายนอกเช่น สำนักบัญชี และ ผู้สอบบัญชี
ผมคิดถึงตัวอย่างของผู้ที่ทำธุรกิจออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม 100% ที่มีปัญหากับการทำบัญชีและยื่นภาษีค่อนข้างมาก ซึ่งในอนาคต (ปี 2568) กรมสรรพากรจะมีข้อมูลจาก 2 แหล่งที่เอามาเชื่อมโยงกันได้ คือ รายการเงินเข้า-ออกธนาคาร และรายการขายจากแพลตฟอร์ม
สำหรับผู้เสียภาษีกลุ่มนี้ มีความเป็นไปได้ที่กรมสรรพากรใช้ข้อมูลเหล่านั้นประมวลผลและประเมินภาษีให้อัตโนมัติ แล้วเปิดโอกาสให้เลือก (opt-out) ว่าจะทำบัญชียื่นภาษีเองก็ได้
ปัจจุบันสัดส่วนของผู้ใช้โปรแกรมบัญชีคลาวด์เพิ่มมากขึ้น แต่กระบวนการทำบัญชีฝั่งภาษีกลับพัฒนาต้วมเตี้ยมไปช้ากว่า ความสำเร็จอาจขึ้นอยู่กับทำอย่างไรให้ปรับตัวเป็นดิจิตัลมากที่สุด นำไปสู่การรวบรวมข้อมูล transaction จาก E-Payment, E-Tax Invoice, E-Receipt เหมือนกับเป็นแพลตฟอร์ม
กฏหมายที่มีเงื่อนไขยิบย่อยสะท้อนให้เห็นในตัวอย่างกระดาษทำการของ Tax Dimension บางทีการย้อนกลับไปพิจารณาต้นเหตุอาจเป็นอีกหนทางหนึ่ง
ทำอย่างไรให้มีความเรียบง่าย สามารถปิดงบยื่นภาษี โดยโปรแกรมทั่วไปได้ โดยคอมมอนเซนส์ของคนทั่วไปได้ ถ้าคิดแบบนักการตลาด เน้นขยายฐานผู้เสียภาษีด้วยความสะดวกสบายก่อน มากกว่ากลัวว่าจะบกพร่องไม่สมบูรณ์ จนยากต่อการปฏิบัติ
บุคคลธรรมดาและธุรกิจขนาดเล็กยื่นภาษีโดยไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ จะเป็นไปได้หรือไม่?
15 มิถุนายน 2567
อ้างอิง
กรมสรรพากร สนับสนุนให้ใช้ Open API https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/news/2565thai/news8_2565.pdf
กรมสรรพากร e-filing การขอเชื่อมต่อ Open API https://efiling.rd.go.th/rd-cms/openapi
กรมสรรพากร e-filing ข้อมูล API Spec https://efiling.rd.go.th/rd-cms/api
กรมสรรพากร มาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร https://www.rd.go.th/65244.html
กรมสรรพากร การยื่นแบบโดย API https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/taxaudit/km/api640906.pdf
RD Smart Tax Application https://www.rd.go.th/region/07/fileadmin/071/004_pdf/brochure_rdsmarttax_openapi.pdf
กรมสรรพากร ข่าวประชาสัมพันธ์ ประชุมหารือ Open API https://www.rd.go.th/61501.html
Commenti