top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนSathit Jittanupat

Tax and Accounting in Gold Shop



"ภาษีและบัญชีร้านทอง"


เกือบสองสัปดาห์แล้ว ที่ผมใช้เวลาดูงานของสำนักงานบัญชีแห่งหนึ่ง ถ้าจะกล่าวให้ละเอียดจริงๆ ต้องบอกว่าทีมงานส่วนหนึ่งลงไปฝังตัวอยู่ที่สำนักงานบัญชี ทำหน้าที่สแกนภาพของเอกสารทั้งหมดเข้าสู่ระบบคลาวด์ ขณะที่ทีมงานอีกส่วนหนึ่งกำลังหาวิธีจัดการกับมัน ผมเป็นหนึ่งในทีมงานส่วนที่สอง


ที่ผ่านมาทีมของเราเคยวางระบบ ERP ให้บริษัทต่างๆ มาพอสมควร ไม่ว่าจะซับซ้อนเพียงใดก็ยังเป็นระบบที่อ้างอิงแกนเวลาปัจจุบันร่วมกัน มีเวิร์กโฟลว์ให้คนทำงานประสานกันเพื่อลดความซ้ำซ้อนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทรานส์แอคชั่นบันทึกตามเหตุการณ์ของกิจกรรมจริงของคนที่เป็นเจ้าของงาน


ความสนุกของระบบสำนักงานบัญชีอยู่ที่ มีระบบย่อยของกิจการที่หลากหลายซ้อนอยู่ภายใต้ระบบบันทึกบัญชีของสำนักงานอีกทีหนึ่ง กิจการต่างๆ ที่เป็นลูกค้าของสำนักงานไม่เกี่ยวข้องกัน มีวัฒนธรรมหรือรูปแบบการทำงานแตกต่างกันไป และที่สำคัญที่สุด การบันทึกบัญชีอาศัยจากหลักฐานชั้นที่สองคือ "เอกสาร" ซึ่งเป็นเรื่องราวในอดีต


ร้านทองเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีเอกลักษณ์ทางด้านภาษีและบัญชี มีรายละเอียดวิธีปฏิบัติแตกต่างจากธุรกิจส่วนใหญ่


การค้นคว้าอ้างอิงเริ่มต้นจากพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 311/2540 ซึ่งนำไปสู่ประกาศอธิบดีฉบับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่การไล่สายกฏหมายที่เกี่ยวกับร้านทองก็ไม่ง่ายนักสำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงนี้มาก่อน


ประกาศอธิบดีฉบับที่ 106 กำหนดให้ "มูลค่าของทองรูปพรรณที่ขายเป็นจำนวนเท่ากับราคาทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศรับซื้อคืนในวันที่ขายทองรูปพรรณ" ไม่ต้องนำมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม


ป. 106 นำไปสู่วิธีปฏิบัติ กำหนดเงื่อนไขข้อความอื่นที่ต้องแสดงในใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/4 (ป.107) และใบกำกับภาษีอย่างย่อ 86/6 (ป.108)


ประกาศอธิบดีฉบับที่ 110 กำหนดให้รูปแบบของรายงานภาษีขายของร้านทอง มีรายละเอียดเพิ่มเติมพิเศษกว่ารายงานทั่วไป เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจสอบภาษีของสรรพากร



จากรูปภาพตัวอย่าง จะเห็นว่าใบกำกับภาษีของร้านทอง มีข้อความที่ต้องแสดง และนำไปใช้ในการจัดทำรายงานภาษีขาย แตกต่างจากกิจการทั่วไป


ในแง่ของการบันทึกรายการตามใบกำกับภาษีขายด้วยโปรแกรม จึงไม่สามารถทำได้โดยง่าย นอกจากจะปรับการทำงานมารองรับโดยเฉพาะ


จุดที่มีโอกาสผิดพลาดของร้านทอง อยู่ที่การถอดมูลค่าทองส่วนต่างที่รวมภาษี ออกเป็นฐานภาษีและมูลค่าภาษี ทางสำนักงานบัญชีเองได้ช่วยปรับความเข้าใจตรงนี้ ว่าบางครั้งทางร้านอาจปัดเศษสตางค์ผิดพลาด ทำให้เมื่อรวมยอดฐานกับภาษี แล้วไม่เท่ากับส่วนต่าง จะต้องมีวิธีพิจารณาที่ยืดหยุ่นไม่เหมือนใบกำกับภาษีของธุรกิจอื่น


บทเรียนที่ได้จากการดูงานสำนักงานบัญชีคราวนี้ ทำให้เข้าใจมากขึ้นว่า การให้คุณค่าและเป้าหมายของสำนักงานบัญชีแตกต่างจากเป้าหมายของธุรกิจ ทำให้วิธีทำงานแตกต่างกัน


บทบาทดั้งเดิมของสำนักงานบัญชี ถ้าจะเปรียบเทียบง่ายๆ เสมือนทำหน้าที่คลี่คลายคดี ด้วยการรวบรวมหลักฐานของพยานปากต่างๆ ได้แก่ ซื้อ, ขาย, จ่าย, รับ เมื่อบันทึกตามข้อเท็จจริงที่ได้รับมา หากไม่มีอะไรผิดพลาดเรื่องราวเหล่านั้นจะเรียงร้อยสอดคล้องกัน ตัวเลขจะต้องมาเจอกันหรือล้างกันพอดีด้วยกลไกของบัญชีแยกประเภท


ดังนั้นการออกแบบโดยการลดขั้นตอนต่างๆ จึงแตกต่างจากการวางระบบให้กับภาคธุรกิจ ต้องระมัดระวังไม่ทำให้ภาระกิจสำคัญนี้ผิดเพี้ยนไป ไม่สามารถใช้ตรวจยันหลักฐานด้วยกระบวนการทางบัญชีได้


บทสรุปที่ผมคิดว่าสำคัญมาก อยู่ตรงที่เริ่มทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า โปรแกรมสำหรับกิจการไม่ใช่โปรแกรมสำหรับสำนักงานบัญชี


อ้างอิง

https://www.rd.go.th/2782.html พระราษกฤษฎีกาฉบับที่ 311/2540 ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มนำเข้าทอง

https://www.rd.go.th/5208.html ประมวลรัษฎากรมาตรา 86/4 และ 86/6 ข้อความในใบกำกับภาษี

https://www.rd.go.th/3287.html ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 106 ยกเว้นมูลค่าทองตามประกาศสมาคมค้าทอง

https://www.rd.go.th/3286.html ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 106 ข้อความอื่นในใบกำกับภาษี

https://www.rd.go.th/3285.html ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 107 ข้อความอื่นในใบกำกับภาษีอย่างย่อ

https://www.rd.go.th/3275.html ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 108 ข้อความในรายงานภาษีขาย


August 2022, Sathit J

ดู 1 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comentários


Post: Blog2_Post
bottom of page