top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนSathit Jittanupat

Sold and Wasted, the cyclical fresh items accounting



พ่อค้าขายทุเรียนคุมสต็อคอย่างไร? คำถามเดิมที่วนเวียนมายังไม่กระจ่าง เพราะประสบการณ์ไม่เหมือนกัน จึงคิดเห็นไม่เท่ากัน


ทุกปีแถวบ้านจะมีลุงกับป้าขนทุเรียนใส่รถกระบะมาตั้งโต๊ะขายริมถนน ป้าทำหน้าที่แกะทุเรียนเรียงพลูใส่ถาด ส่วนลุงจะช่วยเลือกทุเรียนให้ลูกค้า เอาสุกมาก สุกน้อย เคาะเปลือกฟังเสียง พอขายหมดทั้งรถทั้งคนก็หายไปวันหนึ่งหรือสองวัน รู้กันว่าลุงตีรถไปเอาทุเรียนจากสวนแถวระยองมาอีก


ผมเห็นวิถีของคนขายผลไม้เช่นนี้ปีแล้วปีเล่า พอจะนึกเทียบเคียงเป็นอย่างอื่น ส้ม มะม่วง สตอเบอรี่ แม้กระทั่ง กุ้ง หอย ปู ปลา ก็จะมีวิถีคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะมาจาก ระยอง ชุมพร มหาชัย หรือ ซึกิจิ


 

(1)


วิธีคิดและจัดการสินค้าที่เป็นของสด ย่อมไม่เหมือนผู้ที่ค้าขายอะไหล่รถ อุปกรณ์ก่อสร้าง หรือหนังสือ และไม่เหมือนกับโรงงานที่ผลิตสินค้าตามสั่ง


แรกเริ่มทีเดียวผมได้แต่สังหรณ์ และเอ่ยปากทักว่า ระบบสต็อคที่เคยมีประสบการณ์ออกแบบมา อาจจะใช้กับธุรกิจที่ขายของสดไม่ได้ ตอนนั้นมีภาพของพ่อค้าขายทุเรียนอยู่ในหัวแต่เรียบเรียงไม่ถูก จนกระทั่งผ่านมาหลายเดือนได้มีเวลาทำความเข้าใจธุรกิจนี้มากขึ้น


อาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา เคยกล่าวไว้หลายคราวถึงคตินิยมตะวันตกที่มองโลกเป็นเส้นตรงมีจุดเริ่มต้นในอดีตและสิ้นสุดในอนาคต เป็นอิทธิพลจากไบเบิลเรื่องสร้างโลกและวันล้างโลก การลำดับเรื่องราวต่าง ๆ จึงเป็นเส้นเรื่องที่สืบเนื่องสัมพันธ์กัน


วิธีคิดแบบนี้ไม่ต่างกับวิธีนับสต็อคที่เรียงร้อยยอดเข้า-ออกมาเป็นเรื่องราว ไปถึงยอดคงเหลือสิ้นงวด ตามกระบวนการบัญชีมาตรฐาน เป็นวิธีเล่าเรื่องสินค้าตามเส้นสต็อค


 

(2)


เมื่อใช้คำว่าตะวันตก แสดงว่าต้องมีคตินิยมอื่น


ไม่กี่เดือนที่แล้วได้ดูคลิป "ทำไมท่านพุทธทาสจึงเน้นปฏิจจสมุปบาท" ที่คุณหมอยงยุทธ สนทนากับนิ้วกลม เป็นวิธีมองเหตุการณ์ที่เป็นวงจรเกิดแล้วดับได้ นับเป็นภพชาติที่มากมาย เพียงเราเท่าทันและรับรู้โดยไม่ตัดสิน



ผมไม่กล้าเหมาว่านี่เป็นคตินิยมแบบตะวันออก เพราะเท่าที่เห็นแม้กระทั่งตัวเองแม้ได้ยินได้ฟังมาบ้าง ก็ไม่เคยเข้าใจแบบนี้มาก่อน ยังมองว่าภพชาติหมายถึงช่วงชีวิตยาวนานตั้งแต่เกิดไปจนตาย แล้วกำเนิดใหม่เป็นทารกจึงเป็นภพชาติใหม่ ตามเรื่องเล่าในนิทานชาดก


นัยยะสำคัญอยู่ที่การมองเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นวงจรสามารถตัดจบเป็นรอบ ไม่ปล่อยให้พัวพันยืดยาวไปเรื่อย ๆ หลังจากที่พยายามเอาไม้บรรทัดของสต็อคเส้นตรงมาทาบทับแล้วรู้สึกติดขัดซับซ้อนเกินไป ก็น่าจะลองใช้มุมมองนี้มาประยุกต์แทน


 

(3)


พ่อค้าทุเรียนไม่เคยมีปัญหาว่าจะคุมสต็อดอย่างไร แต่เป็นที่นักวางระบบพยายามเอาระบบสต็อคเข้ามาใช้กับทุเรียนต่างหาก


เริ่มจากพิจารณาคำว่า “สด” (fresh) สิ่งนี้เป็นคุณค่าสำคัญที่สุด เป็นตัวกำหนดราคา และคำนี้นำไปสู่ตัวแปรสำคัญ “เวลา” ที่สินค้านั้นคงสภาพ นั่นทำให้เราไม่อาจมองเป็นของที่เก็บไว้ขายภายหลังได้ จึงไม่สามารถกักเก็บมูลค่าไว้ในฐานะสต็อค


บางทีอาชีพพ่อค้าทุเรียน รวมถึงผู้ที่ขายสินค้าสดทั้งหลายอาจเริ่มต้นมาจากจิตวิญญาณนักพนัน เชื่อมั่นในโชคและฝีมือตัวเองว่าสามารถขายสินค้าที่อยู่ในมือได้หมดก่อนที่มันจะหมดเวลาของมัน สุกงอม เน่าเสีย จนไม่มีใครเอา



นั่นคือธรรมชาติของสินค้าสดที่มีความไม่เที่ยงเป็นสรณะ บังคับให้ใช้วิธีมองเป็นรอบที่ตัดจบกันไป บางรอบขายหมดกำไรมาก บางรอบขายไม่หมดอาจขาดทุน ไม่ว่าอย่างไรแล้วมันก็ผ่านไป ตั้งต้นรอบใหม่


หากอธิบายสต็อค ตามสมการทางบัญชีที่เราคุ้นเคย ทดไว้เป็นสินค้าคงเหลือ อาจไม่สามารถใช้กับสินค้าสด การไม่รับรู้เป็นความเสียหายในรอบ ทำให้ไม่สามารถสะท้อนผลดำเนินงานที่แท้จริง


<สต็อค> ยกมา + ซื้อเข้า - ขายออก = คงเหลือสิ้นงวด

ของที่ขายไม่หมดในแต่ละรอบ เหลือเท่าไหร่ควรตัดทิ้งเป็นต้นทุนที่เสียหาย มากกว่าที่จะเก็บเข้าสต็อคเป็นสินทรัพย์ทางบัญชี เมื่อตัดทิ้งแล้วก็ไม่มียอดคงเหลือให้ยกไปพัวพันอีก สมการจึงง่ายไม่ต้องมียอดยกมา


<รอบซื้อ> ซื้อเข้า - ขายออก = ต้นทุนที่เสียหาย

สินค้าสดบางอย่าง อาจนำไปขายด้วยเงื่อนไขพิเศษ เหมือนกับซูเปอร์มาร์เก็ตที่ลดราคาสินค้าใกล้หมดอายุ กรณีนั้นก็เป็นการรับรู้รายได้จากสินค้าที่ตัดบัญชีเสียหายไปแล้ว เหมือนการขายซากทรัพย์สินที่ตัดค่าเสื่อมหมดแล้ว


สินค้าบางส่วนอาจมีสภาพดีเอามาขายในรอบถัดไป กรณีนี้ก็สามารถบันทึกบวกกลับสินค้าเสียหายมาเป็นเป็นสินค้าเพื่อขาย


ในทางบริหาร อัตราส่วนของสินค้าที่เสียหาย เทียบกับยอดขายในแต่ละรอบเป็นตัวเลขที่ต้องเฝ้าติดตามในยุคของนักพนัน เหมือนกับการคิดกำไรขาดทุนเป็นรอบสั้น ๆ ที่เข้าใจง่าย โดยไม่ต้องรอปิดงบตามรอบบัญชี


 

(4)


ลุงและป้าในปีหลัง ๆ สามารถทำรอบการขายหมดได้เร็วขึ้น เพราะเริ่มมีลูกค้าขาประจำจึงให้ลูกค้าสั่งจองล่วงหน้าก่อนที่จะไปเอาทุเรียนมาจากสวน กลายเป็นกลไกสำคัญที่ใช้ปกป้องความเสี่ยงของธุรกิจประเภทนี้ เอามาขายให้พอดีกับออเดอร์ที่ได้รับ


ดังนั้นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ธุรกิจนี้เริ่มเข้าสู่ยุคที่สอง จะเห็นอัตราที่ต่ำของสินค้าที่ขายไม่หมด เนื่องจากทราบยอดจองล่วงหน้า ตัวเลขความเสียหายกลายเป็นดัชนีวัดประสิทธิภาพของ logistic


ต่อจากนี้จะเป็นการบริหารความสามารถในการหาซื้อสินค้ามาขายให้เพียงพอกับยอดสั่งจองที่ได้รับ ตัวเลขนี้อาจไม่สามารถรับรู้ทางบัญชี แต่เป็นตัวเลขเสียโอกาสที่ใช้เพื่อบริหาร วัดความสามารถของ supply chain


<รอบซื้อ> สั่งจอง - ซื้อเข้า = เสียโอกาสขาย

 

(5)


ถ้าไม่เริ่มจากตั้งคำถามขุดถอนรากความเชื่อ พิจารณาว่าสิ่งนี้ใช่ตะปูหรือไม่ เราก็จะไม่กล้าวางค้อนในมือ มองทุกอย่างที่ขายไม่หมดเป็นสต็อคคงเหลือ พยายามจัดการด้วยวิธีค้างรับ ค้างส่ง ฯลฯ


การเปลี่ยนมุมมองให้สอดคล้องกับธรรมชาติของสินค้าสด ใช้รอบที่ซื้อมาแล้วขายไป เป็นรอบ ๆ วัดผลดำเนินงาน โดยลืมวิธีการสต็อคทางบัญชีไปก่อน อาจช่วยให้ค้นพบวิถีทางหลุดพ้นจากความพัวพันยุ่งเหยิง


เฮราคลิตุสกล่าวว่า "ไม่มีใครสามารถก้าวลงไปในแม่น้ำสายเดียวกันได้เป็นครั้งที่สอง"


ลองมองให้เห็นถึงสินค้าเดียวกันไม่ใช่สต็อคเดียวกัน แต่เป็นวงจร สั่ง > ซื้อ > ขาย ที่เกิดขึ้นรอบแล้วรอบเล่า เป็นสังสารวัฏ ชั่วกัปชั่วกัลป์



 

* Photo by ThaimaaOpas on Unsplash https://unsplash.com/@thaimaaopas


* อาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา https://www.youtube.com/watch?v=Hm5UnhD-mY8


* ทำไมท่านพุทธทาสจึงเน้นปฏิจจสมุปบาท https://www.youtube.com/live/xYSUTEgsLJg?si=bXdaBipTY5UHv4ZI


ดู 2 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page