ความรู้สึก สัญชาตญาณ ตรรกะ และการตัดสินใจ
คนที่ต้องบริหารควรรู้ปรัชญา
คนที่ต้องนำผู้อื่นควรรู้ปรัชญา
คนที่ต้องออกแบบก็ควรรู้ปรัชญา
รถไฟวิ่งมาตามรางด้วยความเร็ว
เบื้องหน้าเป็นทางที่รถไฟใช้ประจำ
มีเด็ก 5 คนเล่นอยู่โดยไม่ใส่ใจป้ายห้าม
มีทางเบี่ยงออกไปรางสายเก่าที่เลิกใช้แล้ว
มีเด็กอีกคนหนึ่งปฏิบัติตามป้ายห้าม
จึงเล่นอยู่บนรางสายเก่าที่ปลอดภัยนี้
ถ้า.. คุณเป็นผู้ควบคุมราง
ระหว่างชีวิตเด็ก 5 คนกับเด็ก 1 คน
คุณจะตัดสินใจสับรางเปลี่ยนทางหรือไม่
ถ้า.. คุณเป็นผู้ควบคุมราง
ระหว่างคนที่ละเมิด กับคนที่เชื่อฟัง
คุณจะตัดสินใจสับรางเปลี่ยนทางหรือไม่
ถ้า.. คุณเป็นผู้ควบคุมรถไฟ
ยังพอมีเวลาหยุดรถฉุกเฉินได้
แต่รถไฟก็มีโอกาสตกราง
คุณจะตัดสินใจหยุดรถหรือไม่
ผมมีโอกาสได้ฟังนักบัญชีคุยกัน เกี่ยวกับการพิจารณารายการในเอกสารจ่าย เพื่อบันทึกบัญชีซื้อ, ต้นทุน หรือ ค่าใช้จ่าย
บิลค่าน้ำแข็ง ของกิจการแห่งหนึ่งมีมูลค่าค่อนข้างสูง น้องที่ลงบัญชีจึงหยิบยกขึ้นมาถาม เพราะอาจเป็นสวัสดิการพนักงานที่ขอคืนภาษีได้ หรืออาจเป็นค่ารับรองลูกค้าที่ขอคืนภาษีไม่ได้
กรณีนี้บิลค่าน้ำแข็งเป็นต้นทุน หัวหน้าบัญชีวินิจฉัยให้ฟัง กิจการนี้ทำรับเหมาก่อสร้าง และนี่เป็นสวัสดิการให้คนงานที่ไซต์ ไม่ใช่สวัสดิการสำนักงาน ผมจับประเด็นมาได้ประมาณนี้ ส่วนคำอธิบายที่ยาวกว่านี้ เป็นเรื่องของหลักการทางบัญชีที่ค่อนข้างซับซ้อน
การเป็นผู้สังเกตการณ์อยู่ห่าง ๆ ช่วยให้เก็บรายละเอียดภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
แล้วผมก็พบว่า คนที่ต้องทำบัญชีก็ควรรู้ปรัชญาด้วย
ดูเหมือนคำว่า "ค่าน้ำแข็ง" นั้นไม่เพียงพอสำหรับคนคนหนึ่งที่จะตัดสินใจ ว่าควรจัดอยู่ในประเภทค่าใช้จ่ายใด แต่คำว่า "กรณีนี้" ของหัวหน้าบัญชีสังเคราะห์มาจากไหนกันแน่ เราไม่สามารถยึดถือคำตอบเพียงคำตอบเดียว ที่ยึดโยงกับเงื่อนงำหรือคีย์เวิร์ดโดด ๆ แค่ "ค่าน้ำแข็ง" โดยไม่ทำความเข้าใจกับเรื่องราวที่แวดล้อมอยู่
คำถามเกิดขึ้นในใจ สำหรับคนออกแบบที่มองไปที่ภาพใหญ่กระบวนการทำบัญชี ระหว่างหาคนที่ดูเอกสารแล้วบอกว่านี่คือ "ค่าน้ำแข็ง" กับคนที่สามารถวินิจฉัยได้ว่านี่คือ "ต้นทุน" อย่างไหนหาได้ง่ายกว่ากัน แน่นอนว่าผมคิดไปไกลกว่านั้นอีกว่า ถ้าเจออีกคนที่วินิจฉัยว่านี่คือ "ค่ารับรอง" เพราะการตีความ "กรณีนี้" อาจไม่เหมือนกันจะทำอย่างไร
ใครคิดตามทันบ้าง ผมขออธิบาย "กรณีนี้" ของผมให้ฟัง
โจทย์ของผมคิดถึงงานลงบัญชีให้กับกิจการที่หลากหลาย ที่ทะยอยประดังกันเข้ามาในเวลาไล่เลี่ยกัน สมมติว่าสัก 100 บริษัท การจัดการที่ผ่านมามักจะใช้วิธีแบ่งและมอบหมายกิจการให้คนรับผิดชอบลงบัญชี ซึ่งแต่ละคนก็จะต้องจดจำได้ว่ากิจการที่ตนเองรับผิดชอบแห่งนี้ มีข้อยกเว้น "ค่าน้ำแข็ง" เป็น "ค่ารับรอง" แต่ถ้าเป็นกิจการอีกแห่งเป็น "ต้นทุน" การเปลี่ยนมือกันทำหรือจ่ายงานให้คนอื่นไม่สามารถรับประกันได้ว่าเขาจะรู้ข้อยกเว้นนี้
หากเราแยกกระบวนการลงบัญชีตามข้อเท็จจริงที่เชิงประจักษ์ "ค่าน้ำแข็ง" คือ ค่าน้ำแข็ง โดยไม่ต้องตีความ เราสามารถหาคนมาช่วยกันลงบัญชีได้โดยไม่ต้องยึดติดกับกิจการที่ดูแล
การวินิจฉัยว่า "ค่าน้ำแข็ง" ควรจัดเป็นประเภทบัญชีอะไรของกิจการนั้น จึงเป็นขั้นตอนต่อไป ที่ต้องใช้คนที่เข้าใจบริบท "กรณีนี้" ของกิจการนั้น ๆ
มาถึงตอนนี้ผมมองกระบวนการลงบัญชี เหมือนการออกแบบโปรแกรม งานบางงานหากกระจายให้ CPU หลายตัวประมวลผลพร้อมกันได้ จะใช้เวลาสั้นกว่า แต่งานบางงานจำเป็นต้องวิเคราะห์ซับซ้อนใช้รีซอร์สมากให้ CPU ตัวเดียวทำงานเหมาะสมกว่า
งานที่ใช้ "ตรรกะ" สามารถออกแบบให้มีกฏเกณฑ์ชัดเจน หาก input A จะต้องได้ output B เสมอ เป็นงานที่สามารถเข้าใจและเรียนรู้ได้ง่าย จึงหาคนมาช่วยกันทำพร้อมกันได้ง่ายกว่า สำหรับคอมพิวเตอร์คืองานที่สามารถ coding ตามกฏเกณฑ์ที่จะมาแทนที่คนในเวลาอันใกล้
งานที่ใช้ "สัญชาตญาณ" เป็นงานที่อาศัยประสบการณ์ คนที่เคยเจอเงื่อนไขเช่นนี้มาก่อน จะตัดสินใจได้ดีกว่าคนที่ไม่เคย จึงขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่สะสมของแต่ละคน สำหรับคอมพิวเตอร์คือ machine learning ที่จะเรียนรู้และแม่นยำขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาทำงานแทนได้ในที่สุด
งานที่ใช้ "ความรู้สึก" เป็นงานที่อาศัยจินตนาการ ประสบการณ์ และการเชื่อมโยงจากสิ่งที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันเลย เหมือนผู้สอบบัญชีที่ดูงบการเงิน แล้วเห็นตัวเลข ดูตัวเลขรายได้ ค่าใช้ง่าย ดูงบปีที่แล้ว สามารถบอกได้ว่า งบปีนี้ตัวเลขผิดปกติ
ปรัชญา ทำให้เราพบว่า ไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียวสำหรับคำถามเดียวกัน ขึ้นอยู่กับ ตรรกะ สัญชาตญาณ และ ความรู้สึก มีอะไรอีกมากมายที่ไม่ได้อยู่ในคำถาม แต่กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้คำตอบที่ถูกต้องนั้นแตกต่างกัน บางครั้งเราจึงได้คำตอบที่จริงใจว่า "ก็แล้วแต่" จากผู้อาวุโส เมื่อไม่สามารถประเมินบริบทแวดล้อมของคำถามนั้นได้
Sep 2022 / Sathit J
Comments