"ตอนนี้การเปิดร้านบนแพลตฟอร์ม แทบไม่เหลือที่ว่างให้มือสมัครเล่นอีกแล้ว"
ความเห็นหนึ่งที่ผมสรุปให้ทีมฟังถึงสมรภูมิในประเทศไทย หลังจากที่ได้เปิดร้านบนแพลตฟอร์มแห่งหนึ่งมาเดือนกว่า ความตั้งใจแรกเพื่อทำความรู้จักระบบหลังบ้านในฐานะเจ้าของร้านค้าจริงๆ
พอเริ่มต้นจริง กลายเป็นว่าหากอยากจะขายออนไลน์นั้นมีรายละเอียดต้องใช้ความทุ่มเท อุทิศเวลาศึกษาทำความเข้าใจกฏเกณฑ์และกติกาต่างๆ ให้ดี (ทุกแพลตฟอร์มมีศูนย์การเรียนรู้ให้ค้นคว้า)
เนื่องจากแพลตฟอร์มทั้งหลายผ่านช่วงเวลาปรับปรุงมานานพอจนเรียกได้ว่าอยู่ตัว (mature) แล้ว ตอนนี้ไม่ใช่สนามซ้อมสำหรับผู้ขาย แต่เป็นเหมือนสนามรบที่ผู้รอดชีวิตได้ยาวนานจะต้องมีทักษะเอาตัวรอดสูง หรือมิฉะนั้นจะต้องมีกองทัพที่เพียบพร้อม
ร้านแรก
ร้านแรกสำหรับเจ้าของร้านมือใหม่เป็นเหมือนสนามฝึกหัด บางคนอาจโชคดีมีที่ปรึกษาให้คำแนะนำสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ หัดทำความคุ้นเคยกับคำศัพท์ที่ใช้บ่อย ทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างบทบาท ผู้ขาย ผู้ซื้อ ผู้ขนส่ง และแพลตฟอร์ม
ทักษะที่จำเป็นสำหรับเจ้าของร้านประกอบด้วย
1. ทักษะดิจิตัล
ทำอย่างไรจึงไม่ยืนงงหลงทางบนหน้าจอแอดมินตั้งค่าจัดการร้าน คำตอบคือ เข้าไปสำรวจให้ทั่ว เข้าไปดูส่วนต่างๆ เพื่อให้รู้ว่ามีฟีเจอร์อะไร สามารถเข้าไปตั้งค่าได้ตรงไหน
ควรฝึกใช้ทั้งโมบายแอป (มือถือและแทบเล็ต) และเว็บแอป (คอมพิวเตอร์) รวมไปถึงความสามารถในการสลับแอคเคาท์ที่ลงทะเบียนเป็นผู้ขายไว้ (หากมีหลายบัญชีในเครื่องเดียวกัน)
2. ทักษะบัญชีต้นทุน
ข้อดีของแพลตฟอร์มคือ มีบริการอำนวยความสะดวกมากมาย แต่ต้องแลกกับการโดนหักเปอร์เซ็นต์ยิบย่อย ขณะที่การตั้งราคาขายก็เผชิญการแข่งขันกับคู่แข่ง การรู้ต้นทุนทั้งหมดของตนเอง จะเป็นเงื่อนไขสำคัญเข้าใจขีดจำกัดตัวเอง ว่าควรใช้กลยุทธการขายอย่างไร มองเกมสั้นหรือยาว
3. ทักษะเรียนรู้ใหม่
ขณะที่ทักษะแรกเป็นพื้นฐานสำคัญที่ควรเชี่ยวชาญตอนเริ่มต้น และทักษะที่สองช่วยไม่ให้คุณสับสนเป้าหมายเมื่อเจอทางเลือก ส่วนทักษะที่สามนี้เป็นทักษะที่จะวัดว่าไปต่อได้ไกลแค่ไหน
เริ่มจากทำใจว่าการขายบนแพลตฟอร์มเหมือนทรงตัวอยู่บนกระดานโต้คลื่น ไม่อนุญาตให้หยุดพักที่จะเรียนรู้และพัฒนาทักษะเสริม เพราะคู่แข่ง, ลูกค้าและแพลตฟอร์มเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ความรู้ที่ต้องเรียนหลากหลายจะประดังเข้ามา การนำเสนอสินค้าบนแพลตฟอร์มทำอย่างไรดึงดูดความสนใจลูกค้า การตั้งราคาและตัวเลือกประกอบ เช่น ส่วนลด, ค่าขนส่ง แบบไหนได้ผลดีเสียอย่างไร การเข้าโครงการส่งเสริมการขาย และการเข้าร่วมอีเวนต์ต่าง ๆ ตามเทศกาล สร้างผลกระทบอย่างไร
นอกจากนี้ทางแพลตฟอร์มก็มี university เป็นแหล่งความรู้ที่อัพเดทให้ผู้ขายเรื่อยๆ รวมทั้งการเข้าร่วมกลุ่มผู้ขายออนไลน์ใน social ที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเรียนรู้
เมื่อถึงเวลาที่ต้นทุนทักษะเริ่มต้นไม่เพียงพอที่จะไปต่อ อาจต้องประเมินตัวเองว่าจะทำเป็นงานอดิเรก หรือต้องอุทิศเวลาจริงจัง
ขยายแนวรบ
ข้อดีของการเปิดร้านบนแพลตฟอร์มคือ แทบไม่ต้องลงทุนเริ่มต้น นอกจากลงทุนเวลาฝึกฝนทักษะ หลังจากที่ผ่านร้านแรกไปได้ด้วยดี เริ่มมองเห็นโอกาสเติบโต ก็จะได้เวลาคิดถึงการนำทักษะนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น
เพิ่มร้านในแพลตฟอร์มเดิม
อาจเพื่อแยกกลุ่มสินค้า หรือแยกกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีสไตล์ไม่เหมือนกัน เพื่อสร้างแบรนด์ร้าน กรณีนี้จะต้องมีคาถาแยกเงาพันร่าง แตกแอคเคาท์เงาและบริหารจัดการเสมือนเจ้าของร้านหลายคน
ขยายไปแพลตฟอร์มอื่น
แต่ละแพลตฟอร์มอาจมีข้อดีและข้อเสียบางส่วนไม่เหมือนกัน แต่ความรู้จากแพลตฟอร์มแรกมักเอาไปใช้เทียบเคียงกับแห่งต่อไปได้ ใช้เวลาในการทำความคุ้นเคยน้อยลง
อาจจะเรียก stage นี้ว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากเล็กเป็นใหญ่ ได้ลิ้มรสประสบการณ์ของการรับมือแบบแยกร่าง บางจังหวะอาจมีช่วงที่ทุกอย่างประดังเข้ามาพร้อมกันจนล้นเกิน ดังนั้นไม่ควรอยู่ในสถานะนี้นานเกินไป
ยอดขายที่เพิ่มขึ้นทำให้มีเรื่องต้องวางแผน 2 ด้าน ซึ่งนำไปสู่การขยายขั้นต่อไป
วางแผนเกี่ยวกับคน สร้างทีม แบ่งหน้าที่รับผิดชอบจริงจังมากขึ้น
วางแผนภาษี, สต็อค และเงินหมุนเวียน การรวมข้อมูลจากทุกร้านเข้าด้วยกัน คิดถึงระบบจัดการหลังบ้านของตัวเอง
สร้างกองทัพ
ประสบการณ์ที่ผ่านมาจะช่วยให้เข้าใจกลไกของแพลตฟอร์ม รูปแบบการทำงานแบบยืดหยุ่น คนเดียวทำได้หลายหน้าที่จะต้องเปลี่ยนไปเป็น ต้องมีคนช่วยกันทำงาน แบ่งกันรับผิดชอบงานเฉพาะส่วนเพื่อรับมือกับปริมาณที่เพิ่มขึ้น
ในขั้นตอนนี้เป็นช่วงที่วัดกันที่สร้างระบบ ลงทุนเครื่องไม้เครื่องมือสนับสนุนงานด้านต่างๆ ซึ่งหากทำตั้งแต่ตอนที่ยังเล็กจะไม่สามารถให้ผลลัพธ์ที่แตกต่าง เหมือนกับตอนที่ปริมาณงานมาก
นักวิทยาศาสตร์กำลังคิดถึงกองทัพรถถังที่ไร้คนขับ แต่เคลื่อนที่ไปได้ด้วยการควบคุมจากสถานีบัญชาการรบที่อยู่ไกลออกไป ด้วยวิธีการเช่นนี้ นายทหารคนหนึ่งสามารถปฏิบัติการรบได้ประดุจเล่นเกมคอมพิวเตอร์ War and Anti-War (Alvin Toffler)
ผู้จัดการร้าน
ร้านแต่ละร้านเปรียบเสมือนรถถังไร้คนขับ มีผู้จัดการร้านเป็นผู้ควบคุมปฏิบัติการ ตัดสินใจเลือกใช้กลยุทธการขายในร้านของตน สำหรับคนที่ชำนาญอาจดูแลร้านได้หลายร้านพร้อมกัน
เจ้าของร้านจะถอยมาดูภาพรวม รับบทบาทเป็นแม่ทัพ กำหนดนโยบายที่เป็นกรอบควบคุม เช่น การจัดสรรสินค้า การตั้งราคา ฯลฯ รวมถึงให้คำแนะนำจากประสบการณ์ของตน
ผู้จัดการร้านแต่ละคนอาจมีขอบเขตดูแลไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสไตล์ ความชำนาญ ความถนัด
ขณะที่เจ้าของร้านตัวจริงควรคิดถึงการเติบโตระดับปัจเจกของผู้จัดการร้าน ให้การสนับสนุนตามศักยภาพที่เหมาะสม มีระบบที่สามารถหมุนเวียนคนรุ่นใหม่มาทดแทนได้
ทีมจัดส่ง (แพคของ)
ปกติขอบเขตความรับผิดชอบของผู้จัดการร้านจะสิ้นสุดตรงเมื่อเกิดคำสั่งซื้อ ส่งต่อไปให้ทีมที่สอง กระบวนการขายจะสำเร็จเมื่อผู้ซื้อยืนยันว่าได้รับสินค้าเรียบร้อย
ทุกคำสั่งซื้อต้องแพคและบรรจุสินค้าตามมาตรฐานของแพลตฟอร์ม เช่น ห่อด้วยบับเบิ้ลกันกระแทนก่อนบรรจุลงกล่อง พิมพ์ใบปะหน้าติดที่กล่อง เพื่อรอส่งมอบให้ผู้บริการขนส่ง
กระบวนการจัดส่งสินค้าต้องแข่งกับเวลา ทำอย่างไรให้เร็วที่สุดและผิดพลาดน้อยที่สุด ความอลหม่านอาจเกิดขึ้นเมื่อมีปริมาณคำสั่งซื้อมากขึ้นจนเกินกำลัง
โครงสร้างของทีมจัดส่ง แบ่งเหมือนร้านค้า อาจพิจารณาตามความเหมาะสม แบ่งตามกลุ่มสินค้า แบ่งตามรอบจัดส่ง หรือปัจจัยอื่นๆ ที่อาจไม่เหมือนกัน
ทีมสนับสนุน
นอกจากงานขายและจัดส่งที่เป็นกิจกรรมหลักแล้ว ยังมีงานส่วนอื่นๆ ที่ช่วยให้ผู้รับผิดชอบงานส่วนนั้นไม่ต้องพะวักพะวง การมีทีมนี้อยู่ตรงกลาง และแชร์ทรัพยากรให้กับร้านทุกร้านจะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
สนับสนุนงานหน้าร้าน
เตรียมข้อมูลสินค้าสำหรับนำไปลงขาย จัดทำรายละเอียดสินค้า รวมไปถึงรูปภาพหรือวิดีโอของสินค้าซึ่งจำเป็นมากในการขายออนไลน์
สนับสนุนงานจัดส่ง
ดูแลสต็อคสินค้าให้สอดคล้องกับรอบการขาย วิเคราะห์แนวโน้ม วางแผนให้สอดคล้องกับการคาดการณ์ยอดขาย
จัดการสต็อควัสดุสิ้นเปลือง เช่น กล่องบรรจุขนาดต่างๆ แผ่นบับเบิ้ล เทปปิดกล่อง สติ๊กเกอร์ปะหน้า ฯลฯ
สนับสนุนอื่นๆ
จัดหาสินค้าใหม่ หมุนเวียนเข้ามาขายในร้าน เพื่อสร้างโอกาสใหม่ รวมไปถึงการหาสินค้าขายดีให้ได้ต้นทุนต่ำกว่าเดิม และเลิกขายสินค้าบางตัว
พันธมิตร
คือคนที่อยากขายของ แต่ไม่อยากเป็นผู้จัดการร้าน ปัจจุบันแพลตฟอร์มต่างมีตัวเลือก affliate program เปิดโอกาสให้ผู้อื่นแนะนำสินค้าในร้าน โดยทางร้านต้องจ่ายค่านายหน้า
สร้างระบบ
ระบบที่ดีจะช่วยให้สืบทอดงานต่อไปได้ โดยไม่ต้องยึดติดกับความสามารถของคนใดคนหนึ่ง แม้กระทั่งตัวเจ้าของร้านผู้ก่อตั้งก็มีวันเจ็บป่วย หมดสภาพ ต้องส่งมอบให้กับคนรุ่นต่อไป ระบบจะเป็นคำตอบว่า ทำไมทุกคนจึงควรช่วยกันทำตรงนี้ต่อไป แทนที่จะแยกย้ายไปทำกันเอง
นอกจากนี้ระบบที่ดีจะช่วยเพิ่มความสามารถในการขยายได้ง่ายกว่า โดยอาศัยคนทั่วไปที่มีความสามารถเฉลี่ยมาเสริมทีม ไม่ต้องพึ่งพิงความสามารถพิเศษ
ทุกวันนี้เมื่อคิดถึงการสร้างระบบที่ดี เรามักแยกไม่ออกกับการใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์ ช่วยเก็บข้อมูลและแบ่งปัน ความเร็วในการประมวลผลทำมีโอกาสที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มากกว่าการจดบันทึกหรือจดจำไว้กับใครคนใดคนหนึ่ง
ระบบสำหรับงานประจำ
งานประจำหมายถึงงานที่ทำซ้ำๆ บ่อยๆ ดังนั้นการออกแบบระบบที่ดีสำหรับงานประจำ จะเห็นผลแตกต่างชัดเจนที่สุด ทำอย่างไรงานที่ทำทุกวันจะ "ทำน้อยแต่ได้มาก"
บางครั้งอาจเป็นแค่เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เช่น ระบบหยิบสินค้า จะหยิบให้ครบทีละคำสั่งซื้อ หรือรวมจำนวนสินค้าที่ต้องหยิบก่อน แล้วค่อยเอามาแยกตามคำสั่งซื้ออีกที ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน
การสังเกตงานที่ทำอยู่ทุกวัน และตั้งคำถามว่า "จะทำให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร" จะนำไปสู่การพัฒนาระบบที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด
ระบบสำหรับวัดผล
ระบบที่ไม่สามารถวัดผล เปรียบเสมือนล่องเรือโดยไม่มีเข็มทิศ เหมือนขับรถโดยไม่มีเกจวัดค่าต่างๆ เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ก้ำกึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจแบบเสี่ยงโชค
การวัดผลจำเป็นต้องพึ่งพิงการเก็บสะสมข้อมูล และใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผล คำนวณตัวเลขที่สำคัญอยู่ 2–3 ค่า ได้แก่ ค่าต่ำสุด, ค่าสูงสุด และค่าเฉลี่ย
ความยากของการคำนวณอยู่ที่ "กรอบเวลา" ที่เหมาะสม วัน เดือน หรือปี ซึ่งกรอบเวลาที่ไม่เหมือนกันจะได้ตัวเลขไม่เหมือนกัน
ค่าที่คำนวณได้ ณ กรอบเวลาใด ๆ อาจไม่สามารถบ่งบอกอะไรได้มาก จนกว่าจะนำค่าของกรอบเวลาเหมือนกันในเวลาอื่นมาเปรียบเทียบ ทำให้เกิดค่าใหม่ที่เรียกว่า "ค่าความเปลี่ยนแปลง" เหมือนกับบอกว่า ตอนนี้คุณเดินทางด้วยความเร็วเฉลี่ย 100 กม./ชม. ไม่สามารถบอกว่าเร็วเกินไปหรือไม่ แต่ถ้าเมื่อ 5 นาทีที่แล้วความเร็วเฉลี่ยของคุณคือ 60 กม./ชม.
การเปรียบเทียบบอกให้รู้ว่า คุณกำลังเร่งความเร็ว เราสามารถคาดเดาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้มากมาย เช่น ความเร็วของคุณต้องเพิ่มขึ้นอีก คุณอาจเข้าสู่ทางด่วน หรือคุณอาจกำลังเร่งแซงรถคันอื่น
ค่าที่เกิดขึ้นแบบสม่ำเสมอ นำไปสู่นิยามของ "ค่าปกติ" และค่าที่แตกต่างเป็น "ค่าไม่ปกติ"
วัดผลมอนิเตอร์
เป็นการเฝ้าดูปัจจุบัน ใช้กรอบเวลาสั้นๆ เน้นความเร็วในการวัดผล เป็นเรียลไทม์ได้ยิ่งดี วัตถุประสงค์เพื่อใช้ประเมินสถานการณ์ที่ยังมีความผันผวน หรือการทดลองทำสิ่งใหม่ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ตอนเริ่มต้นอาจเป็นความผิดพลาดเล็กน้อย แต่หากปล่อยทิ้งไว้นานต่อไปอาจเสียหายมาก การมอนิเตอร์ช่วยให้สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาได้ทันท่วงที เหมือนกับการปล่อยให้รถเบนออกนอกเลนไปเรื่อยๆ จะนำไปสู่การคว่ำลงข้างทาง
ปัจจัยสำคัญอีกส่วนหนึ่งของการมอนิเตอร์ คือผู้เฝ้าดูและตัดสินใจแก้ไขเฉพาะหน้า
ภาพจากกล้องวงจรปิดไม่สามารถสะกัดกั้นผู้บุกรุกได้ หากคุณไม่มียามมาเฝ้าดู
วัดผลออดิเตอร์
เป็นการเรียนรู้อดีต ใช้กรอบเวลาที่ยาวกว่ามอนิเตอร์ ค้นหาความผิดพลาดที่ล่วงเลยมาแล้ว อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น นำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขระบบให้ดีขึ้น รัดกุมหรือมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
รายงานทางบัญชีเป็นตัวอย่างในมิติของเงิน ปกติแล้วกระบวนการออดิทจะเริ่มจากสังเกตเห็นความผิดปกติจากภาพใหญ่ เช่น ในงบเปรียบเทียบ 12 เดือน มีเดือนหนึ่งที่ตัวเลขผิดปกติ แล้วซูมเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดที่มาที่ไปเดือนนั้น ดังนั้นกระบวนการนี้จึงใช้เวลาที่ยาวนานกว่าจะได้คำอธิบายที่เป็นผลลัพธ์ นำไปสู่การตัดสินใจว่าจะต้องลงมือทำอะไร
ระบบสำหรับวางแผน
เมื่อธนูถูกยิงออกไป สิ่งที่คุณทำได้คือเฝ้าดูวิถีของมัน
การวางแผนต้องอาศัยข้อมูลจากอดีตเช่นเดียวกับการวัดผล ข้อแตกต่างอยู่ที่วัตถุประสงค์ของการเฝ้าดู "วิถี" แทนที่จะมองหาค่าปกติและไม่ปกติ
โดยเฉพาะค่าที่ไม่ปกติส่วนน้อยจะกลายเป็นคลื่นรบกวน (noise) ที่ถูกกรองทิ้งไป เมื่อนำไปใช้ทำความเข้าใจวิถี ซึ่งเป็นทิศทางของส่วนใหญ่ที่กำลังมุ่งไป
การวางแผนเริ่มต้นจากมีสมมุติฐานในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทำนายว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในอนาคต และสมมุติฐานก็เกิดจากการมองเห็นวิถีที่เชื่อมโยงมาจากอดีต
ศูนย์บัญชาการ
มาถึงจุดนี้ ผมเชื่อว่าบรรดาเจ้าของร้านบนแพลตฟอร์มกำลังมองหาสิ่งที่คล้ายกัน
เรื่องที่อยากรู้มากที่สุด
"ทุกวันนี้ขายของได้ ถูกแพลตฟอร์มหักไปเท่าไหร่?"
อะไรที่สามารถรวมข้อมูลจากแนวหน้า ร้านค้าในสังกัดทั้งหมด เพื่อสามารถวัดผลและวางแผนได้
อะไรที่สามารถส่งคำสั่งเพื่อควบคุมหรือสั่งการ ร้านค้าในสังกัดทั้งหมดได้
อะไรที่สามารถบริหารจัดการทรัพยาการส่วนกลาง ที่ใช้ร่วมกันได้
อะไรที่สามารถทำให้กลายเป็นระบบจนลดการพึ่งพาคน (และอาจกำลังฝันไกลถึง AI กับระบบอัตโนมัติไปแล้วก็ได้)
การออกแบบสร้างศูนย์บัญชาการมีรายละเอียดค่อนข้างมาก และยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา พอจะเล่าคร่าวๆ ได้ดังนี้
Data Source
เนื่องจากจุดตั้งต้นของกระบวนการขายเกิดขึ้นที่แพลตฟอร์ม ดังนั้นเวิร์กโฟลว์จึงแตกต่างจากระบบงานของธุรกิจทั่วไป ต้องพัฒนาท่อเชื่อมต่อข้อมูลกับแพลตฟอร์ม ซึ่งมีความเป็นได้ 2 แนวทาง
ใช้วิธีดาวน์โหลดไฟล์รายงานจากแพลตฟอร์ม
ใช้วิธีเชื่อมต่อผ่าน API ของแพลตฟอร์ม
Dashboard
เมื่อรวบรวมข้อมูลมาจากแพลตฟอร์มได้แล้ว ผลลัพธ์ที่ได้อย่างเร็วๆ คือ การสรุปตัวเลขจากร้านทั้งหมดมารวมอยู่ที่เดียว และนำไปสู่การทำโมเดลวิเคราะห์วัดผล
Accounting Sytem
ข้อมูลที่ได้สามารถนำมาใช้บันทึกเป็น transaction รายได้และค่าใช้จ่ายจากแพลตฟอร์มได้ สามารถใช้ทำงานต่อในงานบัญชี ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีหัก ณ ที่จ่าย
Integration
หากใช้การเชื่อมต่อผ่าน API จะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ เช่น สั่งอัพเดทรายการสินค้าจากส่วนกลางไปให้ร้านในแพลตฟอร์ม ฯลฯ
การประสานงานระหว่างระบบภายในกับแพลตฟอร์มจะทำแบบไร้รอยต่อ หรือเป็นอัตโนมัติมากขึ้น
หากมาถึงจุดนี้ เป้าหมายต่อไปของคุณอาจเล็งไปที่ดาวอังคาร..
อ้างอิง
Shopee Seller
university https://seller.shopee.co.th/edu/home
open platform https://open.shopee.com/
Lazada Seller
univeristy https://university.lazada.co.th/
open platform https://open.lazada.com/
Tiktok Shop
university https://seller-th.tiktok.com/university/home
partner center https://partner.tiktokshop.com/docv2/
Commentaires