top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนSathit Jittanupat

Risks in using cloud ERP


"ความเสี่ยงของการใช้ cloud ERP"

สัปดาห์หน้าผมมีนัดประชุม ไปเป็นตัวประกอบเฉยๆ เผื่อต้องให้ข้อมูลทางเทคนิคกับผู้ตรวจสอบภายนอก เกี่ยวกับโปรแกรมที่บริษัทแห่งหนึ่งใช้งานอยู่ เป็นการประเมินความเสี่ยงของระบบ ERP


ช่วงที่โควิดระบาดหนักเมื่อปีที่แล้ว มีข่าวความตายทุกวัน ความพลิกผันเกิดขึ้นง่ายดาย เมื่อคิดถึงความเสี่ยงคราวนั้นก็หวาดเสียว ถ้าหากสูญเสียคนที่เป็นคีย์สำคัญคนใดคนหนึ่งไปกระทันหันจะทำอย่างไร โชคดีที่ผ่านพ้นมาได้


โปรแกรม ERP สำหรับบริษัทขนาดกลางและใหญ่ ความแตกต่างอยู่ที่ขอบเขตการใช้งานและสัดส่วนการพึ่งพิง ถ้าวันหนึ่งโปรแกรมใช้งานไม่ได้ ยังสามารถดำเนินกิจการต่อได้หรือไม่ เป็นคำถามที่หลายคนไม่เคยประเมินจริงจัง


สมัยก่อน โปรแกรมอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ของบริษัท ใช้งานภายในเน็ตเวิร์กของตัวเอง เมื่อโปรแกรมใช้ได้ดีไม่มีปัญหาแล้ว บริษัทก็มีทางเลือกที่จะฟรีซแช่แข็ง ไม่แตะต้องเปลี่ยนแปลงใดๆ อีก การดูแลจึงอยู่ที่พยายามคงสถานะการใช้งานไว้ให้เหมือนเดิม ความเสี่ยงอยู่ที่การบำรุงรักษาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มากกว่าตัวโปรแกรม


พอมาเป็นรูปแบบ cloud ERP จะครอบคลุมเรื่องบริหารจัดการเซิร์ฟเวอร์ด้วย ตอบโจทย์ทั้งสองฝ่าย เพราะการหาเจ้าหน้าที่ไอทีระดับที่เชี่ยวชาญการดูแลเซิร์ฟเวอร์เองนั้นไม่ง่าย หากงานส่วนนี้ย้ายมาอยู่กับผู้ให้บริการจะมีความคล่องตัวและเกิดประสิทธิภาพมากกว่า


เมื่อมีประเด็นประเมินความเสี่ยงนี้ ทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ ว่านี่คือช่องว่างอันตรายสำหรับองค์กรใดๆ ที่พึ่งพิงการใช้โปรแกรม cloud ERP จากผู้ให้บริการภายนอกมากเกินไป เพราะความเสี่ยงของผู้พัฒนาโปรแกรม จะมีผลสะเทือนมาถึงบริษัทที่ใช้โปรแกรมนั้นด้วย


ส่วนหนึ่งของ "ช่องว่าง" เกิดจาก ผู้ให้บริการไม่สามารถบวกต้นทุนปกป้องความเสี่ยงนี้กับผู้ใช้ ยกตัวอย่างเช่น งานดูแลเซิร์ฟเวอร์ทั้งหมดใช้วิศวกรคนเดียวได้ แต่เพื่อป้องกันความเสี่ยงก็ควรจ้างวิศวกรอีกคน หรือหากจ้างคนที่เชี่ยวชาญน้อย ก็ต้องจ้างอย่างน้อย 3–4 คน เพื่อเรียนรู้งานจากวิศวกรอาวุโสคนเดียว หากทำเช่นนั้นอัตราค่าบริการก็จะต้องเพิ่มทวีคูณสูงเกินกว่าที่ผู้ใช้ยอมรับได้


อีกส่วนหนึ่งของ "ช่องว่าง" ก็มาจากผู้ใช้บริการ ที่มักละเลยไม่ให้ความสำคัญ สมมติว่ามีออปชั่นให้ซื้อประกันความเสี่ยง แล้วเลือกไม่เอาประกัน ซึ่งในความจริงบริษัทส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนั้น ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายที่เห็นผลชัดเจน มากกว่าต้องจ่ายเพิ่มกับค่าความเสี่ยงที่มองไม่เห็น ดังนั้นการโหวตของผู้ใช้บริการเอง เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้พัฒนาโปรแกรมยกเรื่องนี้มาอยู่ลำดับท้ายๆ ของสิ่งที่ต้องทำ


เรื่องสำคัญทางเทคนิคที่คนทั่วไปอาจไม่ทราบ โปรแกรมที่เป็น cloud นั้นจำเป็นต้องทันสมัยตลอดเวลา เนื่องจากอยู่ในโลกอินเตอร์เนต มีการพึ่งพิงโครงสร้างเน็ตเวิร์กที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก เมื่อมีปัญหาความปลอดภัย จะถูกบังคับให้โปรแกรมจะต้องอัพเดทเพื่ออุดช่องโหว่ บางกรณีหากไม่ทำก็จะกลายเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งจะเริ่มถูกบีบจากระบบที่แวดล้อมให้ตกรุ่นไม่รองรับการใช้งานอีกต่อไป ดังนั้นหากผู้ให้บริการหยุดดูแล แล้วคิดว่าจะเอาโปรแกรมไปติดตั้งเพื่อใช้งานต่อเอง โดยใช้วิธีฟรีซแช่แข็ง เหมือนกับโปรแกรมสมัยก่อนนั้นเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้จริง


การถามไถ่เพื่อประเมินสุขภาพของผู้ให้บริการอาจสำคัญกว่าที่คิด

การใช้โปรแกรม cloud ERP จึงเป็นการวัดดวงกับผู้ให้บริการภายนอก ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ขณะที่ผู้ให้บริการเองก็อาจไม่สามารถลงทุนเพื่อปกป้องความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ได้แต่วัดดวงกับโปรแกรมเมอร์ และวิศวกรที่รับผิดชอบ ให้ดูแลตัวเอง อย่าติดโควิด จนตายไปก่อนเวลาอันสมควร


ทางออกเพื่อรองรับความเสี่ยงนี้ มีหลายวิธี แต่ยังไม่เอามาเล่าตอนนี้น่าจะดีกว่า เพราะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของตัวผู้ประกอบการที่ไม่เหมือนกัน บางแห่งอาจใช้วิธีหนึ่งได้ แต่บางแห่งก็ต้องใช้อีกวิธี และที่สำคัญในฐานะผู้ให้บริการ ไม่สมควรเอ่ยขึ้นมาก่อน หากไม่ถึงวาระ


นึกดูแล้ว บางทีการประชุมคราวนี้ ถ้าผมไม่ได้พูดอะไรเลยน่าจะดีกว่า


May 2022 / Sathit J.

ดู 7 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Kommentare


Post: Blog2_Post
bottom of page