ช่วงเวลาใกล้สิ้นปี เรามักสมมติให้เป็นหมุดหมายสิ้นสุด ที่อนุญาตให้ตัวเองปล่อยวางสิ่งที่ยังค้างคา เพื่อที่จะรีเซ็ตเริ่มต้นกันใหม่ บางอย่างที่เคยรู้สึกว่าสำคัญมากก็อาจจะลดน้อยถอยลงเมื่อเวลาผ่านไปจนสามารถละทิ้งไว้เพียงแค่นั้น ขณะที่บางอย่างคุณค่าอาจเปลี่ยนไปก็มาทบทวนเพื่อสานต่อ
ปี 2024 ที่เพิ่งผ่านไป หากถามว่าอะไรที่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญบ้าง ให้นึกแบบเร็วๆ ก็คงเหมือนกับหลายคนคือ AI หรือกล่าวให้ชัด พัฒนาการอย่างรวดเร็วของ AI ส่งแรงกระเพื่อมให้หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตถูกเร่งจังหวะตามไปด้วย เป็นความเร็วใหม่ที่ไม่คุ้นเคยสำหรับคนที่เติบโตมาในโลกปัจจุบัน นำมาสู่ความปั่นป่วน โดยเฉพาะกระบวนการคิด ตัดสินใจและแก้ปัญหา วิธีการที่เคยใช้ได้ผลอาจไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป หมายความว่าภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมา จะต้องถูกนำกลับมาทบทวนวิเคราะห์ถึงเงื่อนไขหรือบริบทแวดล้อมที่ไม่เหมือนเดิม เพื่อตัดสินคุณค่ากันใหม่
เรื่องสำคัญต่อมาเป็นประสบการณ์ส่วนตัว คิดถึงสำนวนอาจารย์วีระ "ยมทูตมาเคาะประตูเรียก" สังขารที่เสื่อมถอยเริ่มส่งสัญญาณเตือนที่ชัดขึ้นแรงขึ้น จนกระทั่งเวลาชีวิตที่เหลือมักถูกนำมาคิดคำนวณร่วมกับเรื่องที่คิดกระทำมากขึ้น
"What brings you here will not take you there."
หลายครั้งที่ผมคิดถึงคำนี้ ความยากที่สุดสำหรับมนุษย์คนหนึ่งที่ผ่านชีวิต ถูกเคี่ยวกรำจนมีชุดความรู้ ความเชื่อ กลับต้องยอมจำนน เมื่อท่าไม้ตายที่มีสูญสิ้นความศักดิ์สิทธิ์
"อะไรที่พาคุณผ่านมาได้ อาจจะไม่สามารถนำคุณไปต่อ"
It is time to learn to go downhill
ตั้งแต่ปีก่อนหน้านั้นต่อเนื่องมาถึง 2023 ในฐานะโปรแกรมเมอร์ ความรู้สึก "เอ๊ะ" เริ่มผุดขึ้นมาบ่อยขึ้น เหมือนความรู้สึกคนที่วิ่งมาราธอนมาค่อนทางแล้ว ความเหนื่อยล้า อาการบาดเจ็บรบกวน ความคิดสองด้านต่อสู้กันครั้งแล้วครั้งเล่า
Eugene O'Kelly เล่าถึงการเตรียมชีวิตช่วงเวลาสุดท้ายของเขาใน Chasing Daylight ทำให้ผมคิดว่าน่าจะเริ่มต้นทบทวนอะไรบางอย่าง และหากจะดีไปกว่านั้นก็พยายามลากเส้นไปถึงเส้นทางที่เป็นไปได้ แล้วคิดอ่านว่าควรกระทำอะไรต่อจากนี้
เดินขึ้นเขาไปเรื่อย ๆ ณ จุดหนึ่งที่เริ่มคิดถึงการการเดินลง ตรงนั้นอาจเป็นระดับความสูงสุดของยอดแห่งความโง่ของคนคนหนึ่ง ผมเริ่มตั้งคำถามตัวเองตอนที่ยังมีเวลาก่อนแสงสุดท้ายของวัน
"จะใช้เวลาที่เหลือทำอะไร ตรงไหนคือระดับความสูงที่เหมาะสม"
Can't code anymore
"Can't code anymore" ไม่ใช่คำเสียดสี เมื่อถึงสถานการณ์หนึ่ง กลายเป็นความเต็มใจ กลายเป็นกลยุทธ สร้างความท้าทายใหม่ "เขียนโค้ดโดยไม่เขียนโค้ดอีกต่อไป" เป็นไปได้หรือไม่ เปลี่ยนจากทำสำเร็จด้วยตัวเองเป็นส่งมอบให้ผู้อื่น ฝึกวรยุทธสูงสุดของมือกระบี่ เหมือนที่ อากิก ตอบ อี้จับซา ว่า
"กระบี่ในมือของท่านก็คือกระบี่ของข้าพเจ้า"
Simon says
ตลอดช่วงชีวิตที่เติบโตมา เด็กส่วนใหญ่เล่นเป็นผู้ทำตามคำสั่ง เพราะในเกมมีไซมอนได้เพียงคนเดียว เราจึงไม่ค่อยได้คิดถึงการเป็นไซมอนที่ดี
ได้เรียนรู้ว่า ไซมอนที่ดีเป็นไม่ได้ง่าย ในชีวิตประจำวันเราพบเจอไซมอนอยู่ทุกหนทุกแห่ง หัวหน้า, เพื่อนร่วมงาน ไปจนถึงคนในบ้าน
ระยะหลังผมมักนึกถึงกุศโลบายนี้ ทำสำเร็จด้วยตัวเองยังท้าทายไม่เท่ากับทำโดยไม่ต้องลงมือ จุดเปลี่ยนที่สำคัญของคนคนหนึ่ง เมื่อพบว่าเรื่องนั้นใหญ่เกินกำลัง เรื่องนั้นใช้เวลานานกว่าเวลาที่เหลืออยู่ หากคิดกระทำภาระกิจให้สำเร็จ ทางเลือกจะเปลี่ยนไป จำเป็นต้องพึ่งพิงผู้อื่นผ่านการโน้มน้าวมากขึ้น
Can you train a fresh graduate worker to complete your specialized task?
สำหรับ AI model ดูเหมือนว่าไม่สามารถใช้ข้ออ้างที่เคยใช้กับพนักงานใหม่ ไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ หรือมีความรู้พื้นฐานไม่ดีพอ
ต่อจากนี้คุณค่าของพนักงานอาวุโส อาจไม่ใช่เพียงแค่มีประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มีมากกว่าผู้อื่น แต่ต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถ "สอนและสั่ง" ให้ผู้อื่นมีความสามารถทัดเทียมตนเอง กล่าวคือ ต้องเป็น "ตัวคูณ" ไม่ใช่เป็นแค่ "ตัวบวก" ที่เผลอ ๆ จะเป็น "ตัวลบ" หรือ "ตัวหาร" เมื่อเริ่มโรยรา
โดยเฉพาะเมื่อ "ผู้อื่น" ที่จะสอนหมายถึง AI ไม่ใช่มนุษย์ที่มีขีดจำกัดในการเรียนรู้ มีความสามารถสูงต่ำไม่เท่ากัน กลายเป็นมุมสะท้อนกลับไม่สามารถกล่าวโทษผู้อื่นนอกจากตัวเอง
Can you orchestrate the team to do great things?
คำถามต่อมา อะไรทำให้มีเพียงบางคนเท่านั้นที่สามารถชักนำให้เกิดผลอันยิ่งใหญ่นั้น ขณะที่คนอื่นทำไม่ได้
สิ่งนั้นเรียกว่า "ทักษะผู้นำ" ได้หรือไม่?
ผมตั้งข้อสังเกตว่า มนุษย์ยุคที่ผ่านมามักจะถูกทำให้เชื่อว่าเป็นคุณสมบัติพิเศษเฉพาะบางคน แนวคิดที่เข้มข้นน่าจะเริ่มจากยุคอุตสาหกรรม ที่ต้องการแรงงานที่เป็นผู้ตามที่ดีมากกว่าคนที่เป็นผู้นำ การออกแบบระบบการศึกษา วัฒนธรรมความเชื่อที่แบ่งแยกดีเลว จึงโน้มเอียงเพื่อประโยชน์ไปทางนั้น
ดังนั้นหากเชื่อว่าสักวันหนึ่งเราสามารถสร้างทีมโดยเลือก AI มาเป็นลูกทีม ทักษะของการคิดแบบผู้นำจึงจำเป็น รู้จุดอ่อนจุดแข็งของสมาชิกในทีม เลือกใช้งานตามบทบาทที่เหมาะสม ทำหน้าที่ควบคุมทิศทาง ผลักดัน แจกจ่าย ติดตาม ประสานเพื่อขับเคลื่อนทีมไปสู่เป้าหมาย
ในวันที่ AI ยังไม่พร้อม ผมเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองแต่เนิ่น ๆ ควรเตรียมตัวเองอย่างไรบ้าง หากสอนใครไม่ได้ สร้างทีมไม่เป็น ยังไม่ฝึกพื้นฐานวิธีคิดจัดการทีมที่ดี เมื่อถึงวันนั้นก็อาจไม่สามารถสร้างหรือออกแบบทีมจาก AI เช่นกัน
อ้างอิง
It is time to learn to go downhill
Can't code anymore
Simon says
Can you train a fresh graduate worker to complete your specialized task?
Can you orchestrate the team to do great things?
Comments