สำนักบัญชีเป็นธุรกิจ outsource ที่เก่าแก่ตั้งแต่คำนี้ยังไม่แพร่หลาย สมัยก่อนการทำบัญชีเป็นเรื่องของพ่อค้า หรือเจ้าของกิจการที่อยากรู้ความมั่งคั่งของตนเอง และมีความจำเป็นมากขึ้นเมื่อขายเงินเชื่อ ทำให้ต้องจดบัญชีลูกหนี้เพื่อติดตามทวงถาม
ผู้ที่ค้าขายขนาดเล็กและไม่มีลูกหนี้ จึงแทบไม่จำเป็นต้องทำบัญชี สามารถดูจากเงินที่ผ่านเข้ามาในแต่ละวัน ก็ประเมินว่าการค้าของตนเป็นอย่างไร
ป๋าเป็นลูกจีนอพยพมาโตในเมืองไทย ได้เรียนถึงป.4 มีสงครามโลกพอดี โรงเรียนหยุดสอน เด็กทุกคนได้ยกชั้น พอลูกต้องเข้าโรงเรียนป๋ากับแม่จึงย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ เปิดร้านขายของชำเล็ก ๆ ไม่มีความรู้บัญชี อาศัยคำแนะนำของผู้แทนที่ขายของให้ ใช้วิธีแบ่งเงินเป็น 2 กอง กองแรกเป็นเงินหน้าร้าน ส่วนที่ขายได้แต่ละวัน หลังจากปิดร้านก็นับแล้วจดลงสมุด แบ่งส่วนหนึ่งไว้เป็นเงินทอนติดเก๊ะตอนเปิดร้านวันรุ่งขึ้น ที่เหลือเอาไปรวมเป็นเงินหลังร้าน สำหรับจ่ายหนี้ค่าสินค้า ค่าน้ำ ค่าไฟ อื่น ๆ พอหลายวันถ้ามีเงินสะสมเหลือมากจึงเอาไปฝากธนาคาร
ทุกปีก็จะมีคนทำบัญชีแวะมาคุยกับป๋า สอบถามคร่าว ๆ เกี่ยวกับการค้าขาย แล้วบอกว่าจะยื่นเสียภาษีเท่าไหร่ ซึ่งเป็นเหตุการณ์เล็ก ๆ จนผมแทบไม่สังเกตเห็น บางปีก็จะมีเจ้าหน้าที่สรรพากรมาสอบถามที่ร้าน สำรวจว่ามีลูกจ้างกี่คน ดูสภาพร้าน จำนวนลูกค้า เพื่อประเมินภาษีที่ยื่นว่าเหมาะสมหรือไม่
เงินสด
สมัยก่อนการค้าส่วนใหญ่ใช้เงินสดทั้งรับและจ่ายเหมือนอย่างที่ป๋าทำ ได้รับเงินมาก็เก็บไว้กับตัวแล้วจ่ายออกไปตัดกันเองไม่มีหลักฐาน เงินที่เหลือจึงฝากธนาคารเป็นเงินเก็บ จึงไม่มีใครรู้กระแสเงินเข้าออกหากไม่ได้จดบัญชี
คนนอกไม่มีใครรู้ว่ารายได้ที่แท้จริงเท่าไหร่ ผู้รับทำบัญชีไม่รู้ สรรพากรก็ไม่รู้ ดังนั้นการยื่นและประเมินภาษีจึงใช้ตัวเลขกะ ๆ เอา สรรพากรก็อาศัยข้อมูลที่มีอยู่ในมือ ใช้สถิติจากธุรกิจที่คล้ายกัน ขนาดพอ ๆ กัน ยอดขายก็ควรยื่นภาษีไม่ต่างกันมาก เพราะไม่มีสมุดบัญชีให้ตรวจ
การยื่นภาษีสมัยนั้น จึงไม่ค่อยมีความเป็นบัญชีเท่าไหร่ คนทำบัญชีก็รู้ว่าสรรพากรประเมินอย่างไร ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน พยายามยื่นไม่ต่ำกว่าปีก่อน หากเศรษฐกิจดีก็เพิ่มขึ้นสักหน่อยไม่ให้น่าเกลียดเกินไป
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
นับตั้งแต่เปลี่ยนภาษีการค้าเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม การทำบัญชีเริ่มมีความจำเป็นมากขึ้น เพราะในแง่ของการไล่หลักฐานทางบัญชี สามารถกระทบมายันกันเป็นทอด ๆ ภาษีขายของกิจการแห่งหนึ่ง เป็นภาษีซื้อของอีกแห่งหนึ่ง
นักบัญชีส่วนใหญ่เข้าใจเรื่องนี้ดี รู้แล้วว่าเมื่อกิจการเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม การแต่งบัญชีให้ยอดขายต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ๆ เหมือนกับสมัยภาษีการค้าทำได้ยากขึ้น เพราะคุณจะโดนยอดซื้อจากภาษีซื้อยันอยู่ แถมยังมีรายงานสต็อคคงเหลือยันไว้อีกด้าน การกลบเกลื่อนหลักฐานใบกำกับภาษีไม่ให้มีพิรุธต้องเข้าใจวงจรการตรวจยันกันเช่นนี้ หากจะตรวจสอบจริง ๆ ก็สามารถตรวจจากรายงานภาษีขายของคู่ค้าที่เป็นผู้ที่ขายสินค้าใหญ่ให้คุณได้อีก
ผู้ประกอบการหลายคนยังเข้าใจผิดว่าอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วยังสามารถหลบภาษีได้ง่าย ๆ เหมือนสมัยก่อน ในยุคของภาษีมูลค่าเพิ่ม สรรพากรมีช่องทางตรวจสอบผลประกอบการได้แม่นยำกว่าเดิม นักบัญชีจึงต้องทำงานละเอียดมากขึ้น ยอดขายและยอดซื้อที่โดนบังคับยื่นผ่านภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือน เป็นหลักฐานที่ค้ำอยู่ไม่สามารถปั้นตัวเลขกะ ๆ ที่จะเสียภาษีปีละสองครั้ง แล้วค่อยเอาตัวเลขรายได้ ค่าใช้จ่ายมาเกลี่ยเหมือนสมัยก่อน
ออนไลน์
อินเตอร์เน็ตทำให้เกิดการค้ารูปแบบใหม่ ผู้ซื้อผู้ขายไม่ต้องมาเจอกัน เงินสดจึงเป็นวิธีชำระที่ไม่สะดวก ทั้งสองฝ่ายต้องการตัวกลางเป็นพยานรับรู้ธุรกรรมที่เกิดขึ้น บัญชีธนาคารจึงถูกใช้บันทึกหลักฐานการชำระเงิน ไม่ใช่เงินเก็บสะสม บางคนอาศัยการเดินบัญชีเป็นเหมือนสมุดรายวันขาย ใช้เก็บรายละเอียดการขายและชำระ รายการเงินเข้าบัญชีแต่ละยอดเทียบเท่ากับยอดขาย
ลูกค้าบางส่วนก็เริ่มเปลี่ยนไปใช้วิธีโอนเงินผ่านแอป เงินที่ผ่านเข้าบัญชี เปรียบเสมือนหลักฐานจดบันทึกยอดขายที่สามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะกิจการค้าปลีกที่ลูกค้ามักไม่ขอใบกำกับภาษี ก็จะตัวเลขเงินเข้าบัญชีนี้มาตรวจสอบแทน และสรรพากรก็ให้ธนาคารส่งรายงานบัญชีที่มีรายการรับโอนเกินปีละ 3000 ครั้ง หรือเงินเข้าเกิน 2 ล้านบาทจากการฝากหรือโอน 400 ครั้งขึ้นไป (กฏกระทรวง ฉบับที่ 355 พ.ศ.2562)
นักบัญชีเองก็งานเพิ่ม เงินเข้า-ออกธนาคารเป็นหลักฐานทางบัญชีที่ต้องพิสูจน์ที่มาที่ไป เป็นงานละเอียดกว่าตอนที่เป็นกองเงินสดที่เข้ามาแล้วออกไปแบบไร้ร่องรอย
นิติบุคคล
สำหรับคนทั่วไป การยื่นภาษีเป็นเรื่องที่ไม่มั่นใจว่าจะทำได้ถูกต้อง แม้กระทั่งนักบัญชีทั่วไปหากไม่พื้นฐานและติดตามประเด็นภาษี อ่านภาษากฏหมายในประมวลรัษฏากรแล้วตีความไม่ออก ก็อาจสับสนเมื่อมีประกาศใหม่ ๆ เกิดขึ้น
การยื่นภาษีเงินได้สำหรับผู้ประกอบการในปัจจุบัน มีหลักฐานที่เกิดขึ้นระหว่างทางมากมายที่ใช้สอบยันได้ ทำให้การสรุปยอดต่าง ๆ จำเป็นต้องทำอย่างละเอียดรอบคอบกว่าเดิม ไม่ต้องคิดถึงเรื่องหลบเลี่ยงภาษี เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พิรุธ แค่ทำให้ถูกต้องบางทีก็ยังยาก หากผู้ประกอบการไม่ระมัดระวังแยกธุรกรรมส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจออกให้ชัดเจน
ความเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ตามฉากทัศน์สังคมออนไลน์ที่กล่าวไว้ข้างต้น อีกไม่นานจำนวนผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาที่เลือกยื่นภาษีเหมาจะลดน้อยลง เหลือแต่ที่เป็นรายย่อยจริง ๆ
บุคคลธรรมดา หากขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม หรือรับชำระผ่าน QR code จะมีหลักฐานเงินเข้าบัญชี ทำให้ไม่สามารถแจ้งยอดขายต่ำกว่าความเป็นจริง
หากยอดขายภายในปีถึง 1.8 ล้าน จะโดนบังคับเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม นำไปสู่หน้าที่ต้องยื่นยอดขายและซื้อทุกเดือนผ่าน ภพ.30
บุคคลธรรมดา ที่เข้าเงื่อนไขยื่นภาษีแบบเหมา ไม่ต้องทำบัญชี ไม่ต้องยื่นภาษีรายเดือน จึงเป็นรายย่อยที่ยอดไม่ถึง 1.8 ล้าน สำหรับสำนักบัญชีเป็นเคสที่สามารถคิดค่าบริการได้มากนัก ยกเว้นเป็นผู้ที่ต้องวางแผนภาษีเป็นกรณีพิเศษ เพื่อดูแลไม่ให้ยอดขายเกินเกณฑ์
บุคคลธรรมดา เมื่อมีรายได้สูง เหมาจ่ายหักได้ไม่มาก ไหน ๆ ต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือนอยู่แล้ว ก็ต้องทำบัญชีเพื่อหักค่าใช้จ่ายตามจริง แต่ภาษีเงินได้อัตราก้าวหน้าของบุคคลธรรมดาสูงกว่าอัตราภาษีนิติบุคคล นำไปสู่การจดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อประหยัดภาษี
เมื่อเป็นนิติบุคคล มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ภงด.3, 53 เพิ่มเข้ามา เมื่อต้องจ่ายค่าขนส่ง ค่าบริการ ค่าเช่า ค่าโฆษณา
สำนักบัญชี
ผมคิดถึงสำนักบัญชีในฐานะผู้รับงานอิสระ วิชาชีพที่ดูแลบัญชีของกิจการในมิติภาษี ไม่ใช่บัญชีบริหารของกิจการใหญ่ นึกถึงกิจการขนาดย่อมที่เป็นธุรกิจครอบครัวหรือเจ้าของคนเดียว (เมื่อใดที่มีหุ้นส่วนหลายคนมักต้องทำบัญชีเพื่อความโปร่งใส) ปัจจุบันสามารถจดทะเบียนบริษัทโดยมีผู้ถือหุ้น 2 คนได้ (พระราชบัญญัติ ฉบับที่ 23 พ.ศ.2565)
ดังนั้นนอกจากผู้ประกอบการจะใช้บริการสำนักบัญชีเพื่อยื่นภาษีเงินได้ ซึ่งเดิมเป็นงานที่มีกำหนดปีละสองครั้ง อาจต้องการให้ช่วยยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม และภงด. ที่ยุ่งยากสำหรับผู้ไม่แม่นยำเรื่องภาษี
จากยุคเกษตรกรรมทำงานตามฤดูกาลเป็นชาวนาเกี่ยวข้าวปีละสองครั้ง เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมที่ต้องทำต่อเนื่องสม่ำเสมอโดยปริยาย เมื่อต้องรับงานยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม และภงด.
หากเจาะลึกถึงกิจกรรมระดับวัน ก็จะพบว่าแต่ละเดือนจะมีช่วงที่งานประดังเข้ามาพร้อมกัน ประมาณปลายสัปดาห์แรกไปจนถึงสัปดาห์สามของทุกเดือน
ความเป็นผู้รับงานอิสระแลกกับขีดจำกัดการเข้าถึงเอกสาร ต้องรอจนผ่านสิ้นเดือนไปแล้ว จึงได้รับเอกสารที่ผู้ประกอบการรวบรวมมาให้ ขณะเดียวกันก็มีกำหนดยื่นแบบทางอินเตอร์เน็ต ไม่เกินวันที่ 15 สำหรับภงด. หรือวันที่ 23 สำหรับภพ.30 เป็นเส้นตายที่ต้องเร่งสะสางให้จบ
นักบัญชีอิสระที่ใช้เวลาว่างนอกเวลางานประจำหรือทำงานคนเดียว จึงมีขีดจำกัดหากจำเป็นต้องเร่งทำให้ทันกำหนด ห้ามป่วย ห้ามหยุด ในช่วงสัปดาห์คับขันทุกเดือน บางคนจึงถอยออกมาให้คำปรึกษา ให้ผู้ประกอบการทำเอง รับแค่งานทำงบและยื่นภาษีเงินได้
ทางเลือกที่ดีที่สุดคือ การมีทีมหรือเครือข่าย เหมือนเซเปียนที่พัฒนาจากนักล่าโดดเดี่ยว มารวมกลุ่มช่วยกันล่าสัตว์ใหญ่ รูปแบบของสำนักบัญชี สามารถแบ่งหน้าที่ช่วยกัน กระจายความเสี่ยง มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น รับงานได้มากขึ้น รายได้ที่สม่ำเสมอทุกเดือน แต่ก็แลกกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และภาระการบริหารจัดการสำนักงาน
Outsource
เมื่อกล่าวถึง outsource ผมนึกถึงความเปลี่ยนแปลงของการส่งสินค้า ที่เคยเป็นต้นทุนของกิจการ เกิดขึ้นมาและเติบโตพร้อมกับการขายสินค้าออนไลน์ หากย้อนกลับไปนึกถึงสมัยก่อน การให้บริการส่งสินค้าเป็นเรื่องภายใน และเป็นข้อจำกัดของผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่สามารถแข่งขันกับรายใหญ่
โอกาสทางธุรกิจของ outsource เกิดจากผู้ประกอบการรายย่อย ไม่มีขีดความสามารถ หรือไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนเอง หรือทำเองแล้วแพงกว่า เช่น ไม่ต้องการลงทุนรถบรรทุกเพื่อขนส่ง หรือ ไม่สามารถจ้างพนักงานบัญชีที่มีความรู้
มีอะไรที่เหมือนและแตกต่างกันบ้างระหว่างผู้ให้บริการส่งสินค้ากับผู้ให้บริการยื่นภาษี
บริการขนส่งคิดค่าบริการตามปริมาณงานจริง แต่บริการบัญชีคิดค่าบริการเหมาเป็นอัตราคงที่ นักบัญชีอาจไม่เคยสงสัย (รวมทั้งลูกค้าด้วย) เพราะเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์
สมมติว่าหอพักเก่าแห่งหนึ่ง มีผู้เช่าอยู่จำนวนหนึ่ง เจ้าของคิดค่าเช่าเหมารวมค่าน้ำไฟเป็นจำนวนเงินเท่ากันทุกเดือน แล้วอยู่มาวันหนึ่งก็มีหอพักใหม่มาเปิด ทุกห้องมีมิเตอร์ไฟแยก เพื่อเรียกเก็บตามปริมาณที่ใช้งานจริง
การที่หอเก่าเลือกวิธีคิดค่าเช่าแบบเหมารวมก็ไม่ผิดอะไร เพราะข้อจำกัดไม่มีมิเตอร์แยกห้องตั้งแต่แรก ส่วนหอที่สร้างใหม่เลือกลงทุนระบบมิเตอร์แยกตั้งแต่แรกจึงทำได้
ผลจากมิเตอร์แยก ทำให้มีห้องให้เช่าพร้อมเครื่องปรับอากาศได้ และไม่ต้องมีข้อห้ามเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมาก เช่น เตาไฟฟ้า, ไมโครเวฟ ฯลฯ
ดังนั้น "มิเตอร์แยก" จึงไม่ใช่เพียงเครื่องมือที่ใช้คำนวณเพื่อแจ้งหนี้ แต่เป็นเครื่องมือที่ใช้ทะลายกรอบธุรกิจแบบเดิม ให้สามารถยืดหยุ่นคิดค่าไฟฟ้าตามใช้จริงได้
บริการขนส่งก็เช่นกัน ออกแบบให้มีระบบบันทึกรายละเอียดการจัดส่งทุกครั้ง เพื่อให้คิดค่าบริการตามงานที่ทำได้
ผมคิดถึงเรื่องนี้ พยายามตั้งคำถามแต่ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ บริการบัญชีสามารถมีอะไรที่เปรียบเสมือน "มิเตอร์แยก" ทำให้สามารถคิดค่าบริการตามปริมาณงานที่ลูกค้ารู้สึกว่าสมเหตุสมผลหรือไม่
โดยไม่มีทางเลือกเจ้าของหอพักเก่าก็ต้องทำตัวเหมือนคุณป้าเจ้าระเบียบจู้จี้จุกจิก ออกกฏห้ามโน่นห้ามนี่ ก่อนให้เช่าก็สัมภาษณ์ว่ามีอุปกรณ์ไฟฟ้าอะไรที่จำเป็นต้องใช้ในห้องบ้าง คอมพิวเตอร์, กาน้ำร้อน ฯลฯ เพื่อประเมินว่าหากให้เช่าจะต้องบวกเผื่อไว้หรือไม่
งานบัญชีทุกวันนี้ก็คล้ายกัน ก่อนรับงานพยายามสำรวจจากยอดขาย ประมาณจำนวนบิลขายที่เปิดต่อเดือน ประมาณบิลซื้อและค่าใช้จ่าย หากเป็นธุรกิจคล้ายกับที่เคยรับงานมาแล้วก็พอจะประเมินได้ง่าย หากเป็นธุรกิจที่ไม่เคยเจอก็คิดมากหน่อย
Trust
มองจากอีกด้านหนึ่ง อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการตัดสินใจใช้บริการจาก outsource แทนที่จะทำเอง เริ่มต้นต้องมีผู้ให้บริการรูปแบบนี้เกิดขึ้นมาก่อน แรก ๆ ผู้ประกอบการก็จะงง ๆ ในยุคพ่อผมและก่อนหน้านี้ มีแต่ธุรกิจที่ทำเอง บริหารและรับความเสี่ยงเอง
อยู่มาวันหนึ่งมีใครไม่รู้บอกว่าจะช่วยขายของและส่งของให้ลูกค้าทั่วประเทศ มีใครไม่รู้บอกว่าจะช่วยรับออเดอร์แล้วสั่งอาหารจากร้านคุณไปส่งถึงบ้านลูกค้า ถ้าคุณเป็นเจ้าของคุณจะรับหรือปฏิเสธ ผมคิดว่าตอนแรกคุณคงเริ่มจากพยายามทำความเข้าใจว่าเขาจะได้อะไร มีอะไรแอบแฝงหรือไม่ หากดูแล้วไม่เข้าใจ ก็จะหาข้อมูลที่มาที่ไป ประเมินความน่าเชื่อถือ
สมัยก่อนการมีส่วนร่วมแบ่งผลกำไรในธุรกิจ จะต้องอยู่ในรูปแบบของหุ้นส่วนหรือลงทุนร่วมกัน แต่วิธีคิดของ outsource เป็นการแบ่งความรับผิดชอบ และแบกรับความเสี่ยงตามขอบเขตที่ตนเองรับผิดชอบ ถ้าผมช่วยคุณขายได้มากขึ้นโดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม ผมควรจะได้ผลประโยชน์จากส่วนที่เพิ่มนั้นด้วย
สมมติว่ามีผู้ที่เชื่อว่าถ้าส่งสินค้าให้ลูกค้าทั่วประเทศด้วยต้นทุนไม่แพง สักวันหนึ่งจะช่วยเพิ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ได้ แต่ผู้ประกอบการก็อาจรู้สึกว่ากิจการของตนก็มั่นคงดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ไม่อยากเสี่ยงลงทุนเอง หรือคำนวณแล้วไม่สามารถแก้โจทย์ต้นทุน ดังนั้นผู้ที่จะเสี่ยงจึงต้องทำตัวเป็น outsource ที่ให้บริการกับผู้ประกอบการหลาย ๆ ราย เพื่อรวมจำนวนได้มากพอที่จะไปถึงจุด economy of scale
ในความเห็นของผม outsource mind เป็นระดับที่เหนือจาก freelance mind เราจะเห็นความร่วมมือมากมายที่เหมือนการรับจ้างโดยองค์กรหรือบุคคลภายนอก ไม่ว่า งานปิดงบยื่นภาษี ขนส่ง รักษาความปลอดภัย โฆษณา การตลาด รวมทั้งโปรแกรม ERP ที่ผมดูแลอยู่ด้วย โดยไม่ตั้งใจเราต่างสร้างกำแพงกั้น เพื่อเว้นระยะห่าง ไม่ต้องรับรู้สถานะทุกข์สุขของกันและกัน
อาจเป็นเพราะไม่รู้ว่าจะเชื่อใจกันได้อย่างไร Trust ไม่ได้เกิดขึ้นจากการร้องขอตั้งแต่เริ่มต้น แต่อาศัยระยะเวลาที่ร่วมงานกัน ดังนั้นการตัดสินใจ คนส่วนใหญ่จึงต้องวัดจากคุณสมบัติที่จับต้องได้ เช่น ชื่อเสียงของคีย์แมนและผู้สนับสนุน ภาพลักษณ์ขององค์กร ขนาด (ทุนจดทะเบียน, จำนวนพนักงาน) และลูกค้าอ้างอิง
Transparency is new Trust
ในโลกสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ผมเสนอหลักการทำงานร่วมกัน โดยไม่ต้องสร้าง Trust ด้วยคุณสมบัติข้างต้น แต่เป็นการลงทุนสร้าง framework สำหรับการเป็น outsource ที่ดี
<freelance> จ่ายงาน =[ ทำอะไรไม่รู้ ]=> ผลสำเร็จ
<outsource> จ่ายงาน =[ รายงานสถานะ ]=> ผลสำเร็จ
ปกติการให้บริการ เรามักเข้าใจว่าเป้าหมายคือผลสำเร็จของงาน ต้องทำให้สำเร็จจึงได้รับค่าจ้าง แต่วิธีคิดแบบใหม่ จะให้ความสำคัญของการรายงานสถานะการดำเนินงานด้วย
ผู้ให้บริการส่งสินค้ายุคใหม่ ลงทุนระบบ Track & Trace ซึ่งแลกมาด้วยขั้นตอนการทำงานที่มากกว่าเดิม ขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่รับสินค้า กระจายสินค้า ไปจนถึงส่งถึงปลายทาง พนักงานที่ปฏิบัติงานทุกคนต้องบันทึกสถานะงานส่วนที่ตนรับผิดชอบ
ความแตกต่างเมื่อเทียบกับรับจ้างส่งของทั่วไป เอาของขึ้นรถ รอจนส่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงนำหลักฐานการเซ็นต์รับของกลับมาคืน
หากคุณเป็นผู้ใช้บริการจะรู้สึกสบายใจกับบริการของใครมากกว่ากัน ระหว่าง A ที่เป็น startup แต่มีระบบ Track & Trace กับ B ที่มีชื่อเสียงเก่าแก่ แต่ไม่มีอะไรให้ตรวจสอบเลย
ERP 5.0
นานมาแล้วผมเคยเล่าเรื่อง ERP 5.0 โปรแกรมยุคต่อไปจะแบ่งเป็นระบบที่เป็นอิสระ พัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านนั้น สามารถเชื่อมต่อกันเพื่อใช้งานร่วมกันได้ ไม่ได้เป็นโปรแกรมใหญ่ที่ครอบจักรวาล บางโปรแกรมเก่งเรื่องควบคุมภายใน แต่ใช้บริหารงานขายไม่ได้ หรือโมดูล e-commerce ไม่เก่ง
เมื่อเอามาทาบทับกับภาพของโมเดลธุรกิจที่มีอินเตอร์เน็ตเป็นคีย์เทคโนโลยีสำคัญ ความรับผิดชอบที่เคยอยู่ในแผนก เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร อาจแยกออกมาใช้บริการโดยผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้นแทน การตลาด ขายออนไลน์ คลังสินค้า จัดส่ง และอาจรวมถึงงานบัญชี ไม่จำเป็นต้องอยู่ในออฟฟิศเดียวกัน แต่เป็นความร่วมมือแบบ outsource แทน
ที่จริงแล้วผมตั้งใจที่จะพาดพิงถึงโมเดลธุรกิจบัญชี ที่ยังขีดวงจำกัดตัวเองอยู่เท่าเดิม ไม่รู้ว่าจะเล่าอย่างไรให้เห็นภาพ จึงต้องอาศัยเทียบเคียงกับธุรกิจอื่นที่พอเห็นภาพลาง ๆ อยู่บ้างแล้ว บางทีคุณอาจแย้งมาว่าเป็นไปไม่ได้ อาจเป็นเพราะยังไม่มีใครตีโจทย์สิ่งที่เป็น "มิเตอร์แยก" ของสำนักบัญชี ผมเชื่อว่ามันจะมาพร้อมกับกรอบความคิดที่เปลี่ยนไปทั้งของผู้ใช้และผู้ให้บริการบางกลุ่ม กลายเป็นทางเลือกใหม่
อ้างอิง
กฏกระทรวง ฉบับที่ 355 พ.ศ.2562
การรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ
พระราชบัญญัติ ฉบับที่ 23 พ.ศ.2565
จดทะเบียนบริษัท 2 คนขึ้นไป
Comments