top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนSathit Jittanupat

Momentum Accounting

อัปเดตเมื่อ 1 ส.ค. 2565



"การบันทึกบัญชีเพื่อทำนายอนาคตของกิจการ"


คนเราเมื่อเรียนรู้เรื่องใหม่ มักใช้ความรู้เดิมเป็นฐานเพื่อต่อยอดไปสู่สิ่งใหม่ โปรแกรมเมอร์สายวิศวะอย่างผม เมื่อต้องเรียนหลักการบัญชี หลังจากมึนงงกับคำอธิบายเรื่อง ทรัพย์สิน หนี้สิน ทุน ในที่สุดกลับต้องใช้พื้นฐานเทอร์โมไดนามิกส์ เปลี่ยนคำว่า "พลังงาน" เป็น "เงิน" จนได้นิยามง่ายๆ ว่า "เงินไม่มีวันสูญหาย เพียงแต่เปลี่ยนสถานะ"


นักบัญชีใช้เครื่องมือที่เรียกว่า รหัสบัญชี เพื่อบันทึกการเปลี่ยนสถานะของเงิน ณ เวลาที่แตกต่างกัน ภายใต้กฏที่เหมือนกับเทอร์โมไดนามิกส์ เพียงแต่สมการง่ายกว่า ตั้งแต่ในระดับทรานส์แอคชั่น "เดบิตต้องเท่ากับเครดิต" ซึ่งมีผลทำให้ภาพรวมในระดับใหญ่เกิดดุลยภาพไปด้วยอัตโนมัติ ถ้าเอายอดของแต่ละรหัสบัญชีมาเรียงกัน เงินที่อยู่ภายในเอนโทรปีส์ของกิจการไม่มีวันสูญหาย สำแดงออกมาเป็น งบทดลองที่ต้องสมดุลย์ระหว่างเดบิตกับเครดิต


ในสายตาของคนสายวิทยาศาสตร์ รหัสบัญชีเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อแยกแยะสถานะ เช่นเดียวกับสปีซีส์ในอนุกรมวิธาน นักบัญชีคนแรกออกแบบชุดรหัสบัญชีขึ้นมาเพื่อใช้จัดหมวดหมู่สถานะของเงิน จนกระทั่งกลายเป็นมาตรฐานที่รับรู้ยอมรับกันโดยทั่วไป ไม่ต่างกับนักวิทยาศาสตร์ทุกคนเข้าใจคำว่า Homo Sapiens ตรงกัน เพียงแต่การออกแบบหมวดหมู่ของนักบัญชีนั้นกระชับและง่ายกว่ามาก สามารถใช้หลักของชุดตัวเลขนำหน้าเป็นตัวคุมหมวดหมู่และจัดเรียงในตัว


"เราลงบัญชี เพื่อสะท้อนสถานะของกิจการ" ผู้สอบบัญชีท่านหนึ่งเคยบอกผม เมื่อใดที่ไม่แน่ใจว่าควรบันทึกบัญชีอย่างไร ผมมักจะนึกถึงคำนี้ ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่จะตระหนักอีกคำหนึ่งในโลกแห่งความจริงว่า "คนเราควรแต่งตัวให้ถูกกาละเทศะ" เมื่อพบกับการบันทึกบัญชีที่ไม่จำเป็นต้องสะท้อนเรื่องทุกเรื่องให้กับคนทุกคน งบการเงินแต่ละงบขึ้นอยู่กับนักบัญชีเลือกว่าจะสะท้อนอะไรให้ใครด้วย และบางครั้งนักบัญชีก็จำเป็นต้องทำตามนโยบายผู้บริหาร จึงมีงบการเงินอย่าง เอนรอน ที่เป็นกรณีศึกษาในชั้นเรียน


นักลงทุนเมื่อต้องการวิเคราะห์ฐานะของกิจการ จึงไม่เชื่อเต็มร้อยกับตัวเลขที่สะท้อนมาในงบการเงินที่เป็นงบดุล และงบรายได้ แต่จะตรวจสอบความสอดคล้องกับ งบกระแสเงินสดอีกชั้นหนึ่ง เพราะการบันทึกกระแสเงินสดต้องสอดคล้องกับสเตทเมนท์ของธนาคาร ซึ่งเป็นหลักฐานจากภายนอก ผู้สอบบัญชีที่รัดกุมจะไม่ยอมให้การลงบัญชีส่วนนี้บิดเบี้ยว นอกจากผู้สอบบัญชีจะได้รับหลักฐานสเตทเมนท์ปลอมด้วย อย่างกรณีของ ไชน่า ไบโอติก


ผมเพิ่งรู้จักคำว่า "Triple entry accounting" จากแวดวงของบล็อกเชนมาก่อน หมายถึงการลงบัญชีที่ต้องอ้างอิงกับทรานส์แอคชั่นสาธารณะที่บันทึกไว้ในบล็อกเชน ซึ่งไม่สามารถปลอมแปลงได้ หลังจากนั้นจึงพบว่าคำนี้ เคยถูกใช้ในอีกความหมายหนึ่ง



ในที่สุดก็ลากมาเข้าเรื่อง "Momentum Accounting" ได้สักที


คำว่า "Triple entry" เคยถูกใช้มาก่อนแล้วตั้งแต่ปี 1986 (อ้างอิงจาก paper) โดยนักบัญชีชาวญี่ปุ่น Yuji Ijiri แต่เป็นคนละความหมายกับบล็อกเชน ที่ใช้ตรวจยันการบันทึกบัญชี เขามีความคิดว่า ตัวเลขทางบัญชีนอกจากแสดงสถานะการเงินปัจจุบันแล้ว ยังสามารถใช้ทำนายอนาคตได้ด้วย


ใช่ครับ แนวคิดการบัญชีสามขาของคุณยูจิ นั้นเรียบง่าย แค่เพิ่มช่องที่สามในรายงานการเงิน ที่แสดงตัวเลขความเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับงวดก่อน


ต่อไปนี้เป็นคำอธิบายตามความเข้าใจของผมนะครับ


สมมติว่าเรามีงบที่แสดงมูลค่าสต็อกคงเหลือ ณ ปลายงวด โดยทั่วไปในงบจะแสดงในช่อง เดบิต เช่น 100,000 บาท


คุณยูจิ บอกว่างั้นเพิ่มช่องเดลต้า เอายอดสต็อกคงเหลือของเดือนที่แล้ว​มาหักออก เพื่อให้เห็นส่วนต่างให้ผู้บริหารดูง่ายๆ ถ้าสต็อกคงเหลือลดลง ตัวเลขเดลต้าก็ติดลบ ถ้าติดลบต่อเนื่องกัน 3 เดือน จะแปลว่าอะไร ขึ้นอยู่กับผู้บริหารที่อ่านตัวเลขนี้


คุ้นๆ นะครับ นักเศรษฐศาสตร์คงนึกในใจว่าโธ่เอ๋ย ผมนึกขึ้นมาได้ว่า เวลาดูข่าวรายงานตัวเลขของธนาคารประเทศไทย คาดการณ์แนวโน้มระดับมหภาคต่างๆ จะมีตัวเลขดัชนีที่เป็นบวกหรือลบ เพิ่งเข้าใจความหมายของเดลต้า ที่ต้องมีคำกำกับเสมอ ว่าเมื่อเทียบกับ xxx


นักลงทุนเทคนิคัลที่ดูกราฟ Moving Average ก็คงร้องว่าโธ่เอ๋ย เพิ่งรู้เหรอ ผมไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องเดียวกันไหม แต่น่าจะใกล้เคียง เพราะเจตนาของคุณยูจิ บอกไว้ว่าช่องนี้เอาไว้ให้ผู้บริหารใช้ดูแนวโน้มของกิจการ เหมือนเส้นกราฟที่บอกแนวโน้มของราคาหุ้น


ทำไมการลงบัญชีแบบนี้ไม่ได้รับความนิยม ?


ประการสำคัญที่คิดออกมาเร็วๆ เพราะผู้บริหารไม่ใช้ การอ่านตัวเลขเดลต้าแล้วตีความ คงเหมือนกับการอ่านไพ่ทาโร่ต์ ไม่ได้อ่านเป็นกันทุกคน ความแม่นยำก็ต่างกัน อีกประการหนึ่งนักบัญชีก็ไม่อยากเพิ่มงานให้กับตัวเองโดยไม่จำเป็น จึงต้องขึ้นอยู่ปัจจัยที่เกื้อหนุนกันทั้งสองด้าน ผู้บริหารเห็นความสำคัญ และนักบัญชีพร้อมทำด้วย


ส่วนโปรแกรมบัญชีที่สนับสนุน Momentum Accounting ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ทุกวันนี้โปรแกรมเมอร์ยังงูๆ ปลาๆ อยู่เลย วันดีคืนดีก็หยิบเอามาเล่า เผื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ใครสักคนจะสนใจพัฒนาโปรแกรมบัญชีแนวใหม่ดูบ้าง


อ้างอิง

ดู 6 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page