รู้สึกไหมว่า เรื่องราวความเปลี่ยนแปลงต่างๆ รอบตัวเราหลั่งไหลเข้ามามากขึ้น และเร็วขึ้นเรื่อยๆ เหมือนคลื่นที่ถาโถมเข้ามาระลอกแล้วระลอกเล่า
จริงๆ แล้ว ความเปลี่ยนแปลงอาจไม่ได้เพิ่มจากเดิมมากนัก แต่เมื่อเราเชื่อมต่อโลกผ่านอินเตอร์เน็ต ทำให้เราได้รับรู้ความเปลี่ยนแปลงของทั้งโลก แทนที่จะอยู่ในแวดวงแคบๆ อย่างแต่ก่อน เรา (และทุกคน) สามารถรับรู้เท่าทันกันในเวลารวดเร็วกว่าเดิม ความเหลื่อมล้ำของการรับรู้สั้นลงเรื่อยๆ
เมื่อก่อนความเจริญคืบคลานเข้ามาสู่หมู่บ้านด้วยการตัดถนน แล้วตามด้วยการลากสายไฟฟ้าเข้าสู่ชุมชนกลายเป็นเมือง ปัจจุบันนี้ตึกแถวริมถนนที่เคยรุ่งเรืองกลายเป็นร้างเงียบเหงาเมื่อมีรถไฟฟ้าวิ่งผ่านข้ามหัวไป เช่นเดียวกับจังหวัดที่เคยเป็นทางผ่านจุดพักรถก็เงียบเหงาเมื่อเครื่องบินผ่านข้ามหัวไป การสื่อสารดิจิตัลก็ทำให้ก็ข้ามผ่านสิ่งที่เป็นมีเดียเก่าที่ต้องใช้ต้นทุนสูงกว่า ร้านอัดรูป ร้านเช่าวิดีโอ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เหล่านี้ต่างอยู่ในวัฏจักรขาลงที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
One time implementation
ชั่วเวลาเพียงไม่กี่ปี ที่ระบบสื่อสารเปลี่ยนจาก 3G เป็น 4G พร้อมกับความเร็วอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันอุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์ก็มีราคาถูกจนไม่ต้องกระเบียดกระเสียนแบ่งกันใช้อีกต่อไป เราได้เห็น หนังสือพิมพ์และโทรทัศน์เปลี่ยนไปทำช่องสื่อดิจิตัล ค่ายเพลงเปลี่ยนไปทำเครือข่ายเครื่องสำอางค์ เรื่องสำคัญที่เราควรเข้าใจคือ สำหรับกิจการใดๆ ก็ตามโมเดลธุรกิจเปลี่ยนแปลงได้ ธุรกิจแบบเก่าอาจตายไป และสร้างธุรกิจแบบใหม่เติบโตขึ้นมาแทน ขึ้นอยู่ว่าใครจะรู้สึกถึงกระแสความเปลี่ยนแปลงแค่ไหน และ องค์กรนั้น “พร้อม” เปลี่ยนเพียงใด
ผู้ประกอบการเมื่อซื้อเครื่องจักรจะลงทุนติดตั้งและเซ็ตอัพให้ทำงานตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ โปรแกรม ERP ในยุคสมัยแรกๆ ก็ถูกผู้ประกอบการมองเสมือนเครื่องจักร ลงทุนเพื่อซื้อมาและติดตั้งให้ใช้งานได้ตอนเริ่มต้น หลังจากนั้นก็แค่ดูแลซ่อมบำรุงอย่าให้ชำรุดหรือใช้งานไม่ได้ เพราะสมัยก่อนธุรกิจไม่ได้เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาอย่างปัจจุบัน
การซื้อระบบโปรแกรม ERP และติดตั้งเพื่อใช้งานยาวๆ โดยการจ่ายค่า maintenance ในอัตราต่ำ หากมีงานใหม่เพิ่มเข้ามาก็เจรจาต่อรองว่าจ้างเพิ่มกันเป็นเรื่องๆ ไป กลายเป็นข้อจำกัดเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็วในปัจจุบัน
บางครั้งผู้ประกอบการต้องการทดลองทำสิ่งที่ท้าทายใหม่ๆ มีไอเดียแต่ไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร วิธีการตั้งเป็นโปรเจกต์กำหนดกรอบหรือขอบเขตที่เป็นสเปคของงานไม่สามารถทำได้จริง การประเมินมูลค่าหรืองบประมาณของงานกลายเป็นเรื่องยาก ฝั่งคนทำงานก็ต้องเผื่อมูลค่างานส่วนที่เห็นว่ายังคลุมเครือเอาไว้ สุดท้ายจบลงที่ “โปรเจ็บ” ทั้งสองฝ่าย
Life long implementation
คำถามที่สำคัญคือ เราควรทบทวนบทบาทและความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการกับผู้พัฒนาระบบกันใหม่หรือไม่ ระยะห่างระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายในความสัมพันธ์แบบเดิม ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่ใส่ใจความเสี่ยงหรือความสูญเสียของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งในแง่ของเงินทองและโอกาส ต่างก็มองเห็นแต่ความคุ้มค่าในฝั่งตนเอง
ความหมายของ Life long implementation คือ ความคิดที่ว่าการพัฒนาระบบงานในองค์กรเป็นเรื่องที่ต้องกระทำไปตลอด มีไอเดียใหม่ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ต้องคิดต้องทำไปเรื่อยๆ ไม่อาจตัดจบเป็นโปรเจกต์โดดๆ แต่จะเปลี่ยนเป็นวัดผลความคืบหน้าตามช่วงระยะเวลา เช่น 3 เดือน หรือ 6 เดือน เพราะปัจจัยความสำเร็จขึ้นอยู่กับการประสานร่วมกัน ทำให้มาพบกันที่จุดนัดพบให้ได้ หากพนักงานยังไม่พร้อม หรือปัจจัยภายนอกไม่พร้อม ถึงแม้ว่าระบบจะพัฒนาขึ้นมาแล้วก็ต้องรอได้ โดยไม่มีใครต้อง “เจ็บ” เพราะเอาไปผูกกับเงื่อนไขตรวจรับงาน บางครั้งที่ระบบพัฒนาไปแล้ว จึงพบปัญหาที่ต้องรื้อเปลี่ยนแผนกันกลางทาง วิธีนี้จะช่วยให้เกิดความยืดหยุ่น และมุ่งไปที่เป้าหมายผลสำเร็จแทนที่จะเกี่ยงกันเรื่องขอบเขตของงาน
เงื่อนไขของผลตอบแทนก็จะเปลี่ยนไป มีทั้งการใช้อัตราค่าบริการ implement แบบรายเดือน โดยมีช่วงเวลาที่เปิดโอกาสทั้งสองฝ่ายสามารถทบทวนเพื่อปรับเปลี่ยนกันได้ เช่น ทุกรอบ 12 เดือน ข้อดีของวิธีนี้ช่วยให้ทดลองพัฒนางานตามไอเดียใหม่ๆ ได้สะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาต่อรองของบประมาณเพิ่ม นอกจากนี้หากไอเดียนั้นท้าทายมาก มองเห็นโอกาสที่มาพร้อมกับความเสี่ยง ฝั่งผู้พัฒนาเองก็ต้องทุ่มเทหรือลงทุนสูงด้วย อาจจะยกระดับความร่วมมือเสมือนเป็นหุ้นส่วน กลายเป็นเสี่ยงด้วยกัน หากสำเร็จก็มีส่วนแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน
สุดท้ายขอคัดลอกส่วนหนึ่งจากหนังสือวิชารู้รอบ เป็นสุนทรพจน์ของ พอล แกรม ผู้ร่วมก่อตั้งวายคอมบิเนเตอร์
การตัดสินใจว่าคุณชอบอะไรอาจดูเป็นเรื่องง่าย แต่แท้จริงแล้วมันยากเย็นมาก ส่วนหนึ่งก็เพราะเราไม่อาจหยั่งรู้ได้ว่างานงานหนึ่งประกอบไปด้วยอะไรบ้าง งานส่วนใหญ่ที่ผมทำในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีอยู่ตอนผมเรียนมัธยมปลาย ..ในโลกที่เปลี่ยนแปลงฉับไวเช่นนี้ การมีแผนตายตัวอาจไม่ใช่เรื่องฉลาดนัก
แต่ถึงอย่างนั้น ทุกเดือนพฤษภาคม ผู้กล่าวสุนทรพจน์จบการศึกษาทั่วประเทศต่างก็พูดถึงสิ่งเดียวกัน ประเด็นหลักก็คือ อย่าละทิ้งความฝัน ผมรู้ว่าพวกเขาหมายความว่าอย่างไร แต่นี่อาจไม่ใช่วิธีสื่อสารที่ดีที่สุด เพราะมันบอกเป็นนัยว่าคุณควรดำเนินตามแผนที่วางไว้ตั้งแต่แรกไม่เปลี่ยนแปร โลกคอมพิวเตอร์มีศัพท์เรียกการกระทำเช่นนี้ มันเรียกว่า premature optimization หรือการปรับเปลี่ยนให้เหมาะก่อนเวลาอันควร..
..แทนที่จะตั้งเป้าไว้แล้วเดินไปให้ถึง ลองเดินหน้าจากจุดที่ดูเป็นไปได้มากกว่า นั่นคือสิ่งที่ผู้ประสบความสำเร็จจำนวนมากปฏิบัติ
ในวิธีการแบบสุนทรพจน์จบการศึกษา คุณต้องตัดสินใจว่าอีก 20 ปีคุณอยากเป็นอะไร แล้วถามตัวเองว่า ตอนนี้ต้องทำอะไรเพื่อให้ไปถึงฝั่งฝัน ผมขอเสนอว่าคุณไม่ควรปักหลักกับความฝันใดในอนาคต แต่ให้ลองดูว่าปัจจุบันมีทางเลือกอะไรบ้าง แล้วเลือกทางที่จะให้ทางเลือกที่กว้างขวางและดูเป็นไปได้ที่สุดในภายหลัง
Sathit J.
Jan 2022
Comments