top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนSathit Jittanupat

How will you measure their work?

ปี 2022 นี้เป็นครั้งแรกที่ผมเริ่มครุ่นคิดอย่างจริงจังถึงเรื่อง DAO (Decentralized Autonomous Organization, ดูความหมายใน wiki) จากที่เป็นผู้ที่เคยเฝ้าดูห่างๆ บัดนี้เริ่มรู้สึกถึงกระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยี่ที่เป็นพื้นฐานในการพัฒนาอยู่ในระดับค่อนข้างพร้อมแล้ว เหลือแต่เพียงไอเดียที่หลากหลายของผู้สร้างระบบ และการรับรู้ของผู้คนที่จะกลายเป็นผู้เลือกสรรแนวทางที่เหมาะสมสำหรับพวกเขา ซึ่งต้องรอให้เวลาเป็นผู้คลี่คลายเฉลยคำตอบที่ถูกต้อง แต่เชื่อเถอะว่า ลมแห่งความเปลี่ยนแปลงจะพัดเร็วและแรงกว่าสมัยก่อน ไม่ต้องใช้เวลาชั่วอายุคนเหมือนการเปลี่ยนยุคเกษตรกรรมกลายเป็นอุตสาหกรรม



Remote Working

ผลจากการระบาดของโควิด ที่กินระยะเวลายาวนานกว่า 2 ปี และไม่รู้ว่าจะกลับมาปกติได้เมื่อไหร่ จากเดิมที่คิดว่าเป็นเรื่องชั่วคราว มาปีนี้ผู้ประกอบอาจจะต้องทบทวนใหม่ พิจารณาเรื่อง Remote Working กันจริงจัง ซึ่งหมายความว่า ต้องรื้อและออกแบบกระบวนการทำงาน (Process) กันใหม่ เพื่อใช้ศักยภาพของออนไลน์ที่แตกต่างจากออฟไลน์ ซึ่ง Workflow หลายๆ อย่างจะต้องเปลี่ยนไป และเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยที่ปรึกษาวางระบบที่เชี่ยวชาญ ทีมสนับสนุนที่ช่วยพัฒนาทักษะใหม่ให้พนักงาน ไม่ใช่แค่ใช้โปรแกรมคลาวด์ หรือแจกโน๊ตบุ๊คให้พนักงาน เพื่อประชุมออนไลน์


เรื่องเล่าจาก FB Nuttaporn Voonklinhom

Routine Jobs

เหรียญมีสองด้าน สำหรับผู้ที่คิดว่านี่เป็นเรื่องเหลวไหล หรือยากลำบากเกินไป เขากำลังมองเห็นแต่ด้านของ Non Routine Jobs ซึ่งเป็นงานที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน ดูเหมือนว่าเงื่อนไข A บางครั้งต้องทำ B แต่บางครั้งต้องทำ C ต้องอาศัยวิจารณญาณของผู้ที่สามารถรับผิดชอบตัดสินใจให้ จนไม่สามารถออกแบบให้เป็น Remote Working ได้


ดังนั้นเราต้องตอบคำถามสำคัญให้ได้ก่อนว่า องค์กรมี Routine Jobs หรือ Non Routine Jobs มากกว่ากัน เราควรเริ่มจากด้านของ Routine Jobs ที่มี Workflow ชัดเจนก่อน เมื่อมีความชำนาญ เมื่อคนในองค์กรเข้าใจและปรับตัวได้ รวมทั้ง Non Routine Jobs บางทีเมื่อทำไปนานพอ ก็จะเริ่มมองเห็นว่าเงื่อนไข A จริงๆ แล้วอาจมีบริบทที่แยกได้เป็น A1 กับ A2 เมื่อนั้นก็สามารถหาทางแปรเปลี่ยนให้เป็น Routine Jobs ได้



Decentralization

เดิมแต่ละองค์กรจะมีการแยกสำนักงานหรือกระจายงานตาม Physical Location เช่น สาขา หรือ คลังสินค้า ซึ่งโปรแกรมและเทคโนโลยี่ในปัจจุบันสามารถรองรับได้อยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกโปรแกรมคลาวด์ที่ใช้งานออนไลน์ได้ จะรองรับโครงสร้างองค์กรแบบนี้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบของโปรแกรมนั้นๆ ด้วย และขึ้นอยู่กับการออกแบบกระบวนการทำงาน (Process) ของธุรกิจนั้นๆ ด้วย

บางธุรกิจมีสาขาเป็นการทำงานเอกเทศเหมือนบริษัทเดี่ยวทั่วไป สามารถใช้โปรแกรมที่ไม่ต้องรองรับการทำงานที่ซับซ้อน มีเพียงแค่งานทางบัญชีที่รวมยอดเพื่อปิดงบการเงินเท่านั้น (Consolidation) ซึ่งไม่ใช่งานที่ทำทุกวัน


แต่บางธุรกิจมีธุรกรรมภายในที่ต้องปฏิสัมพันธ์ระหว่างสาขาด้วย เช่น โอนสินค้าระหว่างสาขา หรือส่งออเดอร์ข้ามสาขา หรือรับชำระเงินข้ามสาขา หรือมีทรัพยากรบางอย่างที่แชร์กันอยู่ เช่น แผนกจัดส่ง หรือ แผนกคลังสินค้า ก็จะต้องพิจารณาให้ดีว่าโปรแกรมไหนสามารถทำได้บ้าง


ช่องทางการขายยุคใหม่อย่างตัวแทนขายออนไลน์ (Drop Shipping) เสมือนมีสาขาใหม่เพิ่มงอกมาในผังองค์กร แม้แต่การใช้บริการภายนอกขนส่งหรือคลังสินค้า (Outsource Fulfilment) ก็เช่นกัน

แต่.. ที่กล่าวมาทั้งหมด หน่วยงานที่แยกออกไปก็ยังทำงานในลักษณะที่จบในตัวเอง เหลือแต่ส่วนที่จำเป็นต้องติดต่อกับหน่วยงานอื่น เป็น Decentralization ระดับ 1 ที่เชื่อมโยงระหว่างออฟฟิศ เนื่องจากความจำเป็นของ Physical Location


ดังที่กล่าวมาแล้ว จากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนทุกวันนี้ หากเชื่อว่าแนวโน้มของภาคธุรกิจจะมุ่งไปสู่ Remote Working ก็ต้องลืมคำว่า “ทำไม่ได้” หรือ “เปลี่ยนไม่ได้” บางเรื่องที่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็เป็น Remote Working อยู่กลายๆ แล้ว เพียงแต่ไม่ได้เข้มข้นลงลึกในระดับต่อไป เพิ่มระดับจากสาขา ย่อยมาเป็นระดับแผนกไม่ต้องเข้าออฟฟิศก็ทำงานประสานกันได้ ย่อยมาเป็นระดับทีมไม่ต้องเข้าออฟฟิศก็ทำงานประสานกันได้ สุดท้ายคือระดับบุคคลไม่ต้องเข้าออฟฟิศ



Decentralized Organization

ความหมายที่บอกว่าระดับย่อยสุดท้าย คือระดับบุคคล ไม่ได้หมายความถึงการที่คนใดคนหนึ่ง Work From Home ได้ แต่หมายถึงการสลายโครงสร้างองค์กร ที่เคยแบ่งเป็นสาขา เคยแบ่งเป็นแผนก หรือ เคยแบ่งเป็นทีม เพื่อง่ายต่อการปกครองดูแลหรือบริหารจัดการ แต่เมื่อเป็น DO ขั้นย่อยสุดท้าย แต่ละคนต้องรับผิดชอบตัวเอง ไม่ต้องมีใครปกครองใคร


สมมติว่าเรามีพนักงานที่คีย์ออเดอร์ของสาขา ก เมื่อเปลี่ยนมาเป็น Remote Working ความเป็นสาขาก็จะหายไป พนักงานคนนั้นอาจคีย์ออเดอร์ให้กับสาขาไหนก็ได้ กลายเป็นว่าหน้าที่สำคัญขององค์กรคือ พัฒนาทักษะให้พนักงานสามารถทำงานออนไลน์ได้หลากหลายกว่าเดิม


การส่งมอบงานแต่ละขั้นตอนในออฟฟิศทุกวันนี้ มีแนวคิดอยู่ 2 แบบ ผู้ที่ทำงานเสร็จต้องรับผิดชอบ “ส่งมอบ” งานไปให้ขั้นตอนต่อไป เรียกว่า Push To Work อีกแบบหนึ่งคือ ผู้ที่รับผิดชอบขั้นตอนต่อไป “คอยดู” ว่ามีงานเสร็จออกมาหรือไม่ เรียกว่า Pull To Work


ทีนี้เราลองมาจินตนาการการทำงานที่ไม่ได้นั่งทำงานอยู่ใกล้กัน ไม่อยู่ในตึกเดียวกัน หรือพื้นที่ออฟฟิศเดียวกัน การแวะเวียนไปมาหาสู่เพื่อการส่งมอบหรือตามงานที่เคยทำได้ง่ายๆ ก็กลายเป็นเรื่องติดขัด

คำว่า “ส่งมอบ” ในสมัยโบราณหน้าแผนกจะมีตระกร้ารับงานวางไว้ให้แผนกอื่นเอางานมาส่ง หากเป็น Remote Working เราก็อาจจะออกแบบให้เป็นกลไกการส่งข้อความแจ้งเตือน (Notification) แทน ปัจจุบันนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ใดๆ ใครที่เคยสั่งอาหารผ่าน App หรือซื้อของออนไลน์ ก็คงพอเข้าใจประสบการณ์นี้ได้


ส่วนคำว่า “คอยดู” โดยทั่วไปจะพึ่งพิงระบบคอมพิวเตอร์กันมากกว่า ถึงแม้จะอยู่ในออฟฟิศเดียวกัน แทนที่จะเดินไปดูตระกร้าออกแผนกอื่น หรือโทรไปทวงถาม ก็จะน่าจะใช้กลไก Monitoring ไม่ว่าจะเป็น Real Time Dashboard หรือ การเรียกรายงานในลักษณะของ Todo List เพื่อเคลียร์งานเป็นรอบๆ




Earn Sharing

ขั้นกว่าของ Remote Working ในช่วงถัดไป ที่อาจจะเกิดขึ้นหากเงื่อนไขต่างๆ เหมาะสม เมื่อองค์กรสามารถพัฒนาทักษะให้ใครก็ได้มาทำงานแทนกันได้ ลดความเสี่ยงที่จะพึ่งพิงคนใดคนหนึ่ง เงื่อนไขการจ้างงานอาจเปลี่ยนไป การวัดความขยันไม่ใช่วัดจากหน่วยเวลา แต่กลายเป็นจำนวนงานที่แต่ละคนทำได้จริงๆ ใช่ครับ! ต่อไม่จะไม่เหมาจ่ายรายเดือน รายวัน หรือรายชั่วโมง แต่เป็นการคำนวณจากจำนวนงานที่ทำ กลายเป็นโมเดลของ Platform ที่จับคู่ Process กับคนที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนต่างๆ ลองนึกภาพโมเดลของ Food Delivery ทุกวันนี้ แต่ละ Transaction ของการสั่งอาหาร จะแบ่งให้กับคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับ Transaction นั้น


แต่ก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดก่อนกัน ระหว่างระบบงาน Remote Working ขององค์กรกลายเป็น Platform กับพนักงานประจำกลายเป็น Freelancer เมื่อการทำงานของคนๆ หนึ่งไม่จำเป็นต้องแสดงตัวอยู่ที่ออฟฟิศ ไม่มีเวลาเข้างาน ไม่มีเวลาออกงาน แต่จะดึงงานไปทำเมื่อมี Notify เข้ามา ดังนั้นเขาสามารถใช้เวลาที่ไม่มีงานไปทำอย่างอื่น อาจจะทำงานบ้าน พักผ่อน หรือแม้แต่รับทำงานที่เป็น Remote Working จากบริษัทอื่นก็ได้


เรื่องนี้อาจเป็นการคาดเดาที่ผิดเพี้ยนก็ได้ และไม่อาจลงลึกในรายละเอียดได้มาก จนกว่าเราจะเห็นวิถีของ Remote Working ได้ชัดเจนกว่านี้


Automation

ขั้นสูงสุดของ DO ในยุคถัดไป คือ สลายคน การพัฒนาทักษะคนจะถูกแปลงเป็นโค้ด สอนให้คอมพิวเตอร์ทำงานแทน องค์กรจะเหลือคนไว้เพื่อ Monitor หรือรับมือกับ Non Routine Jobs งานที่ผิดปกติ ที่คอมพิวเตอร์ไม่รู้จัก ทำไม่เป็น และคนเหล่านั้นก็อาจไม่ใช่พนักงานประจำแต่เป็น Freelancer ส่วนงานที่เป็น Routine ที่เคยใช้คนก็จะให้คอมพิวเตอร์ทำแทน กลายเป็น Distributed Autonomous Organization


Blockchain

เพราะมี Blockchain จึงต่อยอดมาเป็น Smart Contract แล้วต่อยอดมาเป็น DAO ซึ่งเป็นไอเดียเริ่มต้นจากปัญหาของ Startup สายเทคโนโลยี่รุ่นใหม่ที่มีไอเดียล้ำมากๆ แต่ยังเป็นหน้าใหม่ในวงการธุรกิจ ไม่สามารถระดมทุนได้ เพราะไม่สามารถพิสูจน์ให้นักลงทุนเชื่อถือได้ จึงต้องใช้ Smart Contract เป็นกลไกควบคุมสำคัญ กำหนดเงื่อนไขการเบิกค่าใช้เงินทุนและแบ่งปันรายได้ หากไอเดียนั้นสำเร็จกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายได้ รายได้จะเข้ามาผ่านบัญชีของ Smart Contract ที่ทำหน้าที่แจกจ่ายต่อไปตามเงื่อนไขนั้นอัตโนมัติ


ส่วนเรื่องเล่า DAO สำหรับองค์กรในมุมมองของผม ไม่ได้เกิดจากปัญหาต้องการทุนหรือขาดความน่าเชื่อถือ ดังนั้น Smart Contract จึงไม่ใช่คีย์เวิร์ดสำคัญ แต่เกิดจากความเชื่อที่เป็นธีมหลักว่า ธุรกิจจะต้องปรับเปลี่ยนให้เป็น Remote Working มากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดผลตามมาคือ พนักงานที่ทำงานแบบ Remote สามารถบริหารจัดการเวลาของตนเองมากขึ้น ก็จะปรับเปลี่ยนเป็นทำงานไม่ประจำ แต่หลากหลาย ผลที่ตามมาคือ ฝั่งธุรกิจก็จะเริ่มมีสัดส่วนการจ้างพนักงานไม่ประจำมากขึ้น จนวันหนึ่งอาจจะตั้งคำถามว่า องค์กรสามารถดำเนินธุรกิจโดยไม่ต้องมีพนักงานประจำได้หรือไม่ เมื่อนั้นองค์กรอาจพัฒนารูปแบบการทำงานของตนเองไปจนสุดทางกลายเป็น DAO


January 2022

Sathit J

ดู 1 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page