top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนSathit Jittanupat

Hissatsu Waza ท่าไม้ตาย

อัปเดตเมื่อ 20 พ.ย. 2565




ในยามคับขัน คุณมีวิธีจัดการเรื่องราวที่ถาโถมเข้ามาอย่างไร


คนที่ผ่านช่วงคับขันนั้นมาได้ จะพบว่าไม่ใช่ "โชค" แต่เป็น "ท่าไม้ตาย" ที่ตัวเองมี


Hissatsu Waza เป็นคำญี่ปุ่น หมายถึง ท่าไม้ตาย กระบวนท่าที่ใช้พิชิตศึก


ปิดงบ มักเป็นงานคับขัน ที่เกิดขึ้นทุกปี


หลายเดือนมานี้ ผมพยายามรวบรวมเทคนิคการตรวจปิดงบบัญชีจากผู้มีประสบการณ์หลายคน มีรายละเอียดคล้ายกันบ้าง ต่างกันบ้าง แต่ที่สังเกตเห็นได้ แม้แต่คนที่ทำงานร่วมกันมายาวนาน ก็มีวิธีการแตกต่างกัน


หนุ่มเมืองจันท์ เคยบอกว่า "ทุกคนมีท่าไม้ตายของตัวเอง" หากจะคาดเดาว่าเขาจะตัดสินใจอย่างไร ให้ดูเหตุการณ์ในอดีตว่าคนนั้นเคยจัดการปัญหาด้วยวิธีไหนบ้าง แล้วเราจะพบท่าไม้ตายของเขา


ตัวละครของกิมย้ง ต๊กโกวคิ้วป้าย แสวงหาความพ่ายแพ้ เมื่อพิชิตคู่ต่อสู้ทั่วทั้งแผ่นดินก็รู้สึกเบื่อหน่าย จึงเปลี่ยนกระบี่เพื่อคิดค้นท่าไม้ตายใหม่ คนที่ชนะแล้วยังอยากพัฒนาตัวเองขึ้นไปอีกมีอยู่จริงแค่ไหน


มีเรื่องเล่าถึงคนเคยใช้กระบี่ชื่อ Excel มิตรสหายของผมเคยแนะนำ Google Sheet ให้นักบัญชีคนหนึ่ง ทุกครั้งที่เจอทั้งชี้ชวนและทำให้ดู ต้องใช้เวลา 5 ปี กว่าเขาจะยอมเปลี่ยน ตอนนั้นเราวิเคราะห์กันหลายแง่มุม อะไรทำให้คนไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง และทำอย่างไรจึงชักจูงให้เขาเปลี่ยนได้


นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมครุ่นคิดถึงท่าไม้ตายของแต่ละคนอย่างระมัดระวัง เพราะนักบัญชีหลายคนที่เจอระวังตัวเองสูง ทำอย่างไรจึงช่วยให้นักบัญชีกล้าพัฒนาท่าไม้ตายขึ้นไปอีกขั้นได้


การลงบัญชีที่ผ่านมา เรามีเครื่องมือที่เป็นโปรแกรมบัญชีแยกประเภท การลงบัญชีเดบิต/เครดิต มีพัฒนาการที่สำคัญอยู่บ้าง สามารถผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบเอกสารขั้นต้นได้แก่ ออกบิลขาย, รับบิลซื้อ ก็ให้โปรแกรมเอาข้อมูลเหล่านั้นมาลงบัญชีอัตโนมัติ โดยฝ่ายบัญชีไม่ต้องเอามาคีย์ซ้ำเพื่อปิดงบอีก แต่หากเป็นงานสำนักงานบัญชีที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเอกสารขั้นต้น ก็ต้องเอามาคีย์เข้าระบบเอง


ภาพที่เห็น การปิดงบเป็นกระบวนการทำงานที่โกยข้อมูลทั้งหมดมารวมกันที่แยกประเภท แล้วเป็นหน้าที่ของนักบัญชีที่จะตรวจ ปรับปรุง แก้ไข ทั้งระดับรายละเอียดทรานส์แอคชั่น และระดับปรับปรุงยอดรวมที่เป็นงบแล้ว


หากเอานักบัญชีหลายคนมาช่วยกันลงบัญชี อาจทำให้ช้าตอนตรวจแก้ไข เพราะสไตล์การลงบัญชีต่างกัน ยกเว้นโชคดีมีทีมที่รู้มือมาตรฐานเดียวกัน งบของกิจการจึงพยายามให้เป็นมือเดียว ใช้คนลงบัญชีคนเดียว


ผมพยายามทำความเข้าใจกระบวนท่านี้ของนักบัญชี ใจหนึ่งอยากให้มีคนช่วยบันทึกข้อมูลเข้าโปรแกรม เพราะเป็นงานที่เสียเวลา อีกใจหนึ่งก็เกรงว่ายิ่งมีหลายคนช่วย ก็ยิ่งทำให้ต้องตรวจแก้ไขเยอะ


ถ้ามีโปรแกรมที่ออกแบบให้คนหลายคนช่วยกันบันทึกข้อมูลที่จำเป็น ใช้ลงบัญชีได้ แต่ยังไม่ถึงขั้นลงบัญชี แบบข้อมูลในรายงานภาษีซื้อ ภาษีขาย แค่นั้นเพียงพอแล้วสำหรับนักบัญชีเอาไปใช้ลงบัญชีต่อ แต่นั่นก็ยังไม่ช่วยอะไรมาก หากต้องมาไล่ลงบัญชีทีละรายการอีกรอบ ถ้าเป็นอย่างนี้ สู้สอนให้คนช่วยบันทึกลงบัญชีไปเลยดีกว่า ซึ่งก็จะวนกลับมาที่ต้องพึ่งพิงผู้ช่วยที่รู้มือมาตรฐานเดียวกัน


ความท้าทายอยู่ที่การหาทางปลดล็อกให้นักบัญชี สามารถใช้ใครก็ได้ช่วยบันทึกและลงบัญชีได้มาตรฐานเดียวกัน



มีข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง กิจการแต่ละแห่งจะมีธุรกรรมที่ซ้ำเดิม สำหรับการติดต่อกับคู่ค้า เช่น ซื้อเงินสดหรือซื้อเครดิต ก็มักจะเป็นเช่นนั้นทุกครั้ง จะจ่ายเช็ค หรือโอนเงินก็ทำเหมือนกัน กล่าวโดยง่าย ทุกกิจการต่างมีรูปแบบที่คาดเดาได้ ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน จนพนักงานตัวเองปฏิบัติไม่ถูก


ชื่อคู่ค้า สามารถใช้เป็นคีย์เวิร์ดสำหรับคาดเดาที่ง่ายที่สุด ใช้บอกว่าเอกสารนี้ลงบัญชีอย่างไร บิลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ต้องคู่กับการลงบัญชี "ค่าไฟฟ้า" หรือ บิลของบริษัท เอบีซี ก็เป็นการ "ซื้อสินค้า" เหมือนเดิมทุกครั้ง


เมื่อเอาคุณสมบัติขั้นต้นของเอกสาร วันที่ จำนวนเงิน โดยเฉพาะชื่อคู่ค้าที่ใช้เป็นคีย์เวิร์ดนำไปสู่วิธีการลงบัญชีได้ เอามาประกอบกันกลายเป็นการสร้างรายการแยกประเภทตามคำสั่งที่ตั้งไว้ได้


จากสมมติฐานสู่การออกแบบ ทำให้เกิดผลกระทบที่ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่สองส่วน


ส่วนแรก โปรแกรมต้องออกแบบใหม่ ให้รองรับกระบวนการพักข้อมูลก่อนลงบัญชี และเก็บคำสั่งที่วินิจฉัยว่าคู่ค้าแต่ละรายควรลงบัญชีอย่างไร เอาไว้ใช้ในอนาคตได้


ส่วนที่สอง นักบัญชีต้องเปลี่ยนวิธีทำงาน จากการตรวจแก้หลังจากบันทึกแยกประเภทแล้ว เป็นวินิจฉัยเพื่อกำหนดคำสั่งการลงบัญชีก่อนแยกประเภท หากคำสั่งถูกต้องเมื่อสร้างเป็นรายการแยกประเภทแล้ว แทบไม่ต้องตรวจแก้ไขภายหลังอีก



ตัวอย่างการทำงาน โปรแกรมจะมีรายงานแสดงจำนวนธุรกรรมที่เกิดของคู่ค้าแต่ละรายในรอบบัญชี บางรายก็มีแต่จ่าย มักจะเป็นธุรกรรมเงินสดที่จบในตัวเอง บางรายมีทั้งซื้อและจ่าย เห็นความเชื่อมโยงที่ต้องลงบัญชีสองจังหวะ ใช้เจ้าหนี้ หรือค่าใช้จ่ายค้างจ่ายมาพักยอด เนื้อหารายการในเอกสารแสดงให้ทราบว่าควรลงบัญชีเป็นค่าอะไร


เช่น

ตอนซื้อใช้ "ซื้อสินค้า/เจ้าหนี้" เพื่อตั้งยอดเจ้าหนี้ไว้ก่อน

ตอนจ่ายใช้ "จ่ายเจ้าหนี้/เช็ค" เพื่อตัดยอดเจ้าหนี้ ด้วยเช็คจ่าย


จากข้อความธรรมดาที่อธิบายว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร กลายเป็นความมหัศจรรย์ เราสามารถใช้เป็นคำสั่งลงบัญชี เพื่อให้ทำเช่นนี้ได้ โปรแกรมต้องมีส่วนที่ทำหน้าที่แปลคำสั่งดังกล่าว ให้กลายเป็นลงบัญชีเดบิต/เครดิตอัตโนมัติ โดยที่นักบัญชีไม่ต้องจดจำผังของแต่ละกิจการ


ดูเหมือนเป็นไอเดียที่ไม่น่าเชื่อ ช่วยให้นักบัญชีควบคุมการลงบัญชีไม่ต้องขึ้นอยู่กับสไตล์ของคนบันทึกอีกต่อไป ปัญหาอยู่ที่กระบวนการทำงานต้องเปลี่ยนไป ในระดับที่มากจนไม่คุ้นชิน


เพราะปิดงบ มักเป็นงานคับขัน อะไรที่ไม่คุ้นชินจึงถูกวางไว้ก่อน ผมมีกระบี่ใหม่วางอยู่ตรงนั้น เป็นอาวุธที่ไม่คุ้นชิน รอใครที่คิดอยากเปลี่ยนเพื่อคิดค้นท่าไม้ตายใหม่

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page