top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนSathit Jittanupat

Exporter's Sales Tax Report

อัปเดตเมื่อ 7 วันที่ผ่านมา


ถ้าสุ่มถามนักบัญชี 10 คนว่า Input Tax กับ Output Tax คืออะไร น่าจะมีไม่กี่คนที่ตอบได้ คนที่ตอบได้ก็คือคนที่เคยเกี่ยวข้องกับผังบัญชีภาษาอังกฤษมาก่อน ตัวผมเองพอรู้ว่าคือภาษีซื้อ-ขาย แต่ก็ไม่สามารถตอบทันที ต้องตั้งสติคิดเชื่อมโยงก่อนว่าคำไหนหมายถึงซื้อ คำไหนหมายถึงขาย แล้วก็งงทุกที


ตอนเริ่มทำโปรแกรมภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่ปี 2535 ยิ่งแล้วใหญ่ สมัยนั้นอินเตอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย ด้วยความไม่รู้ก็เลยคิดคำเอาเองว่า Buy Tax กับ Sell Tax จนเมื่อต้องแปลภาษาอังกฤษจริงจังนี่แหละถึงเจอคำแนะนำจากเว็บกรมสรรพากร​ และเว็บของสำนักบัญชีหลายแห่ง 


หลังจากตรึกตรองแล้วก็คิดว่าไม่ต้องเปลี่ยนแหละ ถึงแม้จะเป็น broken english แต่ก็สื่อสารให้เข้าใจได้ ดีกว่าคำศัพท์กว้างที่เอาไปใช้ในบริบทแคบเฉพาะแวดวงภาษีและบัญชี 


เหมือนเรื่องเล่า ฝรั่งถามว่าเกิดอะไรขึ้น คนไทยก็ตอบว่า 

"One car come, One car go, Two cars โครม!" 

ก็มันฟังแล้วนึกภาพออกง่ายกว่า "Car accident" ไง


ประชุมออนไลน์คราวก่อน ได้รายละเอียดที่เคยจุดจุดจุดค้างไว้ คือ ตัวอย่างรายงานภาษีขายของธุรกิจส่งออก ซึ่งพยายามหาตัวอย่างในอินเตอร์เน็ตแล้วไม่เจอ ไม่เหมือนกับธุรกิจร้านทองที่เคยทำก่อนหน้านั้น อาจจะเป็นเพราะร้านทองมีทั่วประเทศต้องทำความเข้าใจวิธีปฏิบัติให้ตรงกันทุกพื้นที่ ขณะที่ผู้ประกอบการส่งออกกระจุกตัวกันอยู่ไม่กี่พื้นที่ จึงหาเอกสารเผยแพร่ไม่ค่อยได้


สรุปแบบสั้น ส่วนที่เพิ่มจากรายภาษีขายมาตรฐาน มีดังนี้


  • เลขที่ใบขนและน้ำหนักตามใบขน

  • เลขที่ BL และน้ำหนักตาม BL

  • มูลค่าตามสกุลเงินต่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยน



ไม่รู้ว่าเป็นรูปแบบมาตรฐานหรือเปล่า เห็นบอกว่าสรรพากรบอกให้ตัวอย่างมาอย่างนี้ ถ้าให้เดาเหตุผลก็คือ Tax Auditor หรือเจ้าหน้าที่จะได้ตรวจสอบง่าย มีอ้างอิงเอกสารที่จำเป็นครบถ้วน


ทีนี้มาเจาะลึกรายละเอียดที่อุตส่าห์ค้นคว้ามาดูกัน 


ป.97/2543

เริ่มแกะรอยจากคำสั่งกรมสรรพากร ป.97/2543 เรื่อง การส่งออกสินค้าได้รับสิทธิเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 


คำว่า "เสียภาษีอัตรา 0" หมายความว่า ยังได้สิทธิเครดิตภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องได้ ไม่เหมือนกับ "ยกเว้นภาษี" ขายสินค้าเกษตร, ขนส่ง, เช่าอสังหา ฯลฯ ภายในประเทศ ที่ภาษีซื้อไม่สามารถขอเครดิต


ส่วนผู้ส่งออกที่ขอ BOI จะเป็นเรื่องยกเว้นภาษีนำเข้า ไม่เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม โลกที่พยายาม globalization ก็เหมือนชุมชนเก่าในซอยต่างๆ อยู่ร่วมกัน พึ่งพิงกัน เมื่อเวลาผ่านไปฐานะเริ่มแตกต่างกัน บ้านหรูก็จะสร้างกำแพงล้อมตัวเองไว้ ซอยไหนความไว้วางใจต่ำกำแพงก็จะยิ่งสูง 


พยายามอ่านและเรียบเรียงอยู่นานก็นึกขึ้นมาได้ว่าน่าจะให้ AI สรุปให้


คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 97/2543 เกี่ยวกับการส่งออกสินค้าและการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร โดยมีสาระสำคัญดังนี้:
1. **การยกเลิกคำสั่งก่อนหน้า**: ยกเลิกคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกที่กำหนดไว้ในคำสั่งเก่าๆ
2. **การส่งออกสินค้า**: ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนสามารถส่งออกสินค้าโดยสามารถขอสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ได้หากมีเอกสารและหลักฐานสนับสนุนการส่งออก
3. **เอกสารที่ต้องมี**: ผู้ประกอบการต้องมีเอกสารครบถ้วน เช่น ใบกำกับสินค้า, หลักฐานการชำระเงิน, ใบขนสินค้าขาออก, และหลักฐานการผลิตหรือการซื้อสินค้า
4. **กรณีต่าง ๆ ในการส่งออก**: ระบุหลายกรณีที่ผู้ประกอบการสามารถขอสิทธิพิเศษได้ เช่น ในกรณีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่ติดต่อกับไทย, ส่งออกน้ำตาลทราย, การซื้อขายภายในเขตอุตสาหกรรมส่งออก และการส่งออกทางไปรษณีย์
5. **การควบคุมและตรวจสอบ**: มีการระบุถึงแนวทางการควบคุมและการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่สรรพากร เพื่อให้มีการดำเนินการที่โปร่งใสและถูกต้องตามกฎหมาย

นิยาม ส่งออก

ค้นคว้าเพิ่มเติมจากบทความของ ดร.เพซรรัตน์ ศุภนิมิตรกุลกิจ ขยายความ "ส่งออก" ที่ได้สิทธิภาษี 0 นอกจากส่งไปต่างประเทศแล้ว ยังรวมส่งมอบสินค้าในเขตปลอดอากร และคลังสินค้าทัณฑ์บนด้วย


การส่งออกมี 3 ประการ คือ
1. การส่งออกไปต่างประเทศ
2. การนำสินค้าในประเทศที่ต้องเสียอากรขาออกหรือที่ได้รับยกเว้นอากรขาออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเข้าไปในเขตปลอดอากร
3. การขายสินค้าของคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากร

ภาษีขายใช้วันที่ไหน

การส่งออกมีขั้นตอนที่ไม่จบในวันเดียว แต่มีอย่างน้อย 4 จังหวะ คือ


  • วันที่ผู้ประกอบการจัดทำใบขนสินค้า 

  • วันที่กรมศุลกากรรับรองใบขนสินค้า (e-Export status 0209)

  • วันที่บริษัทขนของเข้าท่า (e-Export status 0309)

  • วันที่รับบรรทุกสินค้าเพื่อส่งออก (e-Export status 0409)


จากคำตอบข้อหารือของ อ.สุเทพ พงษ์พิทักษ์ บอกว่าภาษีขายและการรับรู้รายได้ทางบัญชี ให้ใช้ตามวันที่ศุลกากรรับรองใบขน ซึ่งหมายถึงการแปลงสกุลเงินให้อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันนั้นด้วย 


นอกจากนี้ยังค้นเจอข้อหารือในเว็บกรมสรรพากร ยืนยันตรงกัน


สรุปว่าใบกำกับภาษี Tax Invoice ต้องลงวันที่ตามวันที่รับรองใบขนของศุลกากรนั่นเอง



ผู้สอบบัญชี

ถ้าดูจากเงื่อนไขข้างบนและตัวอย่างรายงานภาษีขาย ซึ่งแยกช่องเลขที่ใบกำกับภาษีกับใบขนออกจากกัน 


ดูเหมือนว่า workflow ของงานส่งออกควรเริ่มต้นจากทำเอกสารใบขนซึ่งใช้เป็น Invoice ใช้ยื่นให้กรมศุลการและส่งให้ผู้ซื้อต่างประเทศ หลังจากนั้นเมื่อได้วันที่รับรองจากกรมศุลกากร จึงทำ Tax Invoice ลงวันที่นั้นเป็นเอกสารต่างหาก


จากการสอบถามทีมวางระบบมีข้อมูลเพิ่มเติม ดูเหมือนว่าวิธีปฏิบัติดังกล่าวจะสร้างความยุ่งยากกับผู้สอบบัญชีในการตรวจกระทบยอด เนื่องจากใบ Invoice ใช้อ้างอิงเมื่อรับชำระหนี้ แต่ Tax Invoice ใช้บันทึกบัญชีรับรู้รายได้


ดังนั้นการวางระบบและวิธีปฏิบัติจริงเรื่องนี้ให้ถูกใจทั้งสรรพากรและผู้สอบบัญชี จึงอาจไม่ง่ายตรงไปตรงมาอย่างที่ผมเข้าใจทีแรก แม้กระทั่งการส่งออกทางเรือกับทางอากาศ ก็ต้องออกแบบ workflow ไม่เหมือนกัน


อ้างอิง


ดู 1 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
Post: Blog2_Post
  • Facebook

©2020 by Scraft On Cloud. Proudly created with Wix.com

bottom of page