top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนSathit Jittanupat

Experience Count



หากต้องสัมภาษณ์คนมาร่วมทีมบัญชี ควรคาดหวังถึงอะไร


เมื่อถามถึงประสบการณ์การทำงานของเขา คนที่ทำบัญชีมา 10 ปี ควรมีประสบการณ์มากกว่าคนที่ทำบัญชีมา 4 เดือน


คุณ Jeep Kline กล่าวไว้ใน Cariber เรื่อง The Power of Grit and Growth Mindset


"ประสบการณ์ไม่ใช่จำนวนปีที่ทำเรื่องเดิมซ้ำ ๆ แต่เป็นจำนวนของการเรียนรู้เรื่องใหม่"


งานบัญชีที่ผ่านมาอาศัย Grit มากกว่า Growth


ธรรมชาติของงานบัญชีเป็นงานซ้ำ ๆ เหมือนเดิม ปีแล้วปีเล่า กลายเป็นคุณสมบัติสำคัญ ที่ต้องเป็นคนสม่ำเสมอทำงานซ้ำเดิมได้แม่นยำไม่ขาดตกบกพร่อง


ผมนับนิ้ว หนึ่ง สอง สาม สี่ จำนวนเดือนที่ทีมบัญชีทำงานรูปแบบใหม่ร่วมกัน ใบกำกับภาษีที่ผ่านมือนับหมื่นใบจากกิจการต่าง ๆ ในช่วงต้นเดือนจะมีเอกสารทะยอยส่งเข้ามา ทุกคนจะช่วยกัน กลายเป็นว่าทุกคนได้ผ่านงานของทุกกิจการ


คนที่นี่ต้องทำบัญชีเป็นทีม และพร้อมเรียนรู้เรื่องใหม่


เมื่อวานนี้ ในงานบันทึกภาษีซื้อของกิจการแห่งหนึ่ง พบใบกำกับภาษี ที่เลข 13 หลักของผู้ออกเอกสารไม่มีในฐานข้อมูลผู้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม อาจมีปัญหาใช้เครดิตภาษีซื้อไม่ได้ เคสนี้ทำให้ต้องปรับปรุงโปรแกรมเพิ่มเติม เพื่อรับมือได้ดีกว่าคราวนี้ นอกจากฟ้องเตือนแล้ว อำนวยความสะดวกให้ทีมบัญชีตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจากหน้าเว็บของกรมสรรพากร และกรมพัฒนาธุรกิจเพื่อเช็คข้อมูลได้ทันที


ไม่กี่วันก่อนหน้านั้นเจอใบกำกับภาษีขาย 2 ใบซ้ำเลขเดียวกัน จนไม่แน่ใจว่าใบไหนเป็นยอดที่ถูกต้อง อาจเกิดจากออกใบกำกับภาษีผิดแก้ไขพิมพ์ใหม่ ต้องสอบถามกลับไปต้นทาง


เดือนที่แล้วมีกรณีใบกำกับภาษีซื้อเก่าเกิน 6 เดือนเอามาเครดิตภาษี โชคดีที่ทีมบัญชีตรวจพบก่อน โปรแกรมต้องปรับปรุงตามหลัง ตรวจสอบอายุภาษีซื้อแล้วแจ้งเตือนให้ระวัง



จากตัวอย่างเคสข้างต้น ผมขอขยายความสิ่งที่สังเกตเห็น


ความหลากหลายของงานที่เข้ามา ทำให้ทีมบัญชีได้เจอเคสใหม่มากกว่า 10 ปีที่ดูแลลูกค้ารายเดิม ๆ นี่คือสถานการณ์ใหม่สำหรับทุกคน บางคนอาจรู้สึกท้าทาย บางคนยังรู้สึกมึนงงกับความเปลี่ยนแปลง


นอกจากคนแล้ว โปรแกรมคือส่วนหนึ่งของทีม เป็นผู้ช่วยที่สามารถทำงานซ้ำ ๆ ได้แม่นยำและรวดเร็ว แต่ยังไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยคนช่วยสอน นำเคสที่เจอกลับมาปรับปรุง สะสมประสบการณ์เรียนรู้เรื่องใหม่จากทีม ข้อดีของโปรแกรมอยู่ที่ความแม่นยำ เมื่อทำเรื่องนั้นได้แล้วจะไม่หลงลืม ไม่ต้องสอนซ้ำอีก


สมัยก่อนคนทำบัญชีมักเคยชินกับโปรแกรมที่อยู่คู่กันมายาวนาน จึงปรับตัวเองทำได้เท่าที่ความสามารถของโปรแกรมมี


ภาพของงานบัญชียุคใหม่ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างคนกับโปรแกรม ภายใต้เงื่อนไขพิเศษที่ว่า ทีมโปรแกรมพร้อมที่จะปรับปรุงเพื่อแก้ปัญหาที่พบเจอตลอดทาง ความเร็วในการพัฒนาขึ้นอยู่กับจำนวนเคสที่สอนให้โปรแกรมทำได้ ในระยะยาวงานของคนจะกลายเป็นทำน้อยแต่ได้มาก


ยิ่งมีปริมาณงานมากขึ้น ทำให้มีเคสใหม่ ๆ ช่วยปรับปรุงโปรแกรมได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ทีมเริ่มมีปัญหาทำงานไม่ทัน วิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดคือ หาคนมาเสริม


แต่.. ความยากอยู่ที่ควรเป็นคนแบบไหน จึงเข้ากันได้กับโปรแกรมที่ปรับปรุงตลอดเวลา


ผมย้อนกลับไปคิดถึงคำถามแรกสุด


หากต้องสัมภาษณ์คนมาร่วมทีมบัญชี ควรคาดหวังถึงอะไร

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page