top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนSathit Jittanupat

E-Tax Invoice in Credit Business


ปัญหาหนึ่งของ E-Tax Invoice ที่ทำให้ธุรกิจขายสินค้าเครดิตลังเล อยู่ตรงที่จำเป็นต้องมีหลักฐานการรับสินค้าเพื่อใช้แจ้งหนี้


เรื่องนี้ต่างจากการขายเงินสด ที่รับชำระก่อนหรือพร้อมกับการส่งมอบสินค้า สามารถประยุกต์ใช้ได้ทันที


มาตรา 86 ภายใต้บังคับมาตรา 86/1 มาตรา 86/2 และมาตรา 86/8


ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้า หรือการให้บริการทุกครั้ง และต้องจัดทำในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น พร้อมทั้งให้ส่งมอบใบกำกับภาษีนั้นแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ส่วนสำเนาใบกำกับภาษีให้เก็บรักษาไว้ตามมาตรา 87/3

จัดทำ


หากตีความเจตนารมย์ของมาตรา 86 จะต้องมองไปถึงฉากทัศน์ของปี 2535 - 2537 ที่เริ่มใช้กฏหมายนี้

สมัยนั้นกระบวนการค้าขายยังเป็นร้านค้าที่ผู้ขายกับลูกค้าต้องมาพบกัน ยื่นหมูยื่นแมวจ่ายเงินไปแลกเอาสินค้ามา หรือหากเป็นการส่งสินค้าของผู้ค้าส่งหรือผู้จัดจำหน่ายก็ดำเนินการส่งในนามของเจ้าของสินค้าเอง Tax Point ที่เกิดขึ้นเมื่อการครอบครองสินค้าเปลี่ยน เป็นชั่วขณะเวลาสั้น ๆ ไม่ยืดยาวข้ามวันหรือเดือนเหมือนการนำเข้า ส่งออก จึงสมเหตุผลที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีตอนนั้นเลย


ถึงแม้ว่าจะมีการขายสินค้าทางไปรษณีย์หรือส่งสินค้าข้ามจังหวัดบ้างแต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับการค้าขายทั่วไป และมักเป็นกรณีที่ลูกค้าต้องชำระเงินมาก่อนที่จะจัดส่งสินค้าตามไปให้


มีธุรกิจบางประเภทมีปัญหาในการจัดทำใบกำกับภาษีไปพร้อมกับการส่งสินค้า


ยี่สิบกว่าปีที่แล้วผมได้ยินเรื่องของบริษัทขนมปังรายใหญ่ หน่วยรถที่ตระเวนส่งขนมปังให้ร้านค้าพร้อมทั้งเปลี่ยนคืนของที่หมดอายุ ซึ่งหมายความว่าจะรู้ว่าต้องส่งอะไรบ้าง จำนวนเท่าไหร่ก็ต่อเมื่อเช็คของที่ร้านก่อน เขาต้องใช้วิธีติดตั้งคอมพิวเตอร์พร้อมกับพรินเตอร์พิมพ์ใบกำกับภาษีจากรถได้เลย (ลองนึกดูว่า ยุคนั้นไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มี inkjet หรือ thermal printer ที่พิมพ์สลิปใบเล็ก ๆ ได้)


ปัจจุบันการขายออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม ผู้ขายยังไม่ได้รับเงินจนกว่าลูกค้าจะได้รับสินค้าแล้ว การส่งสินค้าก็ใช้ผู้ให้บริการภายนอก ช่วงเวลาสูญญากาศที่สินค้าอยู่ระหว่างจัดส่ง อาจกินเวลามากกว่า 1 วัน หรือหากกล่าวละเอียดกว่านั้น มีโอกาสที่การจัดส่งไม่สำเร็จ หรือลูกค้าไม่รับสินค้าด้วย


ผมตีความตามความเข้าใจของผม (อาจผิดก็ได้)​ หากยึดตามมาตรา 86 ใบกำกับภาษีก็ควรจัดทำทันทีที่ลูกค้าได้รับสินค้า หมายความว่า ใบกำกับภาษีไม่ได้จัดทำเมื่อสินค้าเปลี่ยนมือจากผู้ขายไปให้ผู้ขนส่ง (ระหว่างจัดส่ง) แต่จัดทำเมื่อผู้ส่งสินค้าทำภาระกิจสำเร็จ (ได้รับสินค้าแล้ว ถ้าส่งไม่สำเร็จ ถือว่าการขายไม่เกิดขึ้น)


ส่งมอบ


ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมา เมื่อผู้ขายกับผู้ซื้อไม่ได้เจอกัน ใบกำกับภาษีไม่สามารถส่งมอบให้ผู้ซื้อได้พร้อมกับการส่งสินค้า ยกเว้นจะเปิดใบกำกับภาษีล่วงหน้าก่อนความรับผิดทางภาษีเกิดขึ้น หรือมิฉะนั้นผู้ขายก็ต้องจัดทำใบกำกับภาษีตามหลังแล้วส่งให้ทางไปรษณีย์ แต่ไปรษณีย์ช่องทางปกติก็ไม่ได้รับประกันเรื่องสูญหาย ยกเว้นเลือกใช้ช่องทางลงทะเบียน จึงมีหลักฐานที่อ้างอิงได้


ประกาศฉบับที่ 15 เรื่อง E-Tax Invoice จึงดูเหมือนจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ เพื่อไม่ให้ผู้ขายมีภาระเพิ่มในการจัดส่งใบกำกับภาษีที่เป็นกระดาษ (ค่าใช้จ่ายระบบสามารถใช้ลดหย่อนได้ 2 เท่า)

มีประเด็นหนึ่งที่ผมตั้งเป็นข้อสังเกต มาตรา 86 บอกว่า "ต้องจัดทำในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น พร้อมทั้งให้ส่งมอบใบกำกับภาษีนั้น"


เมื่อเกิดกรณีสุดวิสัยที่ผู้ซื้อไม่ได้อยู่ซึ่งหน้า เช่น การขายสินค้าออนไลน์ ต้องรอตรวจสอบกับผู้บริการขนส่งว่าการส่งสินค้าสมบูรณ์หรือไม่ หรืออาจต้องรอว่าลูกค้าแจ้งยืนยันการรับสินค้าก่อน


การตีความว่า "ทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีเกิดขึ้น" หมายถึงใบกำกับภาษีต้องลงวันที่ตามเวลาที่การส่งสินค้าสำเร็จ


ส่วนประเด็นที่ว่า "พร้อมทั้งให้ส่งมอบ" กลายเป็นความคลุมเครือ และเป็นไปไม่ได้ที่จะส่งมอบใบกำกับภาษีให้ได้ ณ วันนั้น หากยึดเอาคำว่า "ทันที" ของประโยคแรกมาใช้ด้วย ก็อาจหมายความว่าทุกคนที่ขายออนไลน์ทำผิดกฏหมายหมด ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่า การส่งมอบใบกำกับภาษีไม่มีระบุไว้ว่าต้องส่งมอบเมื่อใด


ประเด็นที่มีผลกระทบตามมา การตรวจรายงานภาษีขายว่าเลขที่ใบกับภาษีต้องเรียงตามวันที่สอดคล้องกัน อาจไม่เป็นจริงอีกต่อไป เพราะการเปิดใบกำกับภาษีของการขายออนไลน์ทั้งหมด เป็นการลงวันที่ย้อนหลัง ตามข้อมูลที่ได้รับจากผู้ให้บริการว่าการจัดส่งสำเร็จเมื่อไหร่ จึงขึ้นอยู่ว่าผู้ขายจะได้รับรายงานจากผู้บริการแต่ละรายเมื่อไหร่


ธุรกิจขายเครดิต


มีธุรกิจแห่งหนึ่งส่งวัตถุดิบให้กับร้านอาหาร ภัตตาคาร ลูกค้าบางรายตรวจรับของ และอาจเลือกไม่รับบางรายการที่คุณภาพไม่ผ่านเกณฑ์ หรือขอแก้ไขน้ำหนักที่คลาดเคลื่อน ทำให้ใบกำกับภาษีที่เป็นใบส่งสินค้าด้วย ต้องกลับมาแก้ไขใหม่


เราสามารถแยกใช้ใบส่งสินค้า ออกจากใบกำกับภาษีได้หรือไม่ หากตีความว่าใบกำกับภาษีไม่ได้กำหนดว่าต้องส่งมอบทันที แล้วเปลี่ยนไปใช้ E-Tax Invoice แทน


ล่าสุดที่ผมเสนอประเด็นนี้ขึ้นมา แต่ที่ปรึกษาของเราบอกว่ายาก สำหรับธุรกิจที่ไม่ได้ขายเงินสด หากคู่ค้าไม่ยอมรับ ถึงแม้ว่าอยากส่ง E-Tax Invoice ก็ไม่สามารถบังคับให้ยอมรับได้ ไม่เหมือนกับลูกค้าที่ขายผ่านออนไลน์


เมื่อสินค้าไปอยู่ในมือลูกค้าแล้ว ตราบใดที่ยังไม่ได้รับชำระผู้ขายส่วนใหญ่ตกอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถต่อรองได้มาก ต้องยอมรับเงื่อนไขการวางบิลและนัดชำระ ทุกวันนี้แม้ว่ามีเจ้าของกิจการหรือฝ่ายการเงินที่เข้าใจภาพรวมการพึ่งพาที่เกื้อหนุนระหว่างกันมากขึ้น รู้ว่าการทำเช่นนั้นในระยะยาวเป็นการทำลายธุรกิจตัวเอง แต่ก็ยังมีคนรุ่นเก่าที่เน้นประโยขน์สูงสุดแต่ฝ่ายเดียว ไม่สนใจปัญหาของคู่ค้าที่เกิดจากเงื่อนไขที่แข็งกร้าวไร้น้ำใจ


เงื่อนไขหนึ่งที่เคยเจอ ถ้าไม่มีหลักฐานว่าเซ็นต์รับของแล้วก็ไม่จ่ายหนี้ บิลส่งของที่มีลายเซ็นต์แต่ยังไม่ได้เก็บเงิน จึงมีค่าเทียบเท่ากับตั๋วเงิน หากจัดเก็บไม่ดี สูญหายไปเท่ากับหนี้สูญเลยทีเดียว

นั่นเป็นประสบการณ์อันเจ็บปวดที่เล่าต่อกันมา จากเจ้าของกิจการและผู้ที่เคยดูแลบัญชีลูกหนี้ ซึ่งไม่อาจเถียงว่าไม่มี


ระบบบัญชีไร้กระดาษ


แต่ที่คำถามที่อยู่ในใจของผมอยู่ตรงที่ ผู้ที่ทำธุรกิจด้วยวิธีเช่นนี้ยังเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด คุณมีความจำเป็นต้องคบค้าพึ่งพา จนกลายเป็นข้อจำกัดของระบบงานตัวเอง


ตามประเพณีที่สืบต่อกันมา การส่งสินค้าจะต้องมีลายเซ็นต์ของผู้รับเป็นหลักฐานกลับมา แล้วเราก็เข้าใจว่าสิ่งนั้นใช้สำหรับวางบิล ลูกหนี้ไม่ยอมจ่ายหากไม่มีกระดาษที่มีลายมือขยุกขยิกของใครสักคน


โอเคเมื่อคิดถึงทั้งสองฝ่าย ทำอย่างไรจะพิสูจน์ว่าสินค้านั้นได้ส่งมอบสมบูรณ์แล้วยังเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีผลต่อกระบวนการขั้นต่อไปคือชำระหนี้ ทำไมไม่คิดว่าเพราะคนสมัยก่อนมีแต่กระดาษ จึงได้แต่กล้ำกลืนยอมวิธีการนี้โดยไม่มีทางเลือกอื่น


ถ้าทั้งสองฝ่ายมีระบบบัญชีที่ดี ก็จะต้องบันทึกธุรกรรมที่เกิดขึ้นเข้าระบบตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงอยู่แล้ว มีสินค้าเข้าสต็อคและอาจขายออกไปแล้วบางส่วน มีบิลเจ้าหนี้ค้างชำระอยู่ในระบบที่ตรวจสอบได้ สมมติว่าเจ้าหนี้แจ้งยอดพร้อมทั้งอ้างอิงเลขที่บิลและวันที่ส่งสินค้าที่ตรงกับที่บันทึกไว้ในระบบบัญชี แต่ไม่มีสำเนาบิลส่งของแนบมาด้วย สมควรเป็นข้ออ้างไม่จ่ายชำระหนี้นั้นหรือไม่


ถ้าฝ่ายลูกหนี้มีระบบบัญชีที่ดี แต่เจ้าหนี้ยังไม่มีระบบ มักเป็นความสัมพันธ์ของกิจการใหญ่ซื้อสินค้าจากกิจการเล็ก การจ่ายชำระหนี้ของกิจการใหญ่ยิ่งต้องเชื่อถือข้อมูลในระบบของตัวเองมากกว่า จึงขึ้นอยู่กับทัศนะคติการดำเนินธุรกิจของกิจการใหญ่ หากเกิดความบกพร่องจะฉวยโอกาสหรือช่วยเหลือ


ในทางกลับกัน เจ้าหนี้มีระบบบัญชีที่ดี แต่ฝั่งลูกหนี้ยังไม่มีระบบ กลายเป็นความสัมพันธ์ของกิจการใหญ่ขายสินค้าให้กิจการเล็ก อำนาจต่อรองของกิจการใหญ่ ทำให้สามารถกำหนดเงื่อนไขให้ลูกหนี้ที่เล็กกว่าปฏิบัติตามระบบได้ บางครั้งอาจเจอลูกหนี้ที่หาทางเจาะช่องโหว่เพื่อหาวิธีเอาเปรียบ แต่ในระยะยาวก็สามารถปรับระบบให้รัดกุมหรืออาจตัดลูกหนี้รายนั้นออกไปได้


ดังนั้นจึงเหลือเพียงพื้นที่สุดท้าย ที่ผมตั้งคำถามว่ายังเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด เป็นพื้นที่ที่ทำธุรกิจโดยไม่สามารถไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน เจ้าหนี้และลูกหนี้ต่างไม่มีระบบ หรือมีระบบแต่ก็ทัศนะคติที่ไม่ผ่อนปรนต่อคู่ค้า


มีอีกเหตุผลหนึ่งที่มีน้ำหนัก เพราะฝ่ายการเงินยังต้องทำงานกับกระดาษ ระบบบัญชีของผู้ซื้อไม่ได้ออกแบบให้รองรับหลักฐานที่เป็นอิเล็คทรอนิกส์ เช่น ไม่สามารถแนบไฟล์ pdf ไว้ในโปรแกรม แล้วทำงานผ่านคอมพิวเตอร์ ทำให้ต้องยุ่งยากพิมพ์เอกสารเหล่านั้นออกมาเป็นกระดาษ หรือบังคับให้ผู้ขายพิมพ์ออกมาเป็นกระดาษอยู่ดี


สรุปว่าสำหรับ B2B โดยเฉพาะขายเครดิต อาจต้องรอเวลาให้กระแสความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมามากกว่านี้ ผู้ประกอบการที่ไม่มีระบบบัญชี หรือใช้ระบบบัญชีรุ่นเก่าลดจำนวนลงไป จนผู้ที่ยึดติดกระดาษเป็นหลักฐานธุรกรรมต่าง ๆ กลายเป็นส่วนน้อย ปรับปรุงกฏหมายที่ล้าสมัย ผู้สอบบัญชีและเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องเปลี่ยนความเคยชินที่ยึดติดการเรียกหาหลักฐานกระดาษ เมื่อนั้น E-Tax Invoice อาจใช้ได้อย่างที่คาดหวังกันไว้


อ้างอิง


ประมวลรัษฎากร มาตรา 86 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษี


ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 15 ใบกำกับภาษีและใบรับอิเล็คทรอนิกส์


กรมสรรพากร ข่าว ปชส. 13/2566 ลดหย่อนค่าใช้จ่ายระบบภาษีอิเล็คทรอนิกส์


ดู 4 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comentários


Post: Blog2_Post
bottom of page