top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนSathit Jittanupat

Be Sixty, First Time


หลังจากที่รอให้เจ้าหน้าที่แก้ไขข้อมูลจนเสร็จเรียบร้อย ผมเดินออกมาจากธนาคารด้วยความรู้สึกครึ้มปนขำกับสิ่งที่เกิดขึ้นแทนที่จะหงุดหงิด 


บางทีความแก่ก็ช่วยให้เข้าใจว่าโลกไม่ได้หมุนรอบตัวเรา


เรื่องธรรมดาของวันหนึ่ง ผมไปธนาคารเพื่อเอาเช็คฝากเข้าบัญชี เหมือนอย่างที่เคยทำ คราวนี้ไม่เหมือนครั้งก่อน เจ้าหน้าที่กลับเพ่งอ่านชื่อที่อยู่บนสลิปที่พิมพ์ออกมา เทียบกับชื่อสั่งจ่ายบนเช็ค หลังจากดูกลับไปกลับมาหลายรอบ ก็เอ่ยปากขอบัตรประชาชน


"นี่ฝากเงินนะ ไม่ใช่ถอน" นึกในใจ 


แต่ก็ยิ้มให้ ตอบไปว่า 

"ได้ครับ"


ความสับสนเกิดขึ้นชั่วขณะ จนมาเฉลยเมื่อหันปรึกษากับพี่ที่อยู่ข้างๆ น้องเขาสังเกตเห็นว่าตัวสะกดนามสกุลที่อยู่ในฐานข้อมูลของธนาคารเป็นคำว่า "บัสน์" ไม่ตรงกับหน้าเช็คสั่งจ่าย "ปัสน์" จึงไม่กล้ารับเช็คฝากเข้าบัญชี หลังจากนั้นก็กลายเป็นเรื่องเป็นราวต่อเนื่อง พวกเขาไม่แน่ใจว่า สาขาสามารถแก้ไขฐานข้อมูลให้ถูกต้องได้หรือไม่ หรือต้องส่งเรื่องให้สาขาเจ้าของบัญชี


ระหว่างที่นั่งรอกระบวนการแก้ปัญหาภายในของเขา เรื่องที่เกิดจาก Human Error ในการอินพุทข้อมูลนานเพิ่งถูกค้นพบ บังเอิญที่ได้คิวเป็นช่องบริการนี้ แทนที่จะเป็นอีกช่องหนึ่ง บังเอิญเป็นช่วงผู้ใช้บริการน้อย 


คิดเล่นๆ ต่อไปว่าระบบ Core Banking จะรับมือกับความผิดพลาดลักษณะนี้อย่างไร โดยเฉพาะสมัยนี้ที่เป็นออโตเมชั่นมากขึ้น ถ้าใช้คนตรวจก็อาจจะผ่านโดยไม่ทันสังเกต (ถ้าไม่ใช่น้องคนนี้) แต่คอมพิวเตอร์จะตรวจพบได้ง่าย ควรใช้ลอจิกอะไรในการพิสูจน์เจ้าของบัญชี ในยุคที่บัญชีม้าเต็มเมือง User Experience สำคัญกว่าหรือไม่ ในเมื่อไม่ใช่ความผิดของเจ้าของบัญชี หรือเป็นเพียงกฏเกณฑ์เก่าที่ออกแบบระบบสำหรับมนุษย์ที่อ้างอิงตามชื่อบัญชีง่ายกว่าเลขบัญชี บังเอิญคนรุ่นใหม่ไม่เข้าใจเจตนาของมัน เพราะบริบทเปลี่ยนไปแล้ว คล้ายกับกฏระเบียบบางอย่างในองค์กร รวมถึงกฏหมายทั้งหลายที่เกิดขึ้นในยุคกระดาษก่อนที่จะมีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต 


ดูเหมือนเพิ่งผ่านไปไม่นาน เพราะคนรุ่นใกล้เคียงกับผมต่างเป็นพยานรู้เห็น สามารถบอกเล่าถึงวิถีชีวิต วิถีทำงานในโลกยุคก่อนคอมพิวเตอร์ ก่อนอินเตอร์เน็ต ก่อนโทรศัพท์มือถือได้ 


ผมคิดถึงความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งในชั่วอายุคนที่ไม่น่าเชื่อว่ามาไกลถึงเพียงนี้


จำนวนเงินบนเช็ค

ผมย้อนกลับไปตอนที่เริ่มต้นส่งเบี้ยประกันเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ณ เวลานั้นตัวเลขผลตอบแทนเมื่อครบกำหนดสัญญาดูเป็นตัวเลขสูงมากพอ สามารถซื้อทองได้ 1 บาท ดอกผลที่ได้ทุกปีเพียงพอที่จะกินใช้ยามแก่เฒ่าโดยไม่ลำบาก 


ไม่น่าเชื่อว่าค่าเงินจะหายไปได้มากขนาดนี้ ใครจะคิดว่าการทำ QE พิมพ์เงินเมื่อเกิดวิกฤตการเงินหลายครั้งที่ผ่านมา ทำให้คนธรรมดาที่ทำมาหากินตามปกติถูกปล้นมูลค่าของเงินออมที่สะสมไว้โดยไม่รู้ตัว


ชื่อสั่งจ่ายบนเช็ค

เช็คเป็นเครื่องมือทางการเงินอย่างหนึ่ง ที่ขับเคลื่อนธุรกิจควบคู่กับธนาคารมาเนิ่นนาน เช็คเก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีหลักฐานบันทึกไว้ของอังกฤษในปี 1659 ส่วนประเทศไทยเริ่มจัดตั้งสำนักงานกลางรับแลกเปลี่ยนเช็คเมื่อ 1969 (พ.ศ. 2512)


 เราใช้เช็คลงวันที่ล่วงหน้าเพื่อเป็นสัญญาที่จะจ่าย สามารถใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องตามกฎหมายเมื่อผิดสัญญาหรือเช็คเด้ง


และเช็คถูกใช้เป็นเครื่องมือชำระเงินเพื่อป้องกันทุจริต เพราะสามารถเจาะจงชื่อสั่งจ่ายได้ ทำให้บุคคลอื่นไม่สามารถขโมยมาเป็นเงินของตัวเอง


นั่นคือยุคสมัยที่อินเตอร์เน็ตไม่แพร่หลาย ไม่มีบริการอินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้ง ไม่มี QR Code ที่สามารถสั่งจ่ายหรือโอนเงินเข้าบัญชีผู้รับได้โดยตรง


เมื่อเข้าใจวัตถุประสงค์ของการประดิษฐ์เช็คขึ้นมาใช้งาน ก็ทำให้เราเข้าใจถึงความสำคัญของชื่อสั่งจ่ายด้วย กฏกติกาของเช็คหากมีคำสั่ง "A/C Payee Only" หมายถึงให้ธนาคารรับเช็คเข้าบัญชีที่ "ชื่อ" ตรงกับชื่อสั่งจ่ายที่ระบุไว้เท่านั้น ไม่สามารถขอแลกเป็นเงินสดทันทีได้ 


ดังนั้นการพิจารณารับเช็คเข้าบัญชี จึงเป็นความรับผิดชอบของธนาคารที่ต้องตรวจสอบว่าชื่อบัญชีตรงกับที่สั่งจ่ายบนเช็คหรือไม่ แต่การพิจารณาว่าจะเคร่งครัดแค่ไหน อาจเป็นดุลยพินิจของผู้รับฝาก ซึ่งเปลี่ยนไปตามยุคสมัย


Identity

ว่าไปแล้ว ระบบเช็คที่ใช้การสั่งจ่ายโดยระบุชื่อ เรียกว่าใช้ชื่อเป็น Identity เป็นวิธีที่หละหลวมและมีช่องโหว่ในกระบวนการพิสูจน์มากจริงๆ เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีสมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นเลขบัตรประชาชน หรือหมายเลขโทรศัพท์ กรณีหลังเกิดขึ้นเมื่อเราพบว่าโลกเปลี่ยนจากยุคสมัยโทรศัพท์ประจำบ้าน เป็นโทรศัพท์ประจำตัว


อะไรคือเหตุผลของการมีชื่อ น่าจะเกิดขึ้นพร้อมกับมนุษย์รู้จักสื่อสารเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ การตั้งชื่อให้กับคน สัตว์ สิ่งของ ช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจตรงกันว่า หมายถึงคนนี้ไม่ใช่คนนั้น แมวตัวนี้ไม่ใช่ตัวนั้น สิ่งของชิ้นนี้ไม่ใช่สิ่งนั้น


เพื่อบรรลุผลลัพธ์ของการสื่อสาร เราอาจใช้ระดับของความละเอียดในการระบุต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่ากำลังสื่อสารกับใครบ้าง ในสถานะหรือภายใต้แวดวงขนาดไหน ดังนั้นเราจึงมีทั้งชื่อเล่น ชื่อจริง ชื่อและนามสกุล และบางครั้งก็ต้องมีตำแหน่งหน้าที่การงาน เพื่อ บางกรณีย่อมากไปก็ไม่ดี เกิดโศกนาฏกรรมไอ้หนุ่มไปรอสาวที่เซเว่นปากซอยเก้อ เพราะปากซอยคนละด้าน บางกรณีเวิ่นเว้อเกินก็ทำให้กลายเป็นยากต่อการจดจำ สูญเสียสาระสำคัญไป


ผมไม่แน่ใจว่า กฏระเบียบว่าการขอแก้ไขข้อมูลบัญชีต้องกลับไปทำที่สาขาเจ้าของบัญชียังมีอยู่อีกไหม แต่นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องรอ อย่างน้อยผลลัพธ์ก็รู้ว่า น่าจะไม่เคร่งครัดอีกต่อไปแล้ว อาจจะเป็นเรื่องของขอบเขตความรับผิดชอบที่จำกัดของคนหน้างาน ทำให้ไม่กล้าตัดสินใจโดยพละการ


"สมมติว่ากลับกัน ชื่อบัญชีของผมถูก แต่ชื่อบนเช็คสะกดผิดจะเป็นยังไง?"


"สมมติว่าต้องกลับไปติดต่อสาขาที่เปิดบัญชี แต่ธนาคารโดนควบรวมมา แล้วสาขานั้นก็ปิดไปแล้ว จะต้องทำยังไง?"


นึกคำถามที่อยากรู้อีกหลายข้อ เช่น คนที่เปลี่ยนชื่อหรือนามสกุลทำยังไงกับเช็คที่ระบุชื่อนามสกุลเดิม แต่ดูท่าทีอีกฝ่ายไม่อยู่ในภาวะที่อยากจะถกด้วยก็เลยหยุดความสงสัยไว้แค่นั้น


สาขาเจ้าของบัญชี

สมัยก่อนความเป็นสาขาของธนาคารมีความสำคัญมาก ความหละหลวมของระบบสั่งจ่ายเช็คถูกชดเชยด้วยคุณสมบัติพิเศษของสาขา ซึ่งรู้จักลูกค้าซึ่งเป็นคนในละแวกท้องถิ่นแทบทุกราย และธนาคารเองก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน


การจ่ายเช็คส่วนใหญ่ยังคงต้องเขียนด้วยมือ เซ็นต์ชื่อ และประทับตรา ความผิดพลาดเล็กน้อยในการสะกดจึงอาจไม่เคร่งครัดมาก การพิสูจน์ว่าเป็นเช็คปลอมหรือไม่ เป็นทักษะพิเศษของเจ้าหน้าที่สาขา ดูแม้กระทั่งหมึกปากกาที่ใช้เขียน ลายเส้น ลายมือ สัญญลักษณ์พิเศษบางตำแหน่งในลายเซ็นต์ หากไม่แน่ใจก็มักสอบถามเจ้าของบัญชีก่อน การเคลียริ่งเช็คต่างสาขาหรือต่างธนาคารจึงใช้เวลาหลายวันและมีต้นทุนมากในระยะแรก เพราะต้องคัดแยกกระจายกลับไปพิสูจน์ที่สาขาเจ้าของเช็ค หากต้องการเอาเช็คเบิกเป็นเงินสดทันที ต้องไปขึ้นเงินกับสาขาเจ้าของเช็คเท่านั้น เพิ่งเปลี่ยนเป็นส่งภาพถ่ายของเช็คแทนช่วยลดภาระการเคลียร์ริ่งเมื่อสิบกว่าปีนี้เอง


เรื่องราวเก่าๆ รินไหลออกมา ตอนที่เปิดบัญชีกระแสรายวัน มีสมุดเช็คครั้งแรก พยายามออกแบบลายเซ็นต์ที่ดูดี เพื่อค้นพบความจริงว่าลายเซ็นต์ที่ดีที่สุดอยู่บนเช็คที่ไม่เคยเด้ง ได้แลกเช็คครั้งแรก แล้วก็มีครั้งต่อไป และต่อไป ได้ขอวงเงินโอดีครั้งแรก ทำให้เข้าใจความสำคัญของสาขาธนาคาร


ครั้งหนึ่งผมเคยทำโปรแกรมพิมพ์เช็ค ไล่ล่าขอตัวอย่างเช็คแทบทุกธนาคารสมัยนั้นจากผู้ใช้ เอามาวัดตำแหน่งพิมพ์ จนวิจารณ์ได้ว่าเช็คของใครออกแบบดี ของใครออกแบบไม่ดี เช่น ช่องวันที่ชิดริมเกินไป เว้นที่ว่างน้อยเกินไป ช่องจำนวนเงินเล็กเกินไป ฯลฯ และเพราะทำโปรแกรมจึงรู้ว่าสมัยก่อนธนาคารก็ไม่ได้เนี๊ยบอะไรมากมาย เคยได้สมุดเช็คที่สาขาออกเลขที่มาให้ซ้ำทั้งเล่ม ที่รู้เพราะว่าเรามีโปรแกรมเก็บประวัติเช็คที่พิมพ์ ฟ้องว่าเช็คเลขที่นี้ใช้ไปแล้ว


หกสิบครั้งแรก

เมื่อปีที่แล้วตอนทดลองขึ้นรถไฟฟ้าสายใหม่ ผมสอบถามเส้นทางกับเจ้าหน้าที่ที่ขายตั่ว เขายังบอกผมด้วยว่า "คุณลุง อายุหกสิบแล้วได้ลดครึ่งราคานะครับ" ผมได้แต่ยิ้มเขิน ๆ กล่าวขอบคุณ แล้วบอกว่า "ไม่เป็นไรครับ" ในใจคิดว่ากลับบ้านเมื่อไหร่ ต้องส่องกระจกดูสภาพตัวเองซะแล้ว


หลังจากนั้นก็เริ่มรู้สึกว่ามีคนเรียกว่า "ลุง" บ่อยขึ้น นั่งแท็กซี่ก็โดนเรียกว่า "ป๋า" ครั้งหนึ่งเดินแถวมหาวิทยาลัยก็โดนเด็กเรียก "คุณตา" จนชักเริ่มชินยอมรับความแก่ และบทบาทใหม่


นึกถึงเรื่องไม่นานมานี้ เพิ่งได้คุยกับพี่สาวที่เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ของหกสิบครั้งแรก พลอยทำให้ผมรู้สึกสนุกไปด้วย เมื่อคิดว่าอีกไม่นานก็จะได้เจอบ้าง


"รู้มั๊ยตอนนี้ขึ้นรถเมล์ได้ลดราคาแล้ว"


"ฮะ ฮ่า ใช่ๆๆ ขึ้นรถไฟฟ้าก็ได้นั่งเก้าอี้คนแก่ริมประตูเลย" ผมช่วยเสริม


นี่ใกล้เวลาของตัวเองแล้วเหมือนกัน เมื่อผ่านเส้นมาตรฐานความแก่ จะได้ใช้สิทธิหลายอย่าง ช้าได้ เชยได้ อ่อนแอได้ ล้มได้ ถูกคาดหวังน้อยลง ที่สำคัญที่สุด ไว้วางใจโลกมากขึ้น 


ได้เข้าใจว่า โลกนี้ไม่มีใครสนใจเรื่องเกี่ยวกับตัวเรา มีแต่เราที่คิดไปเองว่า เดี๋ยวชาวบ้านเขาจะจุด จุด จุด เหมือนคุณที่อ่านมาถึงตรงนี้ ก็แค่รับรู้แล้วผ่านไป


ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสะสมผ่านเวลาที่ยาวนาน รู้สึกอีกทีก็พบว่าแตกต่างไปจากเดิมมากมายเพียงใด เมื่อได้มองย้อนกลับไปแล้วรู้ตัวว่าบางเรื่องเป็นประสบการณ์ส่วนตัวของคนที่เคยพบเจอจึงเข้าใจความสมเหตุผลของมัน


อ้างอิง

Cheque History - Modern Era


วิวัฒนาการระบบการชำระเงินไทย


ราคาทองในอดีต

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Yorumlar


Post: Blog2_Post
bottom of page