top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนSathit Jittanupat

AI and Accounting Pattern



"แก่ แพง เก่งกว่าหรือเปล่าไม่รู้"​


ในวงสนทนาของเราวันนี้ คุยกันถึงคุณค่าที่เปลี่ยนไปของคนทำงานอาวุโส แต่ยังวนเวียนอยู่กับงานรูทีน ประสบการณ์ยาวนาน 10 ปี อาจหมายถึงทำงานอย่างเดิมไม่เคยเปลี่ยน มิใช่ใช้เวลาเพื่อเรียนรู้หรือฝึกฝนทักษะใหม่ทุกปี


ช่วยไม่ได้ที่การทดลองใช้งาน AI ทำให้ผมและหลายคนอาจเริ่มคิดเหมือนกันถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทุกวันนี้ผู้นำหรือหัวหน้าที่เก่งทำหน้าที่ขับเคลื่อนทีมให้มีประสิทธิภาพ นอกจากวิชาความรู้ความชำนาญแล้ว ต้องใช้ทักษะในการบริหารจัดการสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายเรียกว่าคนอีกด้วย


จะเป็นอย่างไร ถ้ามีลูกทีมที่เรียนรู้ได้เร็ว ไม่หลงลืม ไม่ล้าหลุด ไม่บ่น ไม่ลาหยุด ฯลฯ ผมคิดไปถึงวันที่ AI พัฒนาไปจนระดับที่สอนให้ทำงานหรือตัดสินใจได้ใกล้เคียงมนุษย์ เมื่อนั้นรูปแบบการทำงานที่เคยต้องใช้คนประกอบกันเป็นทีมจะเปลี่ยนไปหรือไม่ ระหว่างหัวหน้าที่มีทักษะบริหารจัดการคนเก่ง กับทักษะสอน AI เก่ง ควรจะเลือกพัฒนาตนเองไปทางไหน แล้วพนักงานที่เคยทำงานรูทีนจะไปอยู่ตรงไหนของสมการ


งานบัญชีมีส่วนที่เป็นงานรูทีน ได้แก่กระบวนการบันทึกบัญชีที่ซ้ำๆ เหมือนเดิมทุกเดือน ทุกปี มีเพียงธุรกรรมพิเศษหรือผิดปกติบางกรณีเท่านั้น ที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจหลักปฏิบัติ และกลวิธีการลงบัญชีที่ซับซ้อน


ขณะที่อีกส่วนหนึ่งของงานบัญชีอาจเรียกว่าเป็นงานฝีมือ ที่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และเทคนิคของนักบัญชี ผมเปรียบเทียบเหมือนกับการทำศัลยกรรมงบการเงิน การเติมเต็มแก้ไขความไม่สมบูรณ์หรือผิดพลาดของธุรกรรมให้สามารถอธิบายหรือพิสูจน์ความถูกต้องได้สอดคล้องสมจริง


ผมลองคิดเล่นๆ ถึงกระบวนการบันทีกบัญชีที่ทุกวันนี้ทำโดยมนุษย์ สามารถเปลี่ยนเป็นอัตโนมัติได้หรือไม่ สมมติว่าเริ่มต้นจากจุดเดียวกัน สำนักงานบัญชีได้รับแฟ้มเอกสารมาเพื่อลงบัญชี ใบกำกับภาษีซื้อ, ขาย และอื่นๆ เอาไปสแกนเข้าคอมพิวเตอร์แทน


ใครเคยเห็นใบสั่งค่าปรับจากกล้องตรวจจับความเร็วบ้าง ตำรวจทางหลวงใช้เทคโนโลยี computer vision อ่านตัวอักษรในป้ายทะเบียนรถที่ปรากฏในภาพ ด้วยหลักการเดียวกัน การอ่านตัวอักษรที่อยู่ในใบกำกับภาษีก็สามารถทำได้ด้วย OCR (Optical Character Recognition) เช่นกัน เพียงแต่มีความซับซ้อนกว่า เพราะมีรายละเอียดมากกว่า แต่ก็มีโอกาสเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้


สมมติว่าเราใช้คอมพิวเตอร์อ่านข้อความจากภาพที่สแกนมาได้แทนดวงตาของมนุษย์ ขั้นตอนต่อไปเป็นกระบวนการเลือกเอาข้อความสำคัญมาอินพุทเป็นข้อมูลในระบบบัญชี ถ้าคุณเชื่อว่า AI สามารถเรียนรู้รูปแบบของฟอร์มบิลที่หลากหลาย แล้วเข้าใจความหมายว่า ข้อความส่วนไหนเป็น เลขที่, วันที่, เลขผู้เสียภาษี, ชื่อ,,​ จำนวนเงิน, มูลค่าภาษี ฯลฯ ก็ไม่ต้อง​ถามว่าทำได้อย่างไร เหลือแต่เพียงคำถามว่าทำได้เมื่อไหร่


ใช่ครับ เราอาจจะต้องติดค้างรออยู่ที่ขั้นตอนพัฒนานี้อีกสักพักใหญ่ เพื่อสะสมตัวอย่างของเอกสารรูปแบบต่างๆ ให้มากพอ กว่าจะใช้ได้จริง จนกระทั่ง AI สามารถแยกแยะได้แม่นยำ เมื่อนั้นก็เห็นประโยชน์ที่จะแบ่งเบางานสรุปภาษีซื้อ ภาษีขาย ที่ต้องนำส่งทุกเดือน


หากผ่านขั้นตอนนี้ไปได้ จะเห็นว่าข้อมูลสำคัญทางบัญชีถูกแปลงจากกระดาษมาเป็นดิจิตัลเพียงแค่สแกนเข้าไปโดยไม่ต้องอาศัยคนคีย์ข้อมูล ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับ special journal สมุดรายวันซื้อ, รายวันขาย (รายงานภาษีซื้อ, ภาษีขาย ก็เป็น journal อย่างหนึ่งเช่นกัน) ความท้าทายต่อไปอยู่ที่เราสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้มาลงบัญชีแยกประเภทได้หรือไม่


สมัยก่อนที่จะมีคอมพิวเตอร์ การบันทึกบัญชีเริ่มต้นจากสมุดรายวัน เสร็จแล้วจึงย่นย่อเอายอดสรุปของวันนั้นมาบันทึกลงแยกประเภท ปัจจุบันธุรกิจมีความซับซ้อน อาจแยกการขายเป็นรายได้หลายประเภท มีเงื่อนไขเงินสด, เครดิต แม้กระทั่งสิ่งที่เทียบเท่าการชำระด้วยเงินสดเอง ก็อาจไม่ใช่ธนบัตร แต่เป็นการโอนทางดิจิตัล หรือบัตรเครดิต ฯลฯ


ในความคิดของผม การสร้างรายการแยกประเภทอัตโนมัติอาจทำได้ไม่ถึง 100% ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของธุรกิจ แต่จะมีรายการจำนวนหนึ่งที่มีลักษณะซ้ำเดิม หรือเกิดขึ้นประจำ เช่น รายจ่ายค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา รวมถึงการซื้อขายสินค้าหรือบริการกับคู่ค้าประจำ สิ่งเหล่านี้ผมมองว่าสามารถเชื่อมโยงคุณสมบัติสำคัญของข้อมูล เพื่อให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้และลงบัญชีแยกประเภทได้ เช่น การรู้ว่าเป็นบิลที่ออกโดยใคร บิลของการไฟฟ้า ต้องลงบัญชีค่าไฟฟ้าเสมอ เป็นต้น หากคุณทำบัญชีอยู่แล้ว ลองประเมินงานดูว่ามีรายการที่สามารถลงบัญชีตาม accounting pattern แค่รู้ว่าเป็นบิลของใครอยู่มากน้อยเพียงใด เหล่านั้นคืองานที่จะใช้คอมพิวเตอร์เรียนรู้และทำแทนได้ในอนาคต


ประวัติการบันทึกแยกประเภทของรอบบัญชีเก่า จะกลายเป็นข้อมูลใน AI เรียนรู้ว่ารายการใดบ้างเป็น accounting pattern สามารถตัดสินใจลงบัญชีได้เลย แน่นอนว่าอาจมีบางรายการที่ไม่ชัดเจน สิ่งเหล่านั้นนักบัญชีตรวจสอบได้จากค่า accuracy rate ที่ AI ให้มาเหมือนกับการที่คอมพิวเตอร์วิเคราะห์ภาพ ๆ หนึ่งแล้วให้คำตอบว่า น่าจะเป็นรูปของแมวกี่เปอร์เซนต์


ผมไม่รู้ว่าเรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นหรือไม่ และถ้าเกิดขึ้นจะเป็นเมื่อไหร่ แต่เชื่อว่ามีคนอื่นในโลกที่คิดเห็นทำนองนี้ และอาจลงมือทำไปแล้วก็ได้ อาจจะเป็นสักวันหนึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมของเงื่อนไขต่างๆ


OCR กับงานบัญชี


AI for Document Analysis








ดู 4 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page