top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนSathit Jittanupat

15 years from now

อัปเดตเมื่อ 15 เม.ย. 2565

เด็กที่เกิดในปีพ.ศ. 2550 เพิ่งย่าง 15 ปี กำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยม อีก 15 ปีข้างหน้าจะมีอายุ 30 ปี ขณะนี้กำลังเรียนวิชาอะไรกันอยู่ และความรู้เหล่านั้นเป็นสิ่งจำเป็นในอีก 15 ปีข้างหน้าหรือไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่งเมื่อเขาอายุ 30 ปี จะมีอาชีพอะไร ธุรกิจแบบไหน งานที่ใช้ความรู้ด้านใดเหลืออยู่บ้าง


ระยะเวลา 15 ปีดูเหมือนไม่นาน แต่หากมองย้อนกลับไป เด็กปีพ.ศ.2550 เกิดพร้อมกับ iPhone รุ่นแรก ผ่านมาถึงรุ่นล่าสุดปีนี้ เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงมากมายเพียงใด สิ่งที่เคยใช้เมื่อ 15 ปีที่แล้วเด็กรุ่นนี้แทบไม่เคยเห็น เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องแฟกซ์ เพจเจอร์ ตู้โทรศัพท์สาธารณะ กล้องถ่ายรูปดิจิตัล เครื่องเล่นเทป ม้วนวิดีโอ แผ่นซีดีและดีวีดี แม้กระทั่ง iPhone รุ่นแรก



สำหรับคนอายุ 30 ปีขึ้นไป เมื่อก่อนทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงช้า ๆ เราดูทีวี 5 ช่องที่มีเสาอากาศรับสัญญาณ ทุกบ้านรอดูละครเรื่องเดียวกัน เห็นโฆษณาเหมือนกัน ผ่านเวลา 15 ปีจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ วิถีชีวิตดำเนินไปคล้ายกับคนรุ่นก่อน จึงวางแผนหรือปรึกษาผู้อาวุโสกว่าได้ว่าโตมาอยากมีอาชีพอะไร ควรเลือกเรียนด้านไหน


ต้นปี 2022 มีข่าวเกี่ยวกับ Yum China ขยายสาขาร้าน KFC และร้านอาหารในเครือเพิ่มอีก 4 พันกว่าสาขาภายใน 5 ปี โดยไม่ต้องจ้างพนักงานเพิ่มอีกแล้ว


อีก 15 ปี จะมีอะไรเกิดขึ้นและสูญหายไปบ้าง


ถึงตอนนั้นยังมีพนักงานบัญชีอยู่อีกไหม หากใช้ E-Tax Invoice และ E-Receipt ส่งข้อมูลซื้อขายถึงกันโดยไม่ต้องใช้กระดาษ


ถึงตอนนั้นยังมีสาขาธนาคาร มีพนักงานคีย์รายการรับฝากถอนอยู่อีกไหม หากใช้โทรศัพท์มือถือสั่งโอนเงินด้วยตัวเองแล้ว


ถึงตอนนั้นยังมีปั๊มน้ำมันและอู่ซ่อมอยู่อีกไหม หากมีรถไฟฟ้าไม่ใช้น้ำมัน และชิ้นส่วนที่ถอดเปลี่ยนได้เพียง 18 ชิ้น


ถึงตอนนั้นยังมีรถแท๊กซี่ที่ต้องใช้คนขับอยู่อีกไหม หากมีรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ


Source: Tony Seba — Clean Disruption of Energy and Transportation — CWA — Boulder, April 9, 2018

Resource sharing, pay per work

ในโลกของ Cloud มีเงื่อนไขการคิดค่าบริการเช่า server อย่างหนึ่งที่เรียกว่า “pay as you go” จ่ายตามปริมาณที่ใช้ แทนที่จะเช่าเหมาหรือตั้ง server เอง สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้น มีปริมาณงานไม่มาก เป็นการแชร์ server กับผู้เช่ารายอื่น ยกตัวอย่าง Google Cloud จะมีกลไกการวัดค่าการใช้งานในมิติต่างๆ อย่างละเอียด สามารถแจกแจงให้ตรวจสอบได้ชัดเจน



การที่จะทำเช่นนี้ได้ ผู้ให้บริการจะต้องออกแบบและสร้างกลไกการวัดค่าต่างๆ ขึ้นมา เมื่อวัดค่าได้ ทำให้รู้ว่าเมื่อใดใช้งานน้อย เมื่อใดใช้งานมาก สามารถปรับขนาดรองรับปริมาณงานสูงที่อาจเกิดขึ้นเป็นแบบฉับพลันเป็นครั้งคราวได้ดีกว่า ขณะที่การเช่าเหมาต้องเผื่อขนาดของ server ไว้รองรับปริมาณใช้งานสูงสุดตั้งแต่ต้น มิฉะนั้นก็จะเกิดภาวะ overload จนไม่สามารถทำงานได้


หากเทียบกับงานในภาคธุรกิจ คล้ายกับจังหวะที่มีการจัดโปรโมชั่น ที่ทำให้เกิดยอดขายเพิ่มขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ งานที่เพิ่มขึ้นทั้งรับออเดอร์ จัดสินค้า แพคสินค้า ส่งสินค้า จะประดังกันมาในช่วงเวลานั้น การจ้างพนักงานประจำเผื่อไว้ก็อาจเป็นวิธีที่ไม่คุ้มค่า การหาพนักงานชั่วคราวมาเพิ่มตามปริมาณงานน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า แต่เราจะหาพนักงานที่ใช้เฉพาะในเวลาที่เราต้องการได้จากไหน


คำถามแรกที่ชวนให้คิดคือ หากองค์กรมีกลไกที่วัดการทำงานของพนักงานในมิติต่างๆ ได้ จนสามารถคำนวณค่าจ้างตามอัตราที่วัดค่านั้น จะทำให้วิธีการจ้างงานเปลี่ยนไปหรือไม่ แทนที่จะจ้างเหมาตามมิติเดิมๆ เป็นเงินเดือน เป็นรายวัน เปลี่ยนเป็นจ่ายตามค่าการทำงานที่พนักงานคนนั้นทำให้


คีย์สำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่การวัดค่า ซึ่งก็จะต้องมาจากการมอนิเตอร์การทำงานแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่สามารถใช้มนุษย์มาประเมินกดให้คะแนน แต่จะต้องเป็นระบบอัตโนมัติ ดังนั้นงานที่เก็บประวัติการทำงานเพื่อวัดค่าได้ง่ายที่สุดก็จะเป็นงานที่มีปฏิสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์นั่นเอง


ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดตามมา เริ่มตั้งแต่ไม่จำเป็นต้องมีเวลาทำงานที่ตายตัว ไม่ต้องวัดคุณภาพพนักงานด้วยสถิติ ขาด ลา สาย ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ สามารถออนไลน์ทำงานที่ไหนก็ได้ เรารู้จากประวัติการล็อกอินเข้ามาทำงาน ไม่ต้องมีหัวหน้า หรือ ผู้จัดการ มาประเมินผลงาน ประวัติการทำงานที่มอนิเตอร์เก็บไว้สามารถนำมาวิเคราะห์พัฒนาการของแต่ละคนได้


ณ เวลาหนึ่งในอนาคต เมื่อองค์กรต่างๆ เปลี่ยนการจ้างเป็นแบบใหม่มากขึ้น พนักงานของคุณจะไม่เป็นพนักงานของคุณอีกต่อไป พวกเขามีอิสระที่จะทำงานได้มากกว่าหนึ่งแห่ง คุณอาจมีรายชื่อคนพร้อมทำงานมากพอ สำหรับทำโปรโมชั่นได้ทุกเวลา โดยไม่ต้องจ้างเตรียมไว้ล่วงหน้า



Profit sharing, risk and reward

งานบางอย่างที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ ไม่สามารถหาคนมาทดแทนได้ง่าย ความแตกต่างระหว่างการเลือกใช้คนเก่งกับคนไม่เก่ง อาจมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานขององค์กรที่จะเติบโต เช่น งานสมุหบัญชี, พนักงานบัญชีอาวุโส หรือแม้แต่พนักงานขายอาวุโส หากองค์กรยังเล็กอยู่ย่อมมีข้อจำกัดที่จะจ้างคนเก่งให้มาทำงานเต็มเวลา กลายเป็นความไม่คุ้มทั้งสองฝ่าย เงื่อนไขให้อิสระแบบ pay per work อาจตรงกับจริตและขีดความสามารถของคนเก่งเหล่านั้นมากกว่า


ในแวดวงโปรแกรมเมอร์ เรามีกลไกคล้ายๆ อย่างนี้ซ้อนนานแล้วเป็นที่รู้กัน คนเก่งจะรับงานนอกในช่วงเวลาที่ว่าง ระหว่างสแตนด์บายว่างจากงานประจำ ดังนั้นการใช้คนเก่ง อาจไม่ใช่เรื่องของการครอบครองไว้ใช้งาน แต่ยอมรับว่าธรรมชาติคนเก่งไม่ได้ทำงานที่เดียว และหาวิธีว่าเมื่อเรามีงาน ทำอย่างไรจึงจูงใจคนเก่งอยากทุ่มเททำงานให้เรามากกว่าที่อื่น


วิธีหนึ่งที่น่าสนใจคือ “ท้าเดิมพัน” กับคนเก่งด้วยผลลัพธ์ในอนาคต หากองค์กรเติบโตขึ้นโดยที่เขาเป็นส่วนหนึ่งในนั้น เราสามารถท้าทายด้วย “ส่วนได้ส่วนเสีย” ที่ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานในอนาคต


Where will you be ?

ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก่อนกัน ระหว่าง องค์กรที่อยากจ้างงานแบบ pay per work กับ คนรุ่นใหม่ที่อยากรับงานแบบ pay per work หากคุณคิดว่าเรื่องเล่านี้มีโอกาสเป็นไปได้ เมื่อถึงเวลานั้นคุณจะทำอะไรและพาตัวเองไปอยู่ตรงไหน จะเป็นคนที่ทำงานได้หลากหลายจนสามารถเลือกงานได้ หรือ เป็นคนเก่งจริงด้านใดด้านหนึ่งจนสามารถเลือกรับงานได้เช่นกัน


คุณได้เห็นตัวอย่าง platform food delivery ที่จ่ายส่วนแบ่งตามงานที่เกิดขึ้นให้กับผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ ร้านอาหาร, ไรเดอร์หรือพนักงานส่ง มาแล้ว องค์กรบางแห่งเริ่มตัดงานส่งสินค้าให้กับผู้ให้บริการ logistic ภายนอก ที่คิดค่าบริการตามปริมาณงานแล้ว ในวันนี้เรายังไม่เห็นระบบที่ทำอย่างนั้นได้ในระดับงานออฟฟิศ แต่ขีดความสามารถเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถทำได้เช่นกัน เพียงแต่รอเงื่อนไขที่เหมาะสมเท่านั้น อาจจะเป็นเวลาใดเวลาหนึ่งใน 15 ปีจากนี้


Sathit J.

2022–02–24 (edited 2022–04–14)

ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page